สำนักข่าวยอนฮับ (Yonhap) เผยข้อมูลเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้อายุระหว่าง 15-29 ปี ที่ว่างงาน ไม่ได้เรียนหนังสือหรือทำงานที่บ้าน และไม่หางานทำ เพิ่มขึ้นประมาณ 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีมากกว่า 9.6 หมื่นคน ถูกจัดอยู่ในประเภท ‘NEET’ หรือ ‘Not in Education, Employment or Training’ ซึ่งเป็นคำที่มาจากสหราชอาณาจักรในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และมักใช้ในเกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เพื่ออธิบายถึงผู้ที่ไม่ได้กำลังศึกษาอยู่ ไม่มีงานทำ และไม่ได้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมใดๆ

ตัวเลขของกลุ่ม NEETs เพิ่มขึ้น 35.8% หรือ คิดเป็น 2.5 หมื่นคน เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 7.1 หมื่นคน เมื่อปีที่แล้ว จำนวนดังกล่าว รวมอยู่ในกลุ่มคน 2.78 แสนคน ที่อยู่ในช่วงอายุเท่ากัน แต่ถูกพิจารณาว่าเป็น ‘ผู้ว่างงานระยะยาว’ เพราะไม่มีงานทำมานานกว่าสามปี

รายงานระบุว่า จำนวน NEETs เพศชายเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นคน เป็น 6.2 หมื่นคน เมื่อเทียบปีต่อปี ในขณะที่เพศหญิงเพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นคน เป็น 3.5 หมื่นคน ในช่วงเวลาเดียวกัน

เมื่อเทียบตามอายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 29 ปี คิดเป็น 63.5%ของกลุ่ม NEET ทั้งหมด หรือ 6.1 หมื่นคน ขณะที่ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 24 ปี คิดเป็น 32.5% หรือ 3.1 หมื่นคน ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 19 ปี คิดเป็น 4% หรือ 4,000 คน

หากแยกย่อยลงไป จำนวนกลุ่ม NEET ทั้งหมด มีตัวเลขผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายคิดเป็น 77.5% หรือ 7.5 หมื่นคน ส่วนผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับอนุปริญญาคิดเป็น 11.7% หรือ 1.1 หมื่นราย

ในบรรดาผู้ที่ถูกพิจารณาว่า ‘ว่างงานระยะยาว’ ทั้งหมด มีจำนวน 8.5 หมื่นคน ‘กำลังหางานโดยการจัดเตรียมใบอนุญาตหลายชนิด และเตรียมทดสอบ’ จากจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 4.3 หมื่นคน ที่กำลังเตรียมสอบเพื่อเข้ารับราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนจำนวนที่เหลือกำลังเตรียมรับใบอนุญาตประกอบอาชีพครู ทนายความด้านกฎหมายสิทธิบัตร และอื่นๆ

ในปี 2019 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลี ระบุว่า เกาหลีใต้สูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจประจำปี 49.4 ล้านล้านวอน (ประมาณ 4.21 หมื่นล้านดอลลาร์) จากกลุ่ม NEET ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 29 ปี ขณะที่จำนวน NEET ที่เป็นเยาวชนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า กลุ่ม NEET ที่มีอายุน้อยมีจำนวนน้อยลง ในครอบครัวที่มีรายได้สูงและมีการศึกษาสูง ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้ที่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาส มีแนวโน้มที่จะเลิกหางานทำมากกว่า

ขณะที่ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนไทย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 1% สวนทางกับจำนวนเยาวชนไทยที่ลดลงเฉลี่ย 1.2% ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลสำรวจ ภาวะการทำงานของประชากรไทย กลุ่ม NEET ประกอบด้วยเยาวชนที่ 1.ทำงานบ้าน 2.อยู่ว่างหรือกำลังพักผ่อน 3.ยังเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4.ว่างงาน

อ้างอิง

 http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210914000782

https://www.nesdc.go.th/ewt_news.php?nid=10260&filename=index

Tags: , , ,