สำหรับคอซีรีส์เกาหลีเป็นที่รู้กันดีว่า วัฒนธรรมการกินของประเทศเกาหลีใต้มักแทรกซึมในแต่ละฉากอย่างแยบยล และหนึ่งในนั้นคือ ธรรมเนียมการ ‘ดื่ม’ แอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะ ‘โซจู’ (Soju) หรือ ‘มักกอลลี’ (Makkoli) เครื่องดื่มมึนเมาประจำชาติของเกาหลีใต้ 

ภาพเหล่านี้สะท้อนจากซีรีส์และวาไรตีชื่อดัง นับตั้งแต่ Itaewon Class หนึ่งในซีรีส์แห่งปี 2020 ที่นอกจากเนื้อหาเข้มข้นน่าติดตาม ยังเต็มไปด้วยอาหารจานเด็ดและของมึนเมา จนเกิดประโยคเด็ดที่กลายเป็นคำคมพักใหญ่คือ ‘ถ้าดื่มโซจูแล้วรู้สึกหวาน แปลว่าวันนี้เจอเรื่องครึ้มอกครึ้มใจมา’ 

หรือแม้แต่ Paik’s Spirit (2021) รายการอาหารวาไรตีทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) โดย แพค จงวอน (Baek Jong-won) เซเลบริตีเชฟชื่อดัง ก็แนะนำว่า การดื่มแอลกอฮอล์ของเกาหลียอดเยี่ยมไม่แพ้อาหารเกาหลี และเปรียบดัง ‘จิตวิญญาณ’ ของชาติ ซึ่งเผยให้เห็นผ่านฉากนั่งล้อมวงกินอาหาร โดยมีโซจูหรือเบียร์ตั้งแนบกายอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล

ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ ผู้เชี่ยวชาญ ดาราชั้นนำ และแฟน K-Pop บางส่วนกำลังตั้งคำถามกับภาพจำดังกล่าว หลังภาพวัฒนธรรมการดื่มแพร่หลายโดยไม่ผ่านการกลั่นกรองในหน้าสื่อ จนทำให้หลายคนจดจำในแง่ที่เป็น ‘มิตร’ มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเด็กและวัยรุ่นที่กำลังชมได้

ทั้งนี้สถาบันส่งเสริมสุขภาพเกาหลี (Korea Health Promotion Institute: KHPI) เผยสถิติที่น่าสนใจว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพการดื่มแอลกอฮอล์ในซีรีส์ปรากฏถึง 56.6% หรือคิดเป็น 6,558 ตอนจากทั้งหมด 11,587 ตอน ขณะที่รายการวาไรตียอดนิยมของประเทศมีฉากการดื่มถึง 448 รายการจาก 556 รายการ หรือคิดเป็น 88% ของทั้งหมด

สถิติดังกล่าวยังรวมถึงการสตรีมมิงบนออนไลน์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 82 ตอนจาก 100 ตอนที่มีฉากเห็นหรือเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มมึนเมา โดยโคเรียไทม์ (Korea Times) สื่อท้องถิ่นเผยชื่อลิสต์รายการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ Nothing Much Prepared รายการบนยูทูบของ อี ยองจี (Lee Young-ji) ไอคอนขวัญใจเจนซีและแรปเปอร์สาวมหัศจรรย์ ที่เชิญแขกคนดังเข้ามาร่วมดื่มและพูดคุยเผยความในใจ รวมถึงรายการ Zzan Bro ของ ชิน ดงยอบ (Shin-Dong yeob) พิธีกรชื่อดังที่มีผู้ติดตามถึง 1.59 ล้านคน

นอกจากนี้สถาบันยังได้รับแจ้งถึงฉาก ‘สุ่มเสี่ยง’ ถึง 86 กรณี หลังปรากฏท่าทีเชิงบวกต่อแอลกอฮอล์ การแสดงพฤติกรรมร้ายแรงระหว่างดื่ม การสนับสนุนให้เยาวชนดื่ม หรือการโฆษณา ซึ่งทั้งหมดขัดต่อกฎการออกอากาศของเกาหลีใต้

ทั้งนี้ นัม อินซุน (Nam In-soon) สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic Party of Korea) เปิดเผยรายงานต่อหน้าสื่อ พร้อมระบุว่า แม้จะสามารถใช้มาตรการควบคุมกับสื่อทางโทรทัศน์ได้ แต่ไม่อาจเข้าถึง ‘พื้นที่สีเทา’ อย่างรายการแพลตฟอร์มสตรีมอย่างยูทูบ เนื่องจากไร้กฎข้อระเบียบชัดเจน

สำหรับประเด็นการจำกัดแอลกอฮอล์ในหน้าสื่อ เริ่มมีการถกเถียงตั้งแต่ปี 2012 หลังการปรากฏตัวของ ‘ไอยู’ (IU) นักร้องเจ้าของฉายาน้องสาวแห่งชาติ ในฐานะพรีเซนเตอร์แบรนด์โซจูชื่อดัง ด้วยวัยเพียง 21 ปีขณะนั้น ถูกตั้งคำถามจากรัฐสภาเกาหลีใต้ นำไปสู่ข้อเสนอเปลี่ยนแปลงให้อนุญาตเฉพาะคนดังอายุ 24 ปีขึ้นไป ที่สามารถปรากฏในโฆษณาแอลกอฮอล์ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ความอยากรู้อยากเห็นชีวิตของ ‘เซเลบริตี’: ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รายการ ‘ดื่มไปคุยไป’ เติบโต

นอกจากรายการวาไรตีชื่อดังหรือซีรีส์ กระแสรายการ ‘ดื่มไปคุยไป’ (Sulbang) กำลังเติบโตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีจุดเด่นคือ การนั่งจับเข่าคุยของเหล่าไอดอลหรือเซเลบริตีแบบเป็นกันเอง ทั้งในรายการเรียลลิตีหรือไลฟ์ พร้อมกับการดื่มของมึนเมา ซึ่งไม่จำกัดประเด็นของบทสนทนา

ฮา แจกึน (Ha Jae-geun) นักวิจารณ์วัฒนธรรมป็อปเผยสาเหตุผ่านโคเรียไทม์ (Korea Times) ว่า รายการดังกล่าวเติบโตได้ เพราะผู้คนอยากรู้อยากเห็นความเป็นไป หรือชีวิตส่วนตัวของเหล่าไอดอลและเซเลบริตี โดยมีแอลกอฮอล์เป็น ‘เครื่องทลายกำแพง’ ความเคอะเขินหรือทำให้เปิดใจพูดคุยกันมากขึ้น

“ผู้คนรู้สึกว่า รายการดื่มไปคุยไปให้ความรู้สึกจริงใจ และทำให้บทสนทนาเปิดกว้าง หากเทียบกับรายการที่เข้มงวด มันมีความเชื่อที่ว่า พวกเขาแบ่งปันเรื่องราวกันจริงๆ” 

แม้จะเป็นรายการบันเทิงให้ความสนุก แต่แจกึนกลับรู้สึกว่า พักหลังมานี้ลักษณะการดำเนินรายการเปิดกว้างมากจนเกินไป โดยเฉพาะการส่งเสริมภาพลักษณ์ของเครื่องดื่มมึนเมาในทางบวก หรือแม้แต่สนับสนุนให้เยาวชนดื่มจนทำให้กลายเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ทั้งที่แอลกอฮอล์มีผลเสียต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำให้เกาหลีใต้ถูกตราหน้าในฐานะ ‘ประเทศขี้เมา’ 

เกาหลีใต้ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศในโลกที่มีวัฒนธรรมการดื่มหนักหน่วง โดยมีความเชื่อว่า เป็นวิธีการผูกสัมพันธ์และผ่อนคลายจากความเครียด สะท้อนจากรายงานวัฒนธรรมการดื่ม National Korean Drinking Culture Study ในปี 2018 โดย 66.6% ของประชากร ดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องปกติ ขณะที่ 20% คือกลุ่มที่ ‘ติด’ สุรา 

นอกจากนี้ในปี 2023 มูลค่าการจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมาคิดเป็นเงิน 5.76 ล้านล้านวอน โดยเบียร์คือเครื่องดื่มอันดับหนึ่ง รองมาคือโซจู ซึ่งในบางครั้งคนเกาหลีมักนิยมผสมเครื่องดื่มทั้ง 2 อย่าง หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘โซแมก’ (Somaek) 

อ้างอิง

https://www.koreatimes.co.kr/www/art/2024/10/688_385283.html

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3150719/netflix-celebrities-jay-park-lee-joon-gi-and-kim-yeon-koung

https://www.statista.com/statistics/964750/south-korea-alcoholic-beverages-domestic-sales-value/

https://www.scmp.com/week-asia/people/article/3040975/k-pop-alcohol-ads-face-ban-south-korea-amid-rise-underage-drinking

https://evoice.ewha.ac.kr/news/articleView.html?idxno=20046

Tags: , , , , , ,