ณ ปัจจุบัน คงไม่มีเรื่องไหนจะร้อนแรงไปกว่า คดีความของ ดิไอคอนกรุ๊ป (THE iCON GROUP) ธุรกิจเครือข่ายที่ สังคมต่างให้ความสนใจ ตามการรายงานของตำรวจสอบสวนกลาง (CIM) เช้าวันนี้ (15 ตุลาคม 2567) พบว่า จากคดีความที่เกิดขึ้นมีผู้เสียหายรวมแล้วกว่า 1,000 ราย โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 380 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 มีการตั้งข้อพิรุธการจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การระบุวัตถุประสงค์ว่า ‘การขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต’ แต่กลับดำเนินการเป็นธุรกิจขายตรง จึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อตรวจสอบ ทว่ากลับไม่พบความคืบหน้าในคำร้องดังกล่าว

อีกทั้งเมื่อ ‘สาว’ ให้ลึก เรื่องกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ‘ดิไอคอน’ เคยได้รับมอบโล่จาก สคบ. ซึ่งเป็นเหตุให้ดารา-นักแสดงบางคนตัดสินใจรับเป็นพรีเซนเตอร์ และเมื่อเวลาผ่านไป ยังมีข้อมูลหลุดออกมาอีกว่า ผู้บริหารของดิไอคอนสนิทสนมเป็นพิเศษกับผู้บริหารของ สคบ. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องแชร์ลูกโซ่โดยตรง ขณะเดียวกันยังมีคลิปเสียงที่พบว่า ผู้บริหาร สคบ.บางคนเป็นเด็กฝากของนักการเมือง และอาจดูแลเรื่อง ‘ดิไอคอน’ ให้เป็นพิเศษ รวมถึงคลิปเสียงว่าด้วยการติดสินบนให้กับ ‘เทวดา สคบ.’

คำถามก็คือ ทำไมเรื่องภายใน สคบ.ถึง ‘เละ’ เพียงนี้ แล้วถึงเวลาจริงๆ หน้าที่ในการกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ.นั้น จะทำได้จริงหรือไม่ หากโครงสร้างยังเป็นเช่นนี้

The Momentum ชวน บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค สะท้อนประเด็นดังกล่าว 

บุญยืนเริ่มเล่าว่า ปัจจุบันหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์ของประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน เปรียบเสมือนเป็น ‘แพทย์เฉพาะทาง’ ที่ดูแลในส่วนของตนเองเท่านั้น เช่น เรื่องอาหารและยาเป็นการดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ราคาสินค้าเป็นการดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของ สคบ. ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ที่ต้องการร้องทุกข์เรื่องราวจะสับสน เพราะไม่รู้ว่าต้องเข้าแจ้งหน่วยงานใด มิหนำซ้ำยังไม่ได้รับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการดูแลเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่อีกด้วย

“อย่างคดีดิไอคอนกรุ๊ป เมื่อแม่ข่ายไปร้องกับ สคบ.ตั้งแต่ปี 2562-2565 ว่า ได้รับความเสียหายจากธุรกิจการค้า ปรากฏว่า สคบ.กลับปัดว่า แม่ข่ายไม่ใช่ผู้บริโภค จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย พอปฏิเสธเขา นั่นหมายความว่าเป็นการตัดการช่วยเหลือแม่ข่ายไปเลย และพวกเขาไม่รู้จะไปพึ่งใคร สุดท้ายที่พึ่งของผู้เสียหายคือมูลนิธิและสื่อมวลชน ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เพราะหน่วยงานรัฐความน่าเชื่อถือน้อยลงมาก”

บุญยืนให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การทำธุรกิจของดิไอคอนกรุ๊ปนั้นทำผิดต่อพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2560 ซึ่งมี สคบ.เป็นนายทะเบียน เพราะบริษัทฯ ได้จดแจ้งวัตถุประสงค์ไว้ว่าเป็นการขายออนไลน์ ไม่ใช่การขายตรงแบบการดำเนินธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนั้น สคบ.จะปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ได้

“เมื่อแม่ข่ายไปแจ้งความเสียหายเมื่อปี 2562 แต่ สคบ.กลับเลือกไม่ดำเนินการใดๆ โดยปฏิเสธว่าแม่ข่ายไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่ผู้บริโภค ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายที่ สคบ.จะช่วยเหลือ และหน่วยงานก็ไม่ได้เอาข้อมูลไปตรวจสอบใดๆ จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำมาซึ่งความเสียหายทุกวันนี้

“เพราะฉะนั้นเราคิดว่า สคบ.ควรจะขยับตัวมากกว่านี้ จะอยู่อย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว ปัญหาเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป ก็ต้องตามปัญหาด้วย ถ้าคุณยังอยู่ที่เดิม ก็ไม่ใช่ที่พึ่งพิงของผู้บริโภคอีกต่อไป”

ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคยังมองอีกว่า การที่ สคบ.ได้มอบโล่รางวัลกับบริษัทฯ ยังเป็นการเสริมย้ำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ผู้เสียหายรวมถึงดารานักแสดงที่เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ได้รับความเสียหาย

เพราะฉะนั้นบุญยืนมองว่า สคบ.ต้องปรับระเบียบแบบแผนในการมอบรางวัล เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์การมอบโล่การันตีอีก ทั้งที่เป็นหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ผู้เสียหายเชื่อถือและถูกหลอกง่ายขึ้น

“ถ้าเราเป็นดารา-นักแสดง เราจะฟ้อง สคบ.ด้วย เพราะว่าโล่รางวัลเหล่านี้เป็นการการันตีให้บริษัทว่าเขาถูกต้องตามกฎหมาย มิเช่นนั้นหน่วยงานรัฐจะให้รางวัลได้อย่างไร รางวัลทำให้ดาราเชื่อเขา แล้วทำการหลอกลวงต่อกันเป็นทอดๆ”

นอกจากนั้นอีกหนึ่งปัญหาที่ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคมองว่า เป็นปัญหาของ สคบ.คือ การที่ไม่มีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมในคณะกรรมการ เพราะหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่จะเลือกคนที่มีตำแหน่งสูง ซึ่งขาดประสบการณ์ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาทำงาน

อีกทั้งการทำงานของข้าราชการยังสามารถถูกโยกย้ายได้อย่างอิสระ ทำให้มีโอกาสที่หน่วยงานนั้นๆ จะขาดคนทำงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ

“นี่เป็นเรื่องที่เราเรียกร้องมายาวนาน แต่หน่วยงานของรัฐแข็งตัวมาก มีระเบียบของใครของมัน เพราะฉะนั้นลำบากมาก ถ้ารัฐไม่ปฏิรูป ประชาชนก็พึ่งใครไม่ได้

“การทำงานมา 30 ปีกว่าปีของเรา เราดิ้นรนให้มีองค์กรภาคประชาชน เพราะเราสิ้นหวังกับหน่วยงานของรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค เราเหนื่อยกับมันมามาก สิ่งที่เรามีอยู่ตลอดคือ ความสิ้นหวังในหน่วยงานของรัฐ เราจึงอยากมีองค์กรที่ช่วยผู้บริโภคได้จริง เราเชื่อมั่นว่า ถ้าประชาชนช่วยประชาชน มันเห็นใจกันมากกว่า หน่วยงานรัฐเขาทำตามหน้าที่ ไม่ได้อินกับความเดือดร้อนของชาวบ้าน” 

เพื่อป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ บุญยืนเสนอว่า หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ต้องออกกฎระเบียบร่วมกัน เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ควรให้หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งออกระเบียบตรงนี้

“เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องกำหนดโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยว่า หากไม่ดำเนินการจะมีบทลงโทษอย่างไร จะได้เป็นแรงกระตุ้นว่า หากประชาชนเดือดร้อน เขาจะต้องเดือดร้อนด้วย มิเช่นนั้นประชาชนเดือดร้อน เขาจะเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเขา ซึ่งจะปล่อยให้เกิดไม่ได้ เพราะเงินเดือนที่คุณรับก็มาจากภาษีประชาชน” บุญยืนเสนอแนวทางการแก้ไข

Tags: , , , ,