“ในช่วง 3 ปีที่ทำงานข้องเกี่ยวอยู่กับวรรณกรรมไทย เรามักจะได้ยินคำพูดผ่านหูทำนองว่า ‘วรรณกรรมไทยมันยังไม่ถึง’ ‘วรรณกรรมไทยสู้ที่อื่นไม่ได้’ ไอ้คำว่า ‘ที่อื่น’ ที่ใช้เป็นจุดอ้างอิงของความ ‘ถึง’ ไม่เคยเป็น ‘ดินแดน’ ที่อยู่ในระยะเดินเท้าข้ามชายแดนก็เจอเลย เพราะคำนี้มักหมายถึงพื้นที่แดนไกลที่ต้องโดยสารด้วยเครื่องบินยาวนานเป็นวันหรือข้ามวัน

“แต่หากจะพูดกันเรื่องความถึง-ไม่ถึง โดยไม่คิดสร้างพื้นที่ให้คนทำงานสามารถแสดงศักยภาพที่แท้จริง แล้วเราจะตัดสินกันได้ง่ายๆ ว่าใครมีหรือไม่มีความสามารถแค่ไหน? เราจะคุยกันถึงคุณภาพได้อย่างเต็มปากหรือ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล อัจฉริยะคนไหนก็ไม่ได้เก่งขึ้นมาเพราะตัวเองเพียงลำพัง”

 

 

ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์จาก จุฑา สุวรรณมงคล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ ซอย | Soi ในงานเปิดตัวหนังสือนวนิยายเรื่อง ‘จุติ’ ของ อุทิศ เหมะมูล ฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ ‘The Fabulist’ แปลโดย ปาลิน อังศุสิงห์ และพลอย กิ่งชัชวาลย์ โดยสำนักพิมพ์ Penguin Random House SEA เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่างฉายให้เห็นภาพวงการหนังสือไทย โดยเฉพาะแวดวงวรรณกรรมได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ให้คนสร้างสรรค์งาน การสนับสนุน ข้อจำกัดในด้านต่างๆ ท่ามกลางตลาดที่คับแคบ รวมไปถึงการบอกเล่าแลกเปลี่ยนปัญหา และกระบวนการทำงานของหนังสือเล่มนี้ 

จะทำอย่างไรให้วรรณกรรมไทยโกอินเตอร์? – ฉันเชื่อว่าคงเป็นหนึ่งในคำถามหลักของคนในแวดวงวรรณกรรม และแน่นอนว่า ‘การแปล’ ก็เป็นหนึ่งในคำตอบยอดฮิตเช่นกัน

เพราะการแปลเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ใช้เวลา และทรัพยากร นอกจากนี้ การคงน้ำเสียง บรรยากาศ วัฒนธรรมต้นฉบับไว้ ขณะที่ต้องทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจบริบทของเนื้อหาก็ดูจะเป็นเรื่องที่ละเอียดละออและต้องใช้ความเข้าใจมาก 

 

 

“ก่อนหน้าที่จะวิ่งขึ้นรถ คือบทสนทนากับนักเขียนสองคน หนึ่งในนั้นกำลังจะได้ตีพิมพ์ผลงานในภาษาอังกฤษ และผู้จัดพิมพ์ขอให้นักเขียนเปลี่ยนไปใช้ชื่อจริงภาษาไทยบนปกหนังสือ แทนนามปากกาภาษาอังกฤษที่เธอใช้มาตลอด เหตุผลก็คือ ชื่อเดิมนั้น ฟังดูไม่ Southeast Asian มากพอ

“ตกลงแล้ว Southeast Asia คืออะไร? มันไม่ใช่ภูมิภาคที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาเหมือนกันหรอกหรือ?” บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ ซอย | Soi ถาม

สุนทรพจน์ท่อนนี้ช่วยขยายภาพความย้อนแย้ง ในข้อจำกัดของวรรณกรรมไทยที่ต้องการโกอินเตอร์ได้เป็นอย่างดี นั่นหมายความว่า คุณต้องคงเสน่ห์ของวัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่นที่แฝงอยู่ต้นเรื่อง ขณะที่คุณก็ต้อง ‘สากล’ ให้มากพอ

เหล่านี้คือสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากการฟังผ่านงานเปิดตัวหนังสือ The Fabulist  ขณะที่ถูกจุดติดด้วยสุนทรพจน์ของบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ ซอย | Soi ไปพร้อมกัน

 

 

ในงานคับคั่งไปด้วยผู้คนมากมายตามความคาดหมาย บรรยากาศอบอุ่นเชิงฉันเพื่อน ที่ฉันรู้สึกว่า นอกจากมิตรสหายจะเดินทางมาแสดงความยินดีกับการตีพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษแล้ว งานดังกล่าวยังช่วยจุดความหวัง สร้างความฝันให้คนในวงการไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ฉัน’ 

ชื่อหนังสือภาษาอังกฤษคือ The Fabulist ส่วนภาษาไทยคือ จุติ คำกริยาที่แปลว่า การเกิดใหม่ ตาย หรือเปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง งานเปิดตัวหนังสือ The Fabulist ของ อุทิศ เหมะมูล จึงเป็นทั้งการเกิดใหม่ (แต่ฆ่าไม่ตาย) แปรสภาพไปสู่ภาษาอื่น และแน่นอนว่าเป็นความสำเร็จในแวดวงวรรณกรรม สำนักพิมพ์ และเอเจนซีซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือในประเทศไทย 

ภายหลังการถูกปลุกไฟในตัวผ่านสุนทรพจน์ บทสนทนาบนเวทีต่อด้วยการพูดถึงกระบวนการจุติหนังสือเล่มนี้ในฉบับภาษาอังกฤษว่า มีกระบวนการและความยากง่ายอย่างไร ซึ่ง The Fabulist ที่เห็น ณ วันนี้ กินระยะเวลาการทำงานไม่ต่ำกว่า 3 ปี 

 

 

อีกสิ่งที่ฉันชอบภายในงาน คือการให้พื้นที่นักแปลเท่าเทียมกับนักเขียน ที่ช่วยขยับภาพจำที่มักมอบพื้นที่ให้แค่นักเขียนเพียงเท่านั้น ในขณะที่ทิ้งคนเบื้องหลังให้เป็นเพียงฉากประกอบความสำเร็จ ไปพร้อมกับการฉายภาพความดิ้นรน การสร้างฐาน การแหวกว่ายในสนามที่ไม่เคยมีใครสอนวิธีมาก่อน และการเดินทางที่ได้รับมาจากใบเบิกทางจากคนรุ่นก่อน อย่างที่สำนักพิมพ์ ซอย | Soi กล่าวว่า “Learn it the hard way” 

ภายหลังจบงาน นอกจากความรู้สึกยินดีอย่างยิ่งต่ออุทิศและทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตหนังสือเล่มนี้แล้ว ฉันยังจุติขึ้นใหม่อีกครั้งจากความฝันที่เคยอยากแหวกว่ายในแวดวงวรรณกรรมไทยหรือไปไกลถึงระดับโลก ฉันสามารถกลับมาฝันถึงมันได้อีกครา ในขณะที่ก็ตระหนักรู้อยู่เต็มอกว่า ตลาดที่มีกลไกลคับแคบ เงื่อนไขที่ไม่เปิดกว้าง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายวัฒนธรรม การสนับสนุน และการส่งเสริมการผลิตจากภาครัฐคือ ‘สิ่งสำคัญ’

เพราะไม่มีใครเติบโตหรืออัจฉริยะเพียงตัวคนเดียวได้ หรืออย่างน้อยที่สุดขอให้เปิดกว้าง ไม่ใช่คอยปิด ควบคุม สั่งห้าม และทุกคนควรมีพื้นที่หยัดยืนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน 

และไม่ว่าจะเงื่อนไขอันใด งานเปิดตัวหนังสือ The Fabulist ก็ทำให้ฉันอยากจะลองกระโจนไปท้าชนมันดูสักครั้ง

Tags: , , , , ,