สำหรับคนที่อื่น เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่อาจเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และความหวังแห่งการเริ่มต้นใหม่ แต่สำหรับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2566 จบลงด้วยอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ฉับพลันและรุนแรง ส่งผลต่อเนื่องถึงศักราชใหม่ 2567 ที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการฟื้นฟูบ้านเรือนที่ผุพังเต็มไปด้วยดินโคลน
ว่ากันว่านี่คือน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดที่หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบในรอบ 50 ปี (หนักที่สุดในรอบ 70 ปี สำหรับบางพื้นที่) ส่งรับผลกระทบครอบคลุมพื้นที่ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล แบ่งออกเป็น 14 อำเภอ 49 ตำบล 166 หมู่บ้าน หรือกว่า 7.1 หมื่นครัวเรือน
แม้ในวันนี้ (10 มกราคม 2567) สถานการณ์น้ำคลี่คลายลงแล้วเกือบทั้งหมด แต่ความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยไม่ได้จบลงพร้อมกับน้ำท่วม เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ในชายแดนใต้ขณะนี้ห่างไกลจากคำว่า ‘ภาวะปกติ’
อัปเดตสถานการณ์ #น้ำท่วมภาคใต้
ตั้งแต่ฝนเริ่มตกหนักในช่วงปลายปี หน่วยงานที่เข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนคือกองทัพบก หลังจากเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเข้าไปถึงพื้นที่ประสบภัยได้ทันท่วงที พร้อมภารกิจสกัดกั้นยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดน
ทั้งนี้ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยให้สัมภาษณ์ว่า แม้ปริมาณน้ำจะลดลงแล้ว แต่การเร่งฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยยังคงเป็นภารกิจสำคัญของกองทัพ โดยหลังจากลงพื้นที่ในวันที่ 9 มกราคม 2566 สุทินพบว่า ชายแดนใต้ประสบความเสียหายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างบ้านเรือน หนทางประกอบอาชีพ หรือถนนหนทาง แต่ภารกิจที่มีความเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่สุดที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือเรื่องของที่อยู่อาศัย
แม้ตอนนี้หลายหน่วยงานจะบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ราบรื่นดี แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเชิงระบบ นั่นคือการทำงบประมาณตามขั้นตอน โดยที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ อาศัยงบประมาณภายในองค์กรของตัวเองในการแก้ปัญหาไปก่อนเฉพาะหน้าจนงบประมาณร่อยหรอ แม้การจัดสรรงบประมาณมาเพิ่มเติมตามความจำเป็นจะสามารถทำได้ แต่แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ย่อมมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้งบมาไม่ทันแก้ปัญหา
ปัจจุบัน มีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ว่า อาจมีมูลค่ามากกว่างบประมาณของรัฐตามระเบียบของส่วนราชการ จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาลเปิดรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนในโลกมุสลิมหลายประเทศที่รับทราบข่าวความเดือดร้อนของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ และต้องการสนับสนุนพวกเขา แต่ขณะนี้ความช่วยเหลือส่วนนี้ยังขาดระบบการจัดการที่แน่นอนจากภาครัฐ จึงยังเป็นการยากที่ผู้ประสบภัยจะสามารถเข้าถึงทุนเหล่านี้ได้
จะเห็นได้ว่ามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยส่วนใหญ่เป็นไปในรูปแบบของการ ‘ตั้งรับ’ นั่นคือเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้วจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ มีการรับบริจาคและแจกถุงยังชีพ เช่นเดียวกับที่ผ่านมา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศและภัยพิบัติในพื้นที่ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า ประเทศไทยขาดมาตรการและนโยบายรับมือสภาพภูมิอากาศ ‘เชิงรุก’ ที่เข้มแข็ง ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น
1. การเก็บข้อมูลแผนผังพื้นที่ เพื่อให้ทราบตำแหน่งของกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนกว่ากลุ่มอื่น เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ตลอดจนปศุสัตว์ของประชาชน
2. การสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดเหตุอุทกภัย การประชาสัมพันธ์วิธีการเตรียมตัว การอ่านข้อมูลสถานการณ์น้ำจากสภาพอากาศ
เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
วิกฤตสภาพภูมิอากาศ คือปัจจัยหลักที่เร่งให้เหตุการณ์ภัยพิบัติและสภาพอากาศสุดขั้วค่อยๆ เกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ชุมชนหลายหมื่นครัวเรือนทั่วโลก โดยเฉพาะเมืองชายฝั่งทั่วเอเชียได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากน้ำท่วม ที่เพิ่มมากขึ้นจากระดับน้ำทะเลและพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงขึ้น
โดยประชากรส่วนหนึ่งที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่าอาจไม่มีทางเลือก จำต้องโยกย้ายถิ่นฐาน หรือมิเช่นนั้น ก็ต้องปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตภายใต้สถานการณ์ในพื้นที่นั้นๆ ที่กำลังเลวร้ายลงให้ได้
รายงานของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก (Greenpeace East Asia) คาดการณ์ว่า ภายในปี 2573 ประชาชนในทวีปเอเชียกว่า 15 ล้านคนใน 7 เมืองจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นคือประเทศไทย ซึ่งถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ วิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ตามดัชนี Global Climate Risk Index
ทั้งนี้ อุทกภัยถือเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากที่สุดใน 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในแง่ของความเสียหายทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ของชาติ โดยมีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการที่สภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะแปรปรวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภายหลังจากปี 2630 หรืออีกไม่ถึง 100 ข้างหน้า อุณหภูมิเฉลี่ยอาจพุ่งสูงขึ้นอีก 0.95-3.23 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจส่งผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษต่อชีวิตประจำวันของประชาชนที่อาศัยในภาคใต้ของประเทศไทย
แม้ตอนนี้ ระดับน้ำจะลดลงแล้วในเกือบทุกพื้นที่ในภาคใต้และเจ้าหน้าที่ก็กำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับพวกเขา ปี 2567 ที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
อ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/articles/c2jy79pyxzno
https://www.bbc.com/thai/articles/c25ykydd9dwo
https://www.thaipost.net/general-news/514642/
https://mgronline.com/south/detail/9670000002284
https://dicf.unepgrid.ch/thailand/climate-change
Tags: Environment, น้ำท่วม, น้ำท่วมภาคใต้, climate change, อุทกภัย, ภัยพิบัติธรรมชาติ