เมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2023) รายงานพิเศษของนิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) เผยว่า อัตราการเกิดระดับต่ำของเกาหลีใต้อาจส่งผลให้ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมกันนั้นยังมีเสียงสะท้อนเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายแรงงานที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดการหลั่งไหลของแรงงานมากขึ้น

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศของเอเชียตะวันออก ที่ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เพราะประเทศกำลังเข้าสู่ยุคแห่ง ‘สังคมผู้สูงวัย’ แสดงให้เห็นผ่านอัตราการเกิดระดับต่ำที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2013 โดยเนชันแนลพับลิกเรดิโอ (National Public Radio) ให้เหตุผลว่า ผู้หญิงหลายคนในประเทศเลือกที่จะไม่มีลูก เนื่องจากพวกเธอต้องต่อสู้กับอัตราค่าครองชีพสูง 

นอกจากนี้ คนหนุ่มสาวยังตัดสินใจไม่แต่งงาน หรือลงหลักปักฐานใดๆ เพราะต้องการให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการงานมากกว่าการสร้างครอบครัว ซึ่งคิดเป็นสถิติถึง 35% 

นั่นทำให้เกาหลีใต้ต้องหาทางออกด้วยการพึ่งพาแรงงานนอกประเทศ ปรากฏการณ์ดังกล่าวฉายให้เห็นชัดเจนผ่านจำนวนวีซ่าแรงงานต่างชาติที่ผ่านถึง 1.1 แสนคน ในปี 2023 หากเทียบสถิติในปี 2019 ที่มีเพียง 5.1 หมื่นราย 

ทว่าการดึงดูดแรงงานต่างชาติไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด เพราะเกาหลีใต้มีข้อจำกัดในด้านกฎหมายแรงงาน ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เมื่อมีการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาในเกาหลีใต้ ‘ชั่วคราว’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการเกษตร 

นั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามากมาย ตั้งแต่การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย (เช่น กรณีผีน้อย) ตามมาด้วยการขูดรีดและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อแรงงานต่างชาติ 

เดอะดิโพแมต (The Diplomat) ระบุว่า แรงงานอพยพถึง 20% มีคุณภาพชีวิตไม่ดี บ้างต้องอาศัยในกระท่อมเล็กๆ ที่มีหลังคาเป็นตาข่ายบังแดด ขณะที่เหล็กแผ่นลูกฟูกทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้น ทั้งหมดนี้สะท้อนจากกรณีการเสียชีวิตของแรงงานไทยในต้นปี 2023 ที่มีสาเหตุจากสารพิษไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) โดยคาดว่า เขาได้รับผลกระทบจากการพักอาศัยในเล้าหมูที่เต็มไปด้วยมูลของสัตว์นับ 100 ชีวิต

นอกจากนี้ ข้อจำกัดของกฎหมายยังส่งผลต่อจำนวนแรงงานประเภทการดูแลและครัวเรือน เนื่องจากชาวเกาหลีจำนวนมากไม่นิยมทำงานดังกล่าว เพราะค่าจ้างน้อยและยากเกินไปสำหรับพวกเขา

หนทางแก้ไขปัญหาของเกาหลีใต้

ปัจจุบัน เกาหลีใต้พยายามดำเนินหลากหลายมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ดังต่อไปนี้

1.ระยะสั้น – รัฐบาลประกาศโครงการจ้างแรงงานต่างชาติในประเภทการดูแลและครัวเรือน 100 คน ซึ่งขอบเขตการทำงานจะจำกัดแค่เฉพาะกรุงโซล โดยจะเริ่มปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2023 

ทว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะต้องคิดคำนวณอย่างละเอียดเป็นพิเศษ หลัง​ โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) นายกเทศมนตรีกรุงโซล เผยว่า ค่าจ้างที่แรงงานต่างชาติได้รับเป็นเพียง ‘เศษเสี้ยว’ หากเทียบกับการทำงานในฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ที่ 2-3 ล้านวอน (ประมาณ 5.5 หมื่น-9.9 หมื่นบาท) จากค่าจ้างราว 1-2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5 แสน-1 ล้านบาท)

2.ระยะยาว – ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มีแผนเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติ รวมถึงแก้ไขขอบเขตของงานที่ไม่ได้จำกัดแค่ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเท่านั้น

3. พยายามปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงาน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ตรากฎหมายเพื่อสร้างมาตรฐานให้กับแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ 

อ้างอิง

https://www.npr.org/2023/03/19/1163341684/south-korea-fertility-rate

https://edition.cnn.com/2023/09/01/asia/south-korea-migrant-domestic-worker-intl-hnk/index.html

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/South-Korea-turns-to-migrant-labor-to-fuel-growth

https://thediplomat.com/2023/05/dashed-korean-dreams-the-plight-of-migrant-workers/

Tags: , , , , ,