เมื่อวานนี้ (5 ธันวาคม 2023) รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศแผนตรวจสุขภาพจิตทุก 2 ปี สำหรับประชากรวัย 20-34 ปี รวมถึงให้บริการคำปรึกษาทางสุขภาพจิตสำหรับทุกช่วงอายุนับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการรับมือต่ออัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนที่พุ่งสูงขึ้น

เกาหลีใต้มีอัตราการปลิดชีพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) เป็นเวลา 20 ปี สะท้อนจากสถิติในปี 2022 เมื่ออัตราการเสียชีวิตของประชากรอยู่ที่ 25.2 คนต่อ 1 แสนคน ซึ่งมากขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2021 

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้เผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 4 หมื่นราย เสียชีวิตจากการปลิดชีพตนเอง นอกจากนี้ ในปี 2021 มีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตใจเพิ่มขึ้นถึง 4.1 ล้านคน หากเทียบกับตัวเลขในปี 2015 คือ 2.8 ล้านคน

ทั้งนี้ โคเรียจุงอังเดลี (Korea Joongang Daily) สื่อท้องถิ่นระบุว่า รัฐบาลเตรียมดำเนินนโยบายดังกล่าวในปี 2024 โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายถึง 50% ภายในระยะเวลา 10 ปี ดังต่อไปนี้

 1. มีนักจิตวิทยา 8 หมื่นราย ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับประชาชน 1 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเสี่ยงปานกลาง กลุ่มเสี่ยงสูงสุด รวมถึงบุคคลที่เคยพยายามปลิดชีพตนเอง โดยรัฐบาลจะมีงบประมาณสนับสนุนถึงปี 2027

 2. กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งหน่วยงานฉุกเฉินที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และตำรวจใน 17 จังหวัด เพื่อตอบสนองต่อเหตุด่วนที่เกี่ยวข้องสุขภาพจิต

3. กลุ่มประชากรวัย 20-33 ปี จะต้องตรวจสุขภาพจิตทุก 2 ปี จากเดิมที่เคยดำเนินการทุก 10 ปี เพื่อป้องกันอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรคจิตเภท หรือโรคไบโพลาร์ ฯลฯ 

 4. มีการจัดอบรมการป้องกันแก่ประชาชนจำนวน 16 ล้านคน เช่น วิธีการป้องกันตนเองจากความคิดฆ่าตัวตาย หรือการสังเกตคนรอบตัวที่มีอาการผิดปกติ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเยาวชนและนักเรียนในเดือนมีนาคม 2024

 5. เปิดสายด่วนฉุกเฉินเบอร์ 109 สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือปรึกษาด้านสุขภาพจิตเร่งด่วน พร้อมทั้งยังมีระบบส่งข้อความสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการโทรติดต่อ

 6. เพิ่มบุคลากรทางด้านจิตวิทยา ประกอบด้วยผู้ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 100 คน และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอีก 2.28 แสนคน ภายในปี 2027 รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของบุคลากรเหล่านี้

 7. สร้างแคมเปญลดอคติและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางจิต โดยรัฐบาลจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย กลุ่มส่งเสริมสุขภาพจิต รวมถึงสื่อมวลชน

“ด้วยการจัดสรรงบประมาณครั้งใหญ่ในด้านสุขภาพจิต รัฐบาลจะสร้างสังคมที่ประชาชนได้รับบริการทางสุขภาพจิตทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานที่ โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” โจ คยูฮง (Cho Kyu-hong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุกับผู้สื่อข่าว

นอกจากการคำนึงถึงสุขภาพจิต แหล่งข่าวยังรายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามจัดการกับต้นตอของปัญหา คือสภาพแวดล้อมสังคม เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ และนโยบายกักตัวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดย ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุว่า แม้เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่อัตราด้านความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของประชาชนต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด และส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่รวดเร็วเกินไป การอยู่ตัวคนเดียว รวมถึงการแตกแยกในครอบครัวและสังคม 

ทว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐไม่ได้ใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับชาติ ขณะที่ปัจเจกบุคคลก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้ารับการรักษา ดังนั้น เขาจึงต้องการส่งเสริมให้สุขภาพจิตเป็นเรื่องระดับชาติ ไม่ใช่การจัดการปัญหาของปัจเจกเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โคเรียเฮรัลด์ (KoreaHerald) เผยว่า รัฐบาลไม่ได้ตอบคำถามถึงแหล่งที่มาของ ‘งบประมาณ’ ในการผลักดันปัญหาสุขภาพในระดับชาติ โดยระบุว่า เป็นการยากที่จะอธิบายรายละเอียดการใช้เงินแต่ละโครงการ

อ้างอิง

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-koreans-aged-20-to-34-to-get-mental-health-check-ups-every-2-years

https://koreajoongangdaily.joins.com/news/2023-12-05/national/socialAffairs/Korea-to-provide-mental-health-counseling-to-1-million-by-2027/1928508

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20231205000693

Tags: , , , , , , , ,