วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) ที่รัฐสภา ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในวาระหารือ ในที่ประชุมวุฒิสภา ระบุว่าการที่ประเทศไทยได้คะแนน ลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ และต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยคือ 43 คะแนน ทั้งนี้อันดับที่ตกต่ำ อาจทำให้โอกาสทำธุรกิจกับต่างประเทศมีปัญหา

ปานเทพยังระบุด้วยว่า คะแนนและอันดับของประเทศไทย ยังห่างจากแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดให้ดัชนีการรับรู้ อยู่ที่ 1-20 และได้คะแนน 73 คะแนน ในปี 2580 ส่วนแหล่งข้อมูลที่รับรู้ บอกว่ามี 4 แหล่งข้อมูล คือ World Competitiveness Rankings จากสถาบัน IMD Business School สถาบัน PERC (Political and Economic Risk Consultancy Asia Risk Guide) WEF (World Economic Forum) และ WJP (World Justice Project) โดยแหล่งข้อมูลดังกล่าวต่างก็ระบุว่าประเทศไทยมีปัญหาการทุจริต การรับสินบน การจ่ายเงินพิเศษในการส่งสินค้าออกและนำเข้า การชำระภาษี การอนุมัติเรื่องต่างๆ การทำสัญญาสัมปทานอย่างไม่ถูกต้องในการเอื้อประโยชน์

กลุ่มที่สอง มี 4 แหล่งข้อมูล ที่ระบุว่าไทยได้คะแนนเท่าเดิม ซึ่งแปลว่า ไทยยังมีความเสี่ยงมาก ด้านการเรียกรับสินบนในระบบการเมือง ความไม่โปร่งใสในการอนุมัติสัมปทาน ความไม่โปร่งใสในการจ่ายงบประมาณ และการใช้อิทธิพลในการแต่งตั้งข้าราชการ

และกลุ่มที่สาม มีกลุ่มเดียว ที่ระบุว่าไทยมีคะแนนดีขึ้น คือกลุ่ม Varieties of Democracy Project ทั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมไทยยังคงมีปัญหาทุจริตจริงจัง ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติแนะว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องการทุจริต การตรวจสอบความโปร่งใส การตรวจสอบงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และช่องว่างทางกฎหมายเพื่อให้นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็ว และเสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

ภาพ: รัฐสภา

Tags: , , , ,