วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2566) สำนักงานเขตดุสิตร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดอัครสถานพระราชอุทยานสวนสุนันทาและพิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล อดีตพระตำหนักในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้คู่รักทุกเพศเข้ามาร่วมกิจกรรมจดทะเบียนความรัก เนื่องในโอกาสเทศกาลวันวาเลนไทน์ โดยคู่รักต่างเพศสามารถจดทะเบียนสมรสต่อหน้านายทะเบียน ซึ่งจะส่งผลทางกฎหมายทันที ในขณะที่คู่รักกลุ่มเพศหลากหลายจะสามารถ ‘จดแจ้งคู่ชีวิต’ ที่แม้จะยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่มีผลในด้านของการรวบรวมสถิติความประสงค์ของคู่รัก LGBTQ+ ที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง และยังเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปในตัว

‘อ้อม’ และ ‘แบงค์’ คู่รักที่เดินทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาจดแจ้งชีวิตคู่ไกลถึงเขตดุสิตในวันนี้ ได้เล่าถึงเรื่องราวของของพวกเธอที่ใช้ชีวิตคู่มาอย่างยาวนานถึง 19 ปีเต็ม โดยไม่มีกฎหมายใดที่สามารถรับรองความสัมพันธ์ของพวกเธอได้ “เราคบหากันมา 19 ปี และแต่งงานกันมา 13 ปีแล้ว แม้ว่าการแต่งงานครั้งนั้นจะไม่มีผลทางกฎหมายเลย แต่เราก็จัดงานแต่งขึ้นอย่างตั้งใจ และสร้างครอบครัว เรียนรู้ เติบโตมาด้วยกัน จนคนรอบข้างที่ในอดีตเคยหมางเมินเริ่มทิ้งอคติและยอมรับความรักของเรา

“ทันทีที่ได้ยินว่าจะมีการร่างกฎหมายนี้ จากที่ไม่เคยคาดหวังมาก่อน เราก็หันมาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รอวันที่มันจะผ่าน เพราะชีวิตคู่ของเรา 2 คนไม่ได้ต่างจากคู่สามีภรรยาชายหญิงเลย เราเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน มีความคาดหวังถึงอนาคตแบบเดียวกัน แต่ทำไมถึงไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมายแบบเดียวกัน”

ในด้านของ ‘อาทิตยา’ ข้าราชการหญิงข้ามเพศที่เดินทางมาจดแจ้งชีวิตคู่พร้อมกับแฟนหนุ่ม ก็ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนี้ไปในทำนองเดียวกันว่า “เราก็อยากมีสิทธิเหมือนชายจริงหญิงแท้โดยไม่มีการแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเซ็นยินยอมรับการรักษาพยาบาลแทน การจัดการทรัพย์สินร่วมกัน หรือสิทธิในด้านอื่นๆ จึงคาดหวังอย่างมากว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่าน”

จนถึงปัจจุบัน วาระร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตและร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมที่รับหลักการไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ยังค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาฯ วาระที่ 2 และ 3 แม้จะมีกำหนดการว่าร่างกฎหมายนี้จะกลับเข้าสภาฯ ไปตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ทว่าจวบจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววจะพิจารณาได้ทัน ยิ่งพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองและบรรยากาศในสภาฯ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนปิดสมัย ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ร่าง กฎหมายนี้จะตก และต้องไปเริ่มพิจารณาใหม่ตั้งแต่วาระที่ 1 ในสมัยหน้า

นอกเหนือจากเขตดุสิตที่เปิดให้มีกิจกรรมจดทะเบียนสำหรับคู่รักเพศหลากหลายแล้ว ยังมีสำนักงานเขตอีก 3 แห่งที่จัดกิจกรรมคล้ายกัน เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติสนับสนุนการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้แก่ สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ ที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดระยอง และที่ว่าการอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

แม้ทุกหน่วยงานต่างเข้าใจดีว่าการจดแจ้งในวันนี้จะไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ แต่ก็คาดหวังว่าอย่างน้อยกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเพศหลากหลายได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวความรักของกันและกันนี้ จะสามารถแสดงถึงจุดยืนของแต่ละหน่วยงานที่ต้องการสนับสนุนให้คนทุกเพศได้รับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองด้านกฎหมายสมรสที่เท่าเทียมกัน

Tags: , , , , , ,