สำหรับ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แทบจะไม่เคยมีข่าวดีเกี่ยวกับตัวเขาเลย จากเจ้าชายที่เป็นที่รู้จักเพียงน้อยนิด สู่การเป็นผู้ปกครองผู้ทรงอำนาจเต็ม เมื่อปี 2015 หลังจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอห์ บิน อับดัลอะซิซ อัล ซาอูด เสด็จสวรรคต และทำให้พระบิดาของพระองค์คือ สมเด็จพระราชธิบดีซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ อัล ซาอุด ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์

การผลัดเปลี่ยนอำนาจในราชวงศ์ ทำให้ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือที่ชาติตะวันตก เรียกกันด้วยชื่อย่อว่า MBS ทรงขึ้นเป็น มกุฎราชกุมาร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นประธานกองทุนความมั่งคั่งของซาอุฯ ด้วยพระชันษาเพียง 36 ปี

สำหรับประวัติของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน หรือ ‘MBS’ ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตของกษัตริย์ซัลมาน กับพระมเหสีพระองค์ที่สาม MBS ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ผู้ครอบครอง ‘เพชรซาอุฯ’ ที่เกรียงไกร เตชะโม่ง ขโมยจากพระราชวังเมื่อปี 2532 จนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

หลายเหตุการณ์บ่งชี้ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่โหดเหี้ยม และใจร้อน นับตั้งแต่หายนะในสงครามกับเยเมน การประกาศตัดขาดและปิดพรมแดน ระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ การบีบให้ ซาอัด ฮาริรี (Saad Hariri) อดีตนายกรัฐมนตรี ของเลบานอน ต้องลาออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญอย่างการสังหาร จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวซาอุฯ ในสถานทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำตุรกี

ขณะที่ในบ้านตัวเอง MBS จัดการจับนักกิจกรรม – นักเคลื่อนไหว รวมถึงจับกุมและกวาดล้างเจ้าชายกว่า 40 พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพรักษาพระองค์ หรือจะเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม สื่อตะวันตกกล่าวว่า ส่วนหนึ่ง เป็นไปเพื่อรักษาฐานอำนาจ ขณะเดียวกันก็บรรยายไว้ว่าอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เป็นไปเพื่อ ‘รีดไถ’ บรรดาเจ้าชายที่เป็นนักธุรกิจเพื่อเรียกเอาเงินสด กลางโรงแรม ริทซ์ – คาร์ลตัน ในกรุงริยาร์ด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย โดยผู้จับกุม ก็หนีไม่พ้นทหารซึ่งทำหน้าที่ ‘ราชองครักษ์’ หลายคนต้องติดคุกนานหลายปี และหลายคนถูกอุ้มหาย หรือถูกบังคับให้สูญหาย

แน่นอนว่าพฤติกรรมทั้งหมด ส่งผลลบต่อการค้า – การลงทุนกับต่างประเทศ ซึ่งเจ้าชายบิน ซัลมาน ต้องการหาแหล่งทุนใหม่ เพิ่มเติมจากที่ระบบเศรษฐกิจของซาอุฯ พึ่งพิง ‘น้ำมัน’ มาโดยตลอด โดยการสังหารคาช็อกกี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2018 นั้น เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ ก่อนที่ ซาอุฯ จะจัดการประชุมใหญ่ว่าด้วยการค้าการลงทุน โดยมี ‘กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ’ หรือ Sovereign-Wealth fund เป็นผู้จัดงาน

ผลก็คือนักธุรกิจต่างชาติจำนวนมากถอนตัว ภาพจำของนักธุรกิจต่างชาติ เรื่องการ ‘คุมขัง’ นักธุรกิจไว้ในโรงแรมริทซ์ – คาร์ลตัน อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้การลงทุนจากต่างชาตินั้นหดตัวลงจาก 8,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2015 คงเหลือเพียง 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2017

เกร็กก์ คาร์ลสตรอม (Gregg Carlstrom) ผู้สื่อข่าวด้านตะวันออกกลาง จาก The Economist เขียนบทความเกี่ยวกับเจ้าชาย บิน ซัลมาน ไว้ว่า ในปี 2021 ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ข่าวแปลกๆ จากซาอุฯ ลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายการต่างประเทศของซาอุฯ ค่อยๆ ถดถอยลง ที่ทำมาแล้วก่อนหน้านี้ และที่กำลังทำอยู่ ก็ไม่ได้มรรคผลเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นการประกาศตัดขาดกับกาตาร์ หรือการบังคับให้นายกฯ เลบานอน ลาออก ก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ – เลบานอน ดีขึ้นเท่าไรนัก

The Economist วิเคราะห์ว่าในปี 2022 มีความเป็นไปได้ที่ซาอุฯ จะกลับมา ‘ตั้งไข่’ ฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่าน คู่อริเก่าอีกครั้ง แม้จะยังไม่สำเร็จในเร็ววันนี้ แต่ก็น่าจะลดความเสี่ยงในการเปิดสงครามใหม่ๆ อย่างที่ อิหร่าน เคยสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายโจมตีโรงกลั่นน้ำมันของซาอุฯ เมื่อปี 2019

ขณะเดียวกัน ซาอุฯ ก็มีแนวโน้มที่จะตีตัวออกห่างจากสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ​ ยุคนี้ ดูจะไม่พอใจกับการเล่นบทเป็น ‘ผู้ค้ำประกัน’ รัฐบาลซาอุฯ เหมือนที่ผ่านมา เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของซาอุฯ เพิ่งลงนามในความร่วมมือทางการทหารกับรัสเซีย แต่บทความใน The Economist ก็บอกว่า การกระทำดังกล่าว เป็นเพียงเพื่อ ‘ประชด’ สหรัฐฯ เท่านั้น ขณะเดียวกัน ซาอุฯ น่าจะแสวงหาความร่วมมือ ทั้งด้านการทหาร และด้านเศรษฐกิจกับจีน อีกหนึ่งมหาอำนาจของโลกด้วยเช่นเดียวกัน

กลับมาที่ในบ้าน ‘กองเชียร์’ จำนวนมากของ เจ้าชาย บิน ซัลมาน มั่นใจว่า MBS จะนำความเปลี่ยนแปลงมาให้ภายใต้แนวโน้มที่ดีขึ้น ที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางราชวงศ์ที่เต็มไปด้วยเจ้าชาย และพระราชวงศ์จำนวนมากที่ล้วนมีอำนาจ – บารมี ในระนาบเดียวกัน อีกทั้งยังมีศัตรูจำนวนมาก เจ้าชายบิน ซัลมาน ดูจะรักษาพระราชสถานะ และพระราชอำนาจไว้ได้ดี ด้วยการทำให้ภาพของซาอุฯ‘เลวร้าย’ น้อยลงกว่าแต่ก่อน

แต่ The Economist ก็วิเคราะห์ว่า สถานภาพเช่นนี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้นาน เนื่องจากอัตราการว่างงานของซาอุฯ นั้นสูงถึง 11.3% จากเหตุผลสำคัญคือการระบาดของโรคโควิด-19 ในการแถลงออกโทรทัศน์ เมื่อเดือนเมษายน 2021 MBS บอกว่า มากกว่าครึ่งของคนงานซาอุฯ ทำงานที่ย่ำแย่ (Bad Jobs) เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างอย่างสมน้ำสมเนื้อเท่าที่ควร

กระนั้นเอง เจ้าชาย บิน ซัลมาน ก็ยังเป็นผู้สร้างความหวังใหม่ๆ ให้กับชาวซาอุฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 พระองค์ประกาศจะปลูกต้นไม้กว่า 1 หมื่นล้านต้นใจกลางทะเลทราย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชาวซาอุฯ คาดหวังว่าจะเห็นโครงการเช่นนี้อีก ทั้งยังหวังจะเห็นการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่ประสบผลสำเร็จ

หนึ่งในคู่ต่อสู้ที่สำคัญสำหรับซาอุฯ ก็คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายที่สุด เพิ่งออกนโยบายภาษีใหม่ เพื่อส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ ด้วยนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้ยอดนำเข้าสินค้าจากซาอุฯ ในสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ หดตัวลงถึง 33% สถานีโทรทัศน์ 2 แห่ง ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ เป็นเจ้าของ ได้รับคำสั่งให้ย้ายกลับมาที่ริยาด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และบริษัทหลายแห่งก็น่าจะประสบชะตากรรมเดียวกัน คือให้ ‘ย้ายกลับ’ ประเทศ

“แน่นอนว่าการแข่งขันระหว่างชาติอาหรับด้วยกัน จะรุนแรงขึ้นในปี 2022 แต่อย่างน้อย การแข่งขันเหล่านี้ ก็ไม่น่าจะถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ” ​The Economist วิเคราะห์

วันนี้ (25 มกราคม 2022) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วยคณะชุดใหญ่ จะเดินทางไปซาอุฯ ตามคำเชิญของ MBS เพื่อ ‘ฟื้นความสัมพันธ์’ กับซาอุฯ ครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากคดี ‘เพชรซาอุฯ’ และเรื่องการอุ้มฆ่า ‘นักการทูต’ จำนวนมาก

สายตาคนไทย คนซาอุฯ และคนทั่วโลก จึงจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ซาอุฯ จะมาไม้ไหน จะหา ‘เพื่อน’ เพิ่ม ในช่วงเวลาที่เพื่อนซาอุฯ เหลือน้อยลง หรือจะหาช่องทางค้าขายเพิ่มขึ้น และท่าทีต่อร่องรอยด่างพร้อยในประวัติศาสตร์ ของซาอุฯ ต่อรัฐบาลไทย จะเป็นไปอย่างไร

ที่มา

https://www.economist.com/the-world-ahead/2021/11/08/saudi-arabia-reins-in-its-disastrous-foreign-policy

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-08-31/saudi-tv-stations-begin-shift-to-riyadh-in-challenge-to-dubai

Tags: , , ,