เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม 2023) สำนักข่าวพนมเปญโพสต์ (Phnom Penh Post) รายงานถึงสาเหตุการพบปะระหว่าง ฮุน เซน (Hun Sen) กับทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังปรากฏภาพของสองอดีตนายกรัฐมนตรีไทยสองพี่น้องร่วมฉลองวันเกิดผู้นำกัมพูชาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ตามการแถลงของพาย สีพัน (Phay Siphan) โฆษกรัฐบาลกัมพูชา การพบปะระหว่างทั้งสามคนเป็นเรื่องราวส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองไทย และฮุน เซน ก็ชี้แจงสถานการณ์ดังกล่าวต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ฮุน เซน อธิบายไปยังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยเรียบร้อยแล้ว เขาขอให้ทางการไทยเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกัมพูชากับทักษิณและยิ่งลักษณ์ พวกเขาประกาศความสัมพันธ์เสมือน ‘พี่น้องร่วมสาบาน’ แล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลยแม้แต่น้อย” พาย สีพัน กล่าว
ขณะเดียวกัน คิน เพีย (Kin Phea) ผู้อำนวยการประจำสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งกัมพูชา แสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การพบปะครั้งนี้เป็นเรื่องส่วนตัวตัวล้วนๆ
“หากเราพูดถึงสายสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างฮุน เซน กับตระกูลชินวัตร ความสัมพันธ์ของสองครอบครัวเปรียบดังพี่น้อง ทุกอย่างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1992 ก่อนที่ทักษิณจะเป็นนายกรัฐมนตรี
“เราไม่เห็นวี่แววความสัมพันธ์ที่ลดน้อยถอยลงระหว่างสองผู้นำเลย และมันก็ยังคงเป็นเช่นเดิม แม้ว่าตระกูลชินวัตรจะต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางการเมือง แต่ฮุน เซน ไม่เคยปล่อยให้เรื่องนั้นมากระทบความสัมพันธ์” เพียกล่าว และแสดงความคิดเห็นว่า ฮุน เซนจะไม่ยื่นจมูกเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทยเด็ดขาด
เขายังเสริมว่า ผู้นำกัมพูชาให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาเป็นอันดับแรก เขาจะไม่เลือกปฏิบัติต่อพรรคไหนที่ได้เป็นรัฐบาล ตราบใดที่ทั้งสองประเทศทำตามเงื่อนไขสำคัญ คือการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมถึงการบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เพียไม่ปฏิเสธต่อความเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ครั้งนี้และการจัดตั้งรัฐบาลในประเทศไทยว่า หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลและมีผู้แทนได้รับเลือกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาจะมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเด็นทางการค้าและการลงทุน
ย้อนดูความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทักษิณ-ฮุนเซน: พี่น้องร่วมสาบานข้ามพรมแดน
ตามการรายงานของสื่อต่างชาติหลายสำนัก ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุน เซน เริ่มขึ้นในปี 1992 แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีไทยจะยังไม่เข้าสู่แวดวงทางการเมืองก็ตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองยังแน่นแฟ้นในฐานะนักธุรกิจ แม้ว่าทักษิณจะต้องลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารในไทยปี 2006 แต่นายกรัฐมนตรีกัมพูชายังเคยเอ่ยปากว่า เขาเข้ากันได้ดีกับทักษิณผ่านธุรกิจโทรคมนาคม
อย่างไรก็ตาม ในปี 2009 ทักษิณมีบทบาทสำคัญในการเมืองกัมพูชา เขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งรัฐบาล และที่ปรึกษาส่วนตัวของฮุน เซน
ทว่าเรื่องราวดังกล่าวก็นำไปสู่ความขัดแย้งของรัฐบาลทั้งสองประเทศ เมื่อทางการกัมพูชาปฏิเสธคำขอของพรรคประชาธิปัตย์ถึงการส่งตัวทักษิณในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศไทยในปีเดียวกัน
“การประณามใส่ร้ายทักษิณ ชินวัตร เป็นผลพวงจากการรัฐประหารในปี 2006 ซึ่งทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ว่าเขาจะได้รับเสียงอย่างท่วมท้น และมาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก็ตาม” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากรัฐบาลกัมพูชา และอ้างว่า ไทยและกัมพูชาไม่มีสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนร่วมกัน
“รัฐบาลของผมต้องการให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่จุดยืนทางการเมืองของกัมพูชาไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และขัดต่อหลักการระหว่างประเทศ” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ประณามรัฐบาลกัมพูชา หลังถูกปฏิเสธคำขอในปีเดียวกัน
ฮุน เซนยังได้อนุญาตให้ทักษิณใช้พื้นที่ในกัมพูชาทำกิจกรรมทางการเมืองในปี 2009 และ 2012 เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ข้ามพรมแดนในอรัญประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองเป็นอย่างดี
ในช่วงเวลาเดียวกัน ไทยและกัมพูชาก็มีปัญหาสืบเนื่องจากข้อพิพาททางด้านดินแดนอย่าง ‘เขาพระวิหาร’ และพื้นที่อ่าวไทย เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับฮุน เซน จึงโหมกระหน่ำกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะการโจมตีของพรรคประชาธิปัตย์ที่กลับมาเป็นฝ่ายค้าน หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2011
“ผมก็แค่อยากปกป้องกัมพูชา รวมถึงคนดีๆ ในประเทศ
“คุณูปการที่ผมได้รับจากอดีตนายกทักษิณ และรัฐบาลปัจจุบัน คือความสงบและการพัฒนาบริเวณชายแดน (…) ถ้าคุณอภิสิทธิ์และพรรคของเขาทราบว่า มีผลประโยชน์อะไรซ่อนเร้นจริง กรุณาเปิดเผยด้วย” ฮุน เซนกล่าวสนับสนุนความสัมพันธ์ของเขากับทักษิณในปี 2013 หลังอภิสิทธิ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการเข้มงวดกับกัมพูชาในประเด็นเขาพระวิหาร เมื่อมีการไต่สวนของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)
อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 เมื่อประเทศไทยเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ฮุน เซน จึงพลิกท่าที และรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยผ่านรัฐบาลเผด็จการที่นำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ในเวลานั้น เตีย บัญ (Tea Banh) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมกัมพูชาให้คำมั่นกับรัฐบาลทหารไทยว่า กัมพูชาจะไม่อนุญาตให้ใครก็ตามใช้พื้นที่ในประเทศ เพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านไทยเด็ดขาด รวมถึงเกิดข้อตกลงการแลกเปลี่ยนผู้ลี้ภัยและบุคคลข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย หลังนักกิจกรรมของสองประเทศนิยมใช้ประเทศเพื่อนบ้านลี้ภัยทางการเมือง
“ผมอยากเน้นย้ำว่า กัมพูชาไม่ใช่สถานที่สำหรับประเทศใดหรือกลุ่มการเมืองใดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น รัฐธรรมนูญของกัมพูชาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติใช้ดินแดนของเรา” ฮุน เซนกล่าวในปี 2014 หลังการรัฐประหารของ คสช. ไม่กี่วัน
ความสัมพันธ์ระหว่างประยุทธ์และฮุน เซน ถูกจับตามองอีกครั้ง เมื่อปรากฏภาพทั้งสองกอดกันอย่างรักใคร่กลมเกลียวในปี 2017 อีกทั้งทางการกัมพูชายังแต่งเพลงให้ไทยอีก 4 เพลง โดย ดอน ปรมัตวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายว่า บรรยากาศการพบปะเป็นไปอย่างชื่นมื่น
แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้แปรเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณและฮุนเซนอย่างใด พวกเขายังคงมีความสัมพันธ์อันดีมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่กัมพูชาก็เป็นมิตรกับรัฐบาลทหารไทยในเวลาเดียวกัน
อ้างอิง
https://www.reuters.com/article/idINIndia-43353220091022
https://english.cambodiadaily.com/news/hun-sen-lauds-relationship-with-thaksin-yingluck-8191/
https://www.eastasiaforum.org/2018/05/11/thai-cambodian-fugitive-deal-wont-mend-relations/
https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/412065/hun-sen-no-exile-regime-allowed
https://www.phnompenhpost.com/national/extradition-thaksin-shot-down
https://www.phnompenhpost.com/national/thai-cambodian-relations-unaffected-thaksins-visit
https://www.bbc.com/thai/thailand-41197609