เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกรณีที่ศิลปินแรปเปอร์ไทยสุดฮอตอย่าง ‘มิลลิ’ ต้องยกเลิกการเดินทางไปเล่นคอนเสิร์ตในเทศกาลดนตรี Hiphopplaya Festival ที่เกาหลีใต้ ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 18 กันยายน โดยทางค่ายต้นสังกัดอย่าง YUPP! ออกแถลงการณ์ชี้แจง ระบุว่า มิลลิไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องวีซ่า ทำให้มิลลิกลายเป็นอีกหนึ่งศิลปินต่อจาก ‘นนท์ ธนนท์’ ที่ไม่สามารถเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ต Nont Tanont Australian Tour (Live in Melbourne) ที่ออสเตรเลีย เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับวีซ่าเช่นกัน

สำหรับกรณีของมิลลิ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดีย เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยจำนวนไม่น้อยก็ถูกปฏิเสธการเข้าประเทศเกาหลีใต้เช่นกัน โดยมีการเชื่อมโยงว่า การเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ที่ยากขึ้น เป็นสาเหตุมาจากปัญหา ‘ผีน้อย’ ไทยที่ลักลอบเข้าไปเป็นแรงงานในประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งมีมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากที่เกาหลีใต้กลับมาเปิดประเทศหลังโควิด-19 อีกครั้ง 

 

แรงงานไทยในเกาหลีใต้

หากย้อนกลับไปตั้งแต่อดีต แรงงานไทยเริ่มเดินทางเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2531 โดยสาเหตุที่แรงงานไทยเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ เนื่องจากสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของเกาหลีใต้ขาดแคลนแรงงานฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ เพราะค่านิยมของคนเกาหลีใต้ที่นิยมทำงานในกิจการขนาดใหญ่หรือกิจการที่มีเทคโนโลยีสูง และปฏิเสธงานประเภท ‘3D’ ซึ่งหมายถึง งานยากลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานเสี่ยงอันตราย (Dangerous)

นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานในเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่จูงใจให้แรงงานต่างชาติหลั่งไหลเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ตามกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมการเข้าออกของประเทศเกาหลีใต้ปี พ.ศ. 2520 (Exit and Entry Control Act 1977) ไม่อนุญาตให้คนงานต่างชาติทำงานในเกาหลีใต้ ยกเว้นงานพิเศษบางประเภท และการเข้าไปฝึกอบรมการทำงานหรือเข้าไปทำงานผ่านบริษัทร่วมทุนของเกาหลีใต้ 

ปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ สู่การเป็นผีน้อย 

สำหรับปัญหาแรงงานไทยในเกาหลีใต้ที่สำคัญคือ ‘การสื่อสาร’ เนื่องจากแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาเกาหลีได้ดีพอ จึงมีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างได้ง่าย รวมถึงปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับการทำงาน ภูมิอากาศ และวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่สุด ซึ่งทำให้แรงงาน EPS (Employment Permit System) ซึ่งเป็นระบบการจ้างแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือของสาธารณรัฐเกาหลี หลบหนีนายจ้าง เพราะไม่สามารถทนทำงานประเภท 3D ได้ และไม่สามารถย้ายงานได้ เนื่องจากการอนุญาตให้ย้ายงานแก่แรงงานไร้ฝีมือภายใต้ระบบ EPS เป็นสิทธิของนายจ้างฝ่ายเดียว (หากนายจ้างไม่ได้กระทำผิดกฎหมายแรงงาน) แรงงานส่วนใหญ่จึงหาทางออกด้วยการหลบหนีนายจ้างไปเป็นแรงงานผิดกฎหมาย   

นอกจากนี้ กระแสของคนไทยบางกลุ่มที่นิยมไปเป็น ‘ผีน้อย’ ในเกาหลีใต้ สืบเนื่องจากกลุ่มแรงงานก่อนหน้าสามารถไปทำงานจนตั้งตัวที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ จึงเกิดเป็นการรวมกลุ่มของคนไทยในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นช่องทางในการชักชวนคนรู้จักเข้าไปทำงานด้วยกัน และให้ความช่วยเหลือกัน จนเพิ่มจำนวนขึ้น 

ยังมีเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ทำให้คนชนชั้นแรงงานไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จึงเลือกหนทางสู่การเสี่ยงออกไปหางานทำนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่อง ‘แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี’ (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) โดย ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ที่พบว่าแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายที่เกาหลีนั้น ส่วนใหญ่จะมองในเรื่องค่าตอบแทนเป็นหลัก

ขณะที่ในแง่หนึ่ง เกาหลีใต้เองก็มีความต้องการแรงงานที่มีค่าจ้างถูกค่อนข้างมาก เนื่องจากแรงงานที่มีการศึกษาสูงปฏิเสธที่จะทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก เช่น งานโรงงาน หรืองานภาคเกษตรกรรม ซึ่งก็เป็นช่องทางที่ทำให้แรงงานไทยจำนวนไม่น้อยอาศัยโอกาสนี้ในการเข้าสู่ระบบการทำงานโดยผิดกฎหมาย

ผู้อพยพผิดกฎหมายในเกาหลีใต้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ เปิดเผยข้อมูลสถิติประจำปีของหน่วยบริการตรวจคนเข้าเมือง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา พบยอดผู้อพยพผิดกฎหมาย 395,068 คน (ยอดล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2565) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 และสูงสุดเป็นประวัติการณ์

มีการวิเคราะห์ว่า จำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการการผ่อนคลายมาตรการกักกันโรคในเกาหลีใต้ และการเปิดประเทศ ขณะที่บรรดาแรงงานต่างชาติ E-9 ที่หมดสัญญาจ้างก็เลือกที่จะไม่เดินทางกลับบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการคาดการณ์แนวโน้มว่าจำนวนผู้อพยพผิดกฎหมายจะเพิ่มขึ้นอีก หากมีการเปิดให้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยผ่อนปรนมาตรการกักกันโรคอีกครั้ง

สถิติจำนวนคนงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศที่เกาหลีใต้ ประจำเดือนสิงหาคม 2565

– การแจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง 11 คน

– กรมการจัดหางานจัดส่ง 96 คน

– นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน 7 คน

– นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน 1 คน

– RE-ENTRY VISA 410 คน

รวมทั้งสิ้น 525 คน

สถิติจำนวนคนงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศที่เกาหลีใต้ ประจำปี โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2565

– การแจ้งการเดินทางด้วยตัวเอง 48 คน

– กรมการจัดหางานจัดส่ง 2,614 คน

– นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน 49 คน

– นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงาน 7 คน

– RE-ENTRY VISA 1,740 คน

รวมทั้งสิ้น 4,458 คน

สถิติคนไทยในเกาหลีใต้ (ถึงเดือนมิถุนายน 2565)

– พำนักถูกกฎหมาย 42,538 คน

– พำนักผิดกฎหมาย 139,245 คน

แรงงานไทยเข้าเมืองเกาหลีใต้ถูกกฎหมาย (ถึงเดือนกรกฎาคม 2565)

– กลุ่มวีซ่าทำงานระยะสั้น (วีซ่า C-4) 23,472 คน

– กลุ่มแรงงานตามระบบ EPS 17,033 คน

อย่างไรก็ดี สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ได้เผยแพร่ประกาศระบุว่า บุคคลต่างชาติที่พำนักแบบผิดกฎหมายซึ่งได้รับวัคซีนโควิดเข็ม 3 ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 หากเดินทางออกนอกสาธารณรัฐเกาหลีภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2565 จะได้รับการยกเว้นค่าปรับและไม่ถูกนำชื่อบรรจุในรายชื่อบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี แต่ทั้งนี้ หากออกจากสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว จะสามารถกลับเข้าไปใหม่ได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ตม.เกาหลีใต้

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลภาพรวมที่น่าสนใจของแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยเว็บไซต์กระทรวงแรงงานได้เผยแพร่สถิติแรงงานไทยในต่างประเทศ (เดือนกรกฎาคม 2565) ดังนี้

– แรงงานไทยในต่างประเทศ (ถูกกฎหมาย) 367,944 คน

– แรงงานไทยในต่างประเทศ (ผิดกฎหมาย) 181,236 คน

– คนไทยที่พำนักต่างประเทศผิดกฎหมาย 134,458 คน

 

ข้อมูลอ้างอิง

doe.go.th

bbc.com

korea.mol.go.th

immigration.go.th

thansettakij.com

thaikuk.com

Tags: , , , , , ,