เทศกาลที่เปรียบเสมือน ‘ดิสนีย์แลนด์’ แต่ไร้รถไฟเหาะ
คือคำเปรียบเปรยของนานาชาติและรัฐบาลไต้หวันต่อ ‘เทศกาลโคมไฟไต้หวัน’ ประเพณีประจำปีของเกาะเล็กๆ ที่ได้รับสมญานามว่า หัวใจแห่งเอเชีย (Heart of Asia) หนึ่งในโปรเจกต์การท่องเที่ยวที่ดึงดูดผู้คนจากทุกสารทิศให้มารวมตัวชมความสวยงามของไฟหลากสี และความคิดสร้างสรรค์ของศิลปะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
หากย้อนความเป็นมา เทศกาลโคมไฟไต้หวันเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ปกติมักจัดในช่วงเทศกาลหยวนเซียว (元宵節: Yuánxiāo Jié) หรือวันสิ้นสุดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ โดยความเป็นมาของเทศกาลมาจากตำนานเรื่อง นายพรานเผลอสังหารนกของเทพเจ้า ทำให้สรวงสวรรค์โกรธ มนุษย์จึงต้องแก้เคล็ดด้วยการห้อยโคมไฟหรือจุดดอกไม้ไฟ ในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ
จากตำนานเล่าขานสู่เรื่องราวที่ยังคงมีชีวิต เทศกาลครั้งนี้เดินทางมาถึงปีที่ 36 โดยวนกลับมาจัดที่เมืองเถาหยวน (Taoyuan) ในรอบ 9 ปี หลังประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในปี 2016 ภายใต้ธีม ‘LIGHT CONNECT ALL’ ที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น ผ่านเรื่องราวในครอบครัว พร้อมถ่ายทอดแง่มุมและเอกลักษณ์ของเถาหยวน ในฐานะเมืองแห่งความสุข
เทศกาลโคมไฟในเถาหยวนประจำปี 2025 แบ่งออกเป็น 2 โซน โดยส่วนแรกคือ พื้นที่จัดแสดงหลัก ตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงเถาหยวน A18 (Taoyuan HSR Station) ที่ถ่ายทอดความสำคัญของเมืองเข้ากับวัฒนธรรมเบสบอลอันโด่งดัง หลังไต้หวันเพิ่งคว้าชัยในการแข่งขัน Premier12 Baseball Tournament ประจำปี 2024 อีกทั้งบอกเล่าศักยภาพความเป็น ‘ศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ’ ดังการมีท่าอากาศนานาชาติเถาหยวนตั้งอยู่
ขณะที่พื้นที่ส่วนที่ 2 คือ สนามเด็กเล่นแห่งแสงสว่าง (Lights Playground) จัดขึ้นที่สถานีศูนย์กีฬานานาชาติเถาหยวน A19 (A19 Taoyuan Sports Park Station) นำเสนอเรื่องราวความสนุกภายในครอบครัวและเด็ก โดยโซนที่พลาดไม่ได้คือ โคมไฟยักษ์คาบิกอน (Kabigon) และโปเกมอน (Pokemon) พร้อมกับการแสดงเต้นรำจาก 19 คณะ ส่งตรงจากฮอกไกโด (Hokkaido), นาโกยา (Nagoya), โกจจิ (Kochi) และมิเอะ (Mie) จากประเทศญี่ปุ่น สมทบด้วยเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และชนพื้นเมืองอื่นๆ
ไฮไลต์สำคัญของงานคงหนีไม่พ้น ‘โคมไฟใหญ่’ ประจำเทศกาลที่มาในธีม ‘สรวงสวรรค์ที่ไม่สิ้นสุด’ (Infinite Paradise) ออกมารูปแบบโคมไฟยักษ์สัญลักษณ์อินฟินิตีสูง 18 เมตร ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ อาคิโบ ลี (Akibo Lee) ศิลปินและนักออกแบบด้านดิจิทัลอาร์ต ผู้เคยสรรค์สร้างผลงานในไต้หวัน ฮ่องกง จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยมุ่งหมายให้โคมไฟยักษ์เป็นภาพแทน ‘สวนสนุกแห่งอนาคต’ ที่เต็มไปด้วยความทันสมัยทางเทคโนโลยี เนื่องจากกลไกหลักของสิ่งประดิษฐ์นี้อาศัย AI และ Motion Capture ในการทำงานอีกด้วย
หากถามว่าเทศกาลนี้สำคัญต่อชาวไต้หวันมากแค่ไหน คงต้องให้ธรรมชาติเป็นตัวชี้วัด เพราะแม้สายฝนจะตกลงมาอย่างไม่ขาดสายในวันพิธีเปิด (12 กุมภาพันธ์ 2568) แต่ผู้คนยังเนืองแน่นยืนรอพิธีเปิด ขณะที่ผู้นำระดับประเทศอย่าง จาง ซานเหิง (Chang San-cheng) นายกเทศมนตรีเถาหยวน และ ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ประธานาธิบดีไต้หวัน ก็เดินทางมาเข้าร่วมและขึ้นเวทีสุนทรพจน์
“อากาศหนาวมาก และมีฝนตกลงมาไม่หยุด ผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่ฝ่าความเย็นมาร่วมเทศกาลอันยิ่งใหญ่” ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว ขณะที่ผู้เขียนเริ่มหันไปถามไถ่คุณป้าชาวไต้หวันข้างๆ ว่า เหตุใดจึงมาร่วมงาน ทั้งๆ ที่ฝนตกหนักขนาดนี้
“เพราะ 1 ปีมีครั้งเดียว จึงไม่อยากพลาด” คือคำตอบเรียบง่ายจากคุณป้าข้างกาย แต่ทำให้เราเข้าใจความสำคัญของงานเทศกาลครั้งนี้ยิ่งขึ้น
เมื่อพิธีเปิดมาถึง แสงสว่างจากโคมไฟยักษ์ Infinite Paradise ปรากฏขึ้นมา เปลี่ยนสีและภาพไปเรื่อยๆ พร้อมกับหมุนรอบผู้ชม 360 องศา ทำให้อุปสรรคอย่างหยาดฝนและความเฉอะแฉะหยุดไปชั่วขณะ เหลือเพียงแต่เสียงยินดีปรีดา และความตกตะลึงในความสวยงามของโคมไฟยักษ์ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ดิสนีย์แลนด์จริงๆ
หากใครมีแพลนเดินทางไปไต้หวัน เราขอให้แนะนำให้คุณเก็บงานโคมไฟเป็นอีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ควรไปเยือน โดยงานจะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้จนถึง 23 กุมภาพันธ์ 2025 เวลา 18.00-22.00 น.
อ้างอิง:
– https://focustaiwan.tw/culture/202502120024
– https://www.wanderlustmagazine.com/inspiration/taiwan-lantern-festival-guide/
– https://eng.taiwan.net.tw/m1.aspx?sNo=0043875
– https://taiwantoday.tw/Economics/Top-News/265604/Taiwan-Lantern-Festival-underway-in-Taoyuan
– https://2025taiwanlanternfestival.org/En/Item/Detail/0455f16c-4d20-4eb9-bb06-0715c0ee70e2
.
Tags: Heart of Asia, ไต้หวันมะ, ไต้หวัน, Taiwan, TAIWAN LANTERN FESTIVAL, ไล่ ชิงเต๋อ, เทศกาลโคมไฟ, เถาหยวน, เทศกาลหยวนเซียว