เมื่อวานนี้ (23 เมษายน 2024) ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้เริ่มพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) หลังนักเคลื่อนไหวเยาวชนเกาหลีใต้จำนวนหนึ่งยื่นฟ้องรัฐบาล ฐาน ‘ล้มเหลว’ ในการปกป้องประชาชนจากภาวะโลกรวน
ตามรายงานของรอยเตอร์ (Reuters) การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ครั้งนี้ เป็นหมุดหมายแรกในเอเชียต่อภาวะโลกรวน ที่หยิบยกขึ้นมามีบทบาทในทางกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการฟ้องร้องทั้งหมด 4 ครั้งด้วยกัน
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นในปี 2020 เมื่อ คิม ยูจิน (Kim Yu-jin) นักเรียนมัธยมปลายในเกาหลีใต้ พร้อมด้วยนักเคลื่อนไหวรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 29 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยฟ้องร้องรัฐบาลในข้อกล่าวหาว่า ไม่สามารถปกป้องประชาชนจากภาวะโลกรวนได้ ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการลดคาร์บอน และการพัฒนาสีเขียวของประเทศที่แก้ไขในเดือนธันวาคม 2019
กลุ่มนักเคลื่อนไหวดังกล่าวอธิบายว่า รัฐบาลไม่สามารถทำตามเงื่อนไขสำคัญ คือ การรักษาอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเชียส ที่เขียนอิงตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในด้านสิทธิในชีวิต (Right to Live) และสิทธิการมีสภาพแวดล้อมที่ดี (Right to Clean Environment)
“เราต้องการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะก่อนหน้านี้ เราลงมือในสิ่งที่คิดว่า อาจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการพูดคุยกับทางการ แต่ปรากฏว่า การบอกให้ผู้นำทางการเมืองปรับใช้นโยบายดังกล่าว ไม่เพียงพออีกต่อไป” คิม ยูจินให้สัมภาษณ์ผ่านไทม์ (TIME)
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ชื่อว่า ‘นกหัวขวาน’ ในภาษาเกาหลี ซึ่งมาจากชื่อของหนึ่งในผู้ฟ้องร้องคือ ‘ทารกในครรภ์’ (แต่เกิดหลังการฟ้องร้อง) ประกอบกับโจทก์อายุต่ำกว่า 5 ปีอีก 62 คน ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในปี 2022 ว่า รัฐบาลล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึงการปฏิบัติตามกลไกการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC) ในข้อตกลงปารีส ที่ระบุให้เกาหลีใต้จำกัดปริมาณคาร์บอนต่อประชากรที่ 1.5 และ 1.7 ภายในปี 2030
อย่างไรก็ตาม อี จองซอก (Lee Jong-seok) ประธานศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ แสดงความคิดเห็นเมื่อวานนี้ว่า คดีความที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกรวน กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลกและเกาหลีใต้ ซึ่งกระทบต่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
“ศาลรัฐธรรมนูญเล็งเห็นความสำคัญและผลประโยชน์ของสาธารณะในคดีดังกล่าว เราขอการันตีว่า การพิจารณาครั้งนี้จะเป็นดำเนินไปอย่างละเอียดถี่ถ้วน” อี จองซอกระบุ
แม้ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเบื้องต้น แต่รายงานระบุเพิ่มเติมว่า ทนายความฝั่งรัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดว่า ภาครัฐพยายามทำทุกหนทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อคนหนุ่มสาว หรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ก่อนจะยืนยันว่า ขณะนี้ทางการกำลังดำเนินมาตรการเพื่อปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการลดอัตราคาร์บอนอยู่
ทว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยแสดงความอัดอั้นต่อท่าทีของรัฐบาล สะท้อนจากภาพการชุมนุมของเยาวชนคนหนุ่มสาวนับ 10 ชีวิต รวมถึงเด็กน้อยอายุ 1 ปี ที่มีความหมายของชื่อว่า นกหัวขวาน พร้อมมารดาหน้าศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศกร้าวให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน
“กระบวนการลดคาร์บอนนั้นถูกทำให้ชะงักตลอด ราวกับว่ามันคือการบ้านที่ทำเสร็จในภายหลังได้ แต่ภาระจะตกอยู่ที่ลูกหลานของเราในท้ายที่สุด” อี ดงฮยอน (Lee Dong-hyun) แม่ของเด็กน้อยวัย 1 ปีดังกล่าวแสดงความคิดเห็น
“มีภูเขาลูกหนึ่งตั้งอยู่ที่หลังบ้านของเรา พวกเด็กๆ มักพูดเสมอว่า ที่อยู่อาจจะถูกดินถล่มในไม่ช้า แล้วใครจะรู้? มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้” นัมกุง ซูจิน (Namkung Su-jin) แม่ของเด็กวัย 8 ขวบที่ยื่นฟ้องร้อง พูดถึงผลกระทบของภาวะโลกรวน ซึ่งในมุมมองของเธอ สิ่งเหล่านี้ใกล้ตัวมากกว่าใครหลายคน และเด็กที่ดูเหมือนกับไม่รู้เดียงสา ยังสังเกตเห็นความผิดปกติ
นอกจากผลกระทบของภาวะโลกรวนอย่างน้ำท่วมหรืออุณหภูมิขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้ที่เห็นได้ชัดคือวิกฤตฝุ่นควันหรือ PM2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยสำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานในปี 2019 ว่า ค่า PM2.5 สูงสุดของประเทศอยู่ที่ 118 ไมโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังส่งผลกระทบร้ายแรงด้านสุขภาพต่อระบบทางเดินหายใจทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดที่ต้องเข้ารับการรักษา
ก่อนหน้านี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศของทวีปยุโรป หนึ่งในนั้นคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังหญิงสวิสวัย 64 ปี ยื่นฟ้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป (European Court of Human Rights) ว่า การกระทำของรัฐบาลที่ขัดต่อแนวทางการปกป้องภาวะโลกรวน กำลังเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตของประชาชนจากคลื่นความร้อนมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุด คดีความนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาล
อ้างอิง
https://climatecasechart.com/non-us-case/woodpecker-et-al-v-south-korea/
https://www.sdgmove.com/2021/08/05/sdg-vocab-43-nationally-determined-contributions-ndcs/
https://climatecasechart.com/non-us-case/kim-yujin-et-al-v-south-korea/
https://www.bbc.com/news/world-asia-48346344
https://www.koreatimes.co.kr/www/opinion/2024/04/137_352007.html
Tags: ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้, Environment, เกาหลีใต้, สิ่งแวดล้อม, เยาวชน, ศาลรัฐธรรมนูญ, climate change, อากาศเปลี่ยนแปลง