วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน อภิปรายถึงสาเหตุความล่าช้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการ ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ ของรัฐบาลกับการปรับเปลี่ยนสัญญาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับสัมปทาน
สุรเชษฐอธิบายว่า บริษัทที่ได้รับสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ได้เซ็นสัญญาข้อตกลงร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 แต่เวลาผ่านมากว่า 5 ปีครึ่ง กลับยังไม่เริ่มสร้าง
สส.พรรคประชาชนกล่าวต่อว่า โดยปกติโครงการนี้จะให้สิทธิ์ทุนระดับแสนล้านเท่านั้น แต่ทราบข่าวมาว่า ทุนใหญ่ยังไม่อยากเริ่มงานนี้เพราะหนี้สินเต็มเพดาน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงอยากแก้สัญญา เพื่อแก้สภาพคล่องทางการเงินก่อนเริ่มโครงการ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีความเสี่ยงสูง ภาครัฐจึงอุดหนุนเงินก่อสร้างกว่า 159,830 ล้านบาท และยกที่ดินมักกะสันและศรีราชาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการพัฒนาเพิ่ม ทั้งนี้การก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้นแม้ว่าจะเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งปกติขั้นตอนต่อไป การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องออกหนังสือสั่งให้เอกชนเริ่มก่อสร้าง แต่เอกชนได้ใช้เงื่อนไขและการเริ่มต้นดำเนินโครงการมาเป็นข้ออ้างที่ส่งผลให้โครงการล่าช้า
เงื่อนไขที่เอกชนใช้เป็นข้ออ้างในการไม่เริ่มต้นก่อสร้างตามที่สุรเชษฐ์ระบุคือ เงื่อนไขในข้อ 6.1 (3) ในเงื่อนไขและการเริ่มต้นดำเนินโครงการที่ระบุว่า เอกชนคู่สัญญาได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการออกบัตรดังกล่าว ซึ่งสุรเชษฐ์ระบุว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ‘รอ’ ให้เอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนในโครงการเกี่ยวกับรถไฟ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก่อน แล้วจึงจะออกหนังสือสั่งให้เอกชนเริ่มก่อสร้าง
แต่ปัญหาคือ ในการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในโครงการเกี่ยวกับรถไฟ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีความจำเป็นต้องขอเอกสารเพิ่มเติม จากเอกชนผู้รับสัมปทานในโครงการ เพื่อใช้ประกอบการทำบัตรก่อน ซึ่งสุรเชษฐ์ได้เปิดเผยว่า เอกชนได้ขอขยายเวลาในการส่งเอกสารมาหลายครั้งจนถึงครั้งล่าสุดกำหนดอยู่ที่ 22 พฤษภาคม 2567 ซึ่งในระหว่างนั้นบริษัทเอกชนได้ระบุว่า จะส่งเอกสารตามกำหนดการที่ได้ขยายออกไป แต่ข้อเท็จจริงคือ ยังไม่มีการส่งเอกสารเพื่อประกอบการทำบัตรส่งเสริมการลงทุนในโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ให้กับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแต่อย่างใด
สำหรับเหตุผลว่า เหตุใดเอกชนจึงพยายามขยายเวลาการส่งเอกสาร เพื่อให้ BOI นำไปประกอบการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน นำมาซึ่งความล่าช้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักของ EEC ที่ล่าช้าไปกว่า 5 ปีครึ่ง สุรเชษฐ์ระบุว่า มีข่าวสารในแวดวงธุรกิจระบุว่า เนื่องจากเอกชนผู้รับสัมปทานโครงการ ‘ขาดสภาพคล่อง’ ทางการเงิน จึงไม่พร้อมที่จะเริ่มงาน ขณะเดียวกันก็มีความต้องการ ‘แก้ไข’ สัญญาการลงทุนแบบ PPP ที่ได้เซ็นไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การที่เอกชนผู้รับสัมปทานไม่ส่งเอกสารให้กับ BOI ตามกำหนดเวลา และมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ นับเป็นการกระทำการผิดสัญญา และควรที่จะได้รับการลงโทษ ทว่าปัจจุบัน บริษัทเอกชนรายนี้ยังคงเป็นผู้ถือสัมปทานอยู่ และรัฐบาลยังคงยินยอมให้มีการเลื่อนเช่นนี้เรื่อยมา สุรเชษฐ์จึงตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินมีความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นบิดาของ แพทองธาร ชินวัตร นากยกฯ คนปัจจุบัน อีกทั้งนายกฯ ยังเป็นผู้ ‘กำกับ’ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จึงทำให้รัฐบาลใจดีและยอมอ่อนให้กับเอกชนเจ้านี้หรือไม่
ที่สำคัญคือการแก้สัญญาความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งเอกชนผู้รับสัมปทานได้เซ็นไปแล้วในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ได้ถูกปรับเปลี่ยนสัญญาไปที่เอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน จากเดิมที่เอกชนดูแลค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างตลอดการทำโครงการ และให้รัฐบาลจ่ายให้หลังจากโครงการเสร็จสิ้นและเปิดให้บริการ เปลี่ยนเป็นให้รัฐเริ่มจ่ายตั้งแต่ก่อสร้างใน 5 ปีแรก การให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิ์ในการบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 10,678 ล้านบาท ซึ่งต้องจ่ายภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่รัฐบาลก็ยังอุ้มทุนด้วยการทำ MOU ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ให้สิทธิ์เดินรถไปพลางก่อน
ในช่วงท้าย สุรเชษฐ์ประเมินว่า รัฐบาลต้องสูญเสียเงินไปตั้งงบประมาณตามการแก้ไขสัญญาการลงทุน จากเดิมที่รัฐบาลจะต้องชำระเงินค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในปี 2574 ตามสัญญาเดิม กลายเป็นการสร้างไปและจ่ายไป ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชำระค่าโครงการในแต่ละปี
“ส่วนประชาชนทั่วไปร่วมถึงข้าราชการในหน่วยงานอื่นก็ซวยขึ้น เพราะผลก็คือการเบียดบังพื้นที่งบประมาณในปี 2569 21,015 ล้านบาท ปี 2570 เบียดบังไปอีก 37,558 ล้านบาท ปี 2571 อีก 35,065 ล้านบาท และปี 2572-2573 อีก 31,594 ล้านบาท รัฐบาลหน้าก็ซวยด้วยจากการอนุมัติในรัฐบาลนี้”