วันนี้ (11 ตุลาคม 2022) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังคงเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G-7) ที่ยังคงมีความล้าหลังสำหรับเรื่องสิทธิความเท่าเทียมและการยอมรับความหลากหลาย 

การจดทะเบียนดังกล่าวเปิดให้คู่รักเพศเดียวกันอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและยังไม่ได้แต่งงาน สามารถจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ โดยคนใดคนหนึ่งจะต้องมีภูมิลำเนาหรือศึกษาอยู่ในโตเกียว พร้อมทั้งเปิดทางให้ชาวต่างชาติที่เป็นคู่ชีวิตกับชาวญี่ปุ่น สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการใช้ชีวิตในกรุงโตเกียว เช่น ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยและการขนส่ง โดยจะเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป แต่การจดทะเบียนดังกล่าวยังไม่ได้ครอบคลุมถึงการแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน 

ทางด้าน โซชิ มัตสึโอกะ (Soshi Matsuoka) จากองค์กรเพื่อสิทธิ LGBT ในโตเกียวกล่าวว่า ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศญี่ปุ่นที่หันมาสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปในทางบวก เนื่องจากมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงโตเกียวที่พบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วย และสนับสนุนให้สามารถจดทะเบียนแต่งงานได้ในอนาคต

“แม้ว่าการให้ไฟเขียวของกฎหมายคู่ชีวิตในโตเกียวเป็นไปในเชิงบวก มีผู้คนมากมายสนับสนุนแนวความคิดดังกล่าว ซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญ แต่การเป็นคู่ชีวิตยังไม่เพียงพอ โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องการการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย”

ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมเอกชนประเทศญี่ปุ่นได้ส่งคำเตือนไปถึงนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ผู้ซึ่งเคยเรียกร้องให้ทางการโตเกียวระมัดระวังในการเปลี่ยนเรื่องกฎหมายคู่ชีวิตและการแต่งงาน โดยสภาอุตสาหกรรมให้ความเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่กลุ่มประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดน้อยลง การมองข้ามเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิในการแต่งงานอาจทำให้ประชากรโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นเดินทางไปทำงานในต่างประเทศที่มีการรองรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ฮิโรชิ อิเคดะ (Hiroshi Ikeda) นักรณรงค์จากเครือข่าย Marriage For All Japan กล่าวว่า การผลักดันกฎหมายเรื่องความหลากหลายทางเพศและการแต่งงาน เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ทำให้รัฐบาลกลางของประเทศญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาให้เท่าเทียมนานาประเทศ ขณะเดียวกัน การเริ่มต้นที่โตเกียวก็เป็นหมุดหมายอันดี เนื่องจากประชากรในกรุงโตเกียวมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น การผลักดันและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของ LGBTQ+ ในโตเกียวเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบถึงรัฐบาลกลางของประเทศมากขึ้น

“ปัญหาที่คู่รักเพศเดียวกันมักเจอคือ การถูกกีดกันจากการตัดสินใจทางการแพทย์ ความยากลำบากในการเช่าที่พัก และการขาดสิทธิในการรับมรดก ในท้ายที่สุดมีหลายสิ่งที่เรายังคงไม่สามารถทำได้ เว้นแต่รัฐบาลกลางจะเปลี่ยนกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและการแต่งงานโดยสิ้นเชิง”

แม้ว่าทัศนคติของชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไปที่มีต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศและการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจะไปในทิศทางบวกมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีนักการเมืองจากฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงแสดงความเกลียดชังอย่างชัดเจนต่อแนวคิดนี้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ไมนิจิชิมบุน (The Mainichi Newspapers) และสื่อชั้นนำต่างประเทศ รายงานถึงกรณีที่ โนโบรุ วาตานาเบะ (Noboru Watanabe) สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในจังหวัดไอจิ ถูกบังคับให้ต้องขอโทษ หลังจากโพสต์ความคิดเห็นลงในสื่อออนไลน์ ระบุว่าการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ และถึงขั้น ‘น่ารังเกียจ’

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายนผ่านมา ยังมีกรณีของคู่สมรสเพศเดียวกัน ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็นพลเมืองญี่ปุ่นแต่ไปแต่งงานในสหรัฐอเมริกา และได้รับสัญชาติอเมริกันเป็นที่เรียบร้อย เดินทางกลับมาใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น แต่กลับพบว่าโดนปฏิเสธสิทธิการอยู่อาศัยและการอยู่ร่วมกัน โดยอ้างว่าประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีข้อกฎหมายมารองรับสิทธิดังกล่าวนี้

ที่มา:

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-10-11/tokyo-opens-same-sex-partnership-system-for-applications?srnd=premium-asia&leadSource=uverify%20wall#xj4y7vzkg

https://www.lemonde.fr/en/international/article/2022/10/10/tokyo-adopts-partnership-status-for-same-sex-couples_5999853_4.html

Tags: , , , , ,