ใครจะคิดว่า แอฟริกาใต้ประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ยังคงมี ‘ส้วมหลุม’ สัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกสีผิวนับตั้งแต่ยุคอาณานิคมอยู่

เมื่อวานนี้ (5 กรกฎาคม 2023) อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานถึงสถานการณ์ส้วมหลุมในประเทศแอฟริกาใต้ หลังรัฐบาลเผยสถิติว่า จากโรงเรียนรัฐทั้งหมด 2.3 หมื่นแห่ง ยังมีอีก 3,300 โรงเรียน ที่ใช้ส้วมหลุมที่มีความลึกถึง 3 เมตรอยู่

ปัญหาของส้วมหลุมไม่ได้จบแค่ความไม่สะดวกสบาย เพราะสิ่งนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัย อุบัติเหตุร้ายแรงอย่างการจมน้ำเสียชีวิต หรือการพลาดตกส้วมก็ตาม 

จากรายงานของสื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กผู้หญิงวัย 4 ขวบ เสียชีวิตในส้วมหลุมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape Province) และ 1 เดือนต่อมา พบผู้หญิงอายุ 20 ปี เสียชีวิตในส้วมหลุมบริเวณสวนหลังบ้านของญาติในรัฐอิสระทางตอนกลางของภูมิภาค

ขณะที่ รีฟิลเว ดิโลน (Refilwe Diloane) หญิงสาวคนหนึ่ง บอกเล่าประสบการณ์กับเอเอฟพี (AFP) ว่าลูกชายของเธอตกลงไปในห้องน้ำหลุมของโรงเรียน ส่งผลให้เขาบาดเจ็บ สมองเสียหายอย่างรุนแรง และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) โรคลมบ้าหมู และออทิสติก 

“เขาเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำและหัวปูด รวมถึงมีกลิ่นอุจจาระลอยออกมาจากปากเขา

“เขาเคยแข็งแรงสมบูรณ์ และเป็นเด็กที่ฉลาดมากๆ ฉันเคยคิดว่า เขาอาจเป็นประธานาธิบดีได้ในอนาคต” ดิโลนกล่าวพร้อมน้ำตาด้วยความเศร้า แม้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 แต่ผลกระทบระยะยาวต่อลูกชายของเธอไม่มีวันลบเลือนหายไปได้ เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ลำพังแค่การคิดประโยคเพื่อเรียงร้อยเป็นถ้อยคำยังยากลำบาก

มากกว่าอุบัติเหตุและสุขอนามัย: ‘ส้วมหลุม’ คือสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกและการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ในแอฟริกาใต้ 

การมีอยู่ของส้วมหลุมยังเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การแบ่งแยกสีผิว’ ที่มีมรดกจากระบอบอาณานิคม เมื่อประเทศแอฟริกาใต้ก่อนปี 1994 มีกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติคนผิวขาวออกจากคนผิวดำ หรือ ‘Native Land Act, 1913’ โดยกลุ่มประเทศเจ้าอาณานิคมจากทวีปยุโรป 

ปัญหาดังกล่าวแทรกซึมไปถึงมิติระบบการศึกษาภายใต้กฎหมาย Bantu Education Act, 1953’ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนดำกับคนขาวในรั้วสถานศึกษา โรงเรียนสำหรับคนผิวดำถูกบังคับให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ไร้มาตรฐาน และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ขณะที่โรงเรียนของกลุ่มคนผิวขาวมีอุปกรณ์ที่จำเป็นครบครันทุกอย่าง 

นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมโรงเรียนของกลุ่มคนผิวดำถึงมีส้วมหลุม และขาดทรัพยากรที่เหมาะสมอย่างการมีน้ำดื่มและห้องสุขายุคใหม่ที่ปลอดภัย

แม้ว่าหลังปี 1994 เป็นต้นมา แอฟริกาใต้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิและความเท่าเทียมกับกลุ่มคนผิวดำ แต่ความท้าทายด้านสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะในโรงเรียนชนบท ที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้

ที่มา: AFP

และไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าว่า ปัญหานับตั้งแต่ยุคอาณานิคมจะดำเนินมาถึงปัจจุบัน แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแอฟริกาใต้ (South African Human Rights Commission: SAHRC) เคยมีท่าทีเรียกร้องและประณามการมีอยู่ของส้วมหลุมตามโรงเรียนตั้งแต่ปี 2014 ว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน 

รวมถึงรัฐบาลแอฟริกาใต้ภายใต้การนำของ ไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) เคยสัญญาถึง 2 ครั้งว่า จะยกเลิกส้วมแบบเปิด แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพิ่มขึ้นเลย

ทำไมการมีอยู่ของส้วมหลุมในแอฟริกาใต้ถึงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา?

สาเหตุที่ปัญหาส้วมหลุมในแอฟริกาใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะความล่าช้าของรัฐบาลและแรงจูงใจที่ไม่มากพอ เมื่อรามาโฟซาเคยสัญญาในปี 2018 ว่าจะใช้เงินจำนวน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 17 ล้านบาท) เพื่อกำจัดมรดกแห่งยุคอาณานิคมทิ้ง 

ไซริล รามาโฟซา ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ (ที่มา: AFP)

แต่กลับกลายเป็นว่า แองจี มอตเชกกา (Angie Motshekga) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนการขจัดส้วมหลุมออกไปเป็นภายในปี 2025 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะถูกกดดันจากกลุ่มประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากส้วมหลุมก็ตาม

“ความจริงที่พวกเขาพลาดเดดไลน์ที่กำหนดเอง นั่นก็บ่งชี้แล้วว่า แอฟริกาใต้ขาดเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา” ซิบูซิโซ คาซา (Sibusiso Khasa) เจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี (Amnesty) ให้ความเห็นกับอัลจาซีรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศแห่งนี้ประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น อ้างอิงจากธนาคารโลก (World Bank) แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปแอฟริกาก็ตาม 

ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำนี้ เป็นผลพวงจากระบอบอาณานิคม หลังเด็กผิวดำจำนวนมากถูกกีดกัน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ขาดทักษะที่จำเป็น แอฟริกาใต้จึงเกิดวิกฤตการว่างงาน และสภาวะความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 นอกจากนั้น ครอบครัวผู้มีอันจะกินสามารถส่งลูกของตนเองเรียนโรงเรียนเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าโรงเรียนรัฐถึง 3 เท่า นั่นก็ทำให้พวกเขามีสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลกสมกับค่าเทอมราคาแพงหูฉี่ ขณะที่โรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มชนบท ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้แต่ส้วมที่ถูกสุขลักษณะก็ตาม 

แรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาใต้จึงยังไม่มากพอ เพราะบางส่วนไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร ตราบใดที่พวกเขายังสุขสบาย และมีโอกาสใช้ส้วมเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วของโลก 

ขณะที่ความเจ็บปวดของเหยื่อจากส้วมหลุมยังคงตราตรึง โดยเฉพาะเรื่องราวของลูกชายดิโลน ยังคงสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในละแวกที่เธออาศัย

“พวกเรารู้สึกกลัวแทนลูกๆ ของตัวเอง เมื่อเราพาเด็กๆ ไปโรงเรียน เรามักจะคิดว่า (…) พวกเขาจะปลอดภัยในที่แห่งนั้น แต่พอเรื่องเช่นนี้ (อุบัติเหตุตกส้วม) เกิดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดทางจิตใจอย่างมาก” เลอโบแกง เลอเบธ (Lebogang Lebethe) หญิงสาวที่มีลูกวัยเดียวกับลูกชายของดิโลน เปิดเผยความรู้สึกกับเอเอฟพี 

 

อ้างอิง

O K Odeku, “Critical Analysis of School Pit Toilet System as an Impediment to the Right to Access Quality Education in South Africa,” African Journal of Public Affairs 13, No. 1 (Jun 2022): 97-102, https://doi.org/10.10520/ejc-ajpa_v13_n1_a6.

https://www.france24.com/en/live-news/20230705-dangerous-and-degrading-pit-toilets-blight-s-africa-schools

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/5/scared-for-our-kids-pit-toilets-endanger-south-african-pupils

Tags: , , , , , , , , , , , , ,