ใครจะคิดว่า แอฟริกาใต้ประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรมมากที่สุดในทวีปแอฟริกา ยังคงมี ‘ส้วมหลุม’ สัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกสีผิวนับตั้งแต่ยุคอาณานิคมอยู่
เมื่อวานนี้ (5 กรกฎาคม 2023) อัลจาซีรา (Al Jazeera) รายงานถึงสถานการณ์ส้วมหลุมในประเทศแอฟริกาใต้ หลังรัฐบาลเผยสถิติว่า จากโรงเรียนรัฐทั้งหมด 2.3 หมื่นแห่ง ยังมีอีก 3,300 โรงเรียน ที่ใช้ส้วมหลุมที่มีความลึกถึง 3 เมตรอยู่
ปัญหาของส้วมหลุมไม่ได้จบแค่ความไม่สะดวกสบาย เพราะสิ่งนี้ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสุขอนามัย อุบัติเหตุร้ายแรงอย่างการจมน้ำเสียชีวิต หรือการพลาดตกส้วมก็ตาม
จากรายงานของสื่อท้องถิ่นเปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กผู้หญิงวัย 4 ขวบ เสียชีวิตในส้วมหลุมของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอีสเทิร์นเคป (Eastern Cape Province) และ 1 เดือนต่อมา พบผู้หญิงอายุ 20 ปี เสียชีวิตในส้วมหลุมบริเวณสวนหลังบ้านของญาติในรัฐอิสระทางตอนกลางของภูมิภาค
ขณะที่ รีฟิลเว ดิโลน (Refilwe Diloane) หญิงสาวคนหนึ่ง บอกเล่าประสบการณ์กับเอเอฟพี (AFP) ว่าลูกชายของเธอตกลงไปในห้องน้ำหลุมของโรงเรียน ส่งผลให้เขาบาดเจ็บ สมองเสียหายอย่างรุนแรง และได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า เป็นภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) โรคลมบ้าหมู และออทิสติก
“เขาเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำและหัวปูด รวมถึงมีกลิ่นอุจจาระลอยออกมาจากปากเขา
“เขาเคยแข็งแรงสมบูรณ์ และเป็นเด็กที่ฉลาดมากๆ ฉันเคยคิดว่า เขาอาจเป็นประธานาธิบดีได้ในอนาคต” ดิโลนกล่าวพร้อมน้ำตาด้วยความเศร้า แม้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2016 แต่ผลกระทบระยะยาวต่อลูกชายของเธอไม่มีวันลบเลือนหายไปได้ เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ ลำพังแค่การคิดประโยคเพื่อเรียงร้อยเป็นถ้อยคำยังยากลำบาก
มากกว่าอุบัติเหตุและสุขอนามัย: ‘ส้วมหลุม’ คือสัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกและการเหยียดเชื้อชาติ (Racism) ในแอฟริกาใต้
การมีอยู่ของส้วมหลุมยังเป็นสัญลักษณ์ของ ‘การแบ่งแยกสีผิว’ ที่มีมรดกจากระบอบอาณานิคม เมื่อประเทศแอฟริกาใต้ก่อนปี 1994 มีกฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติคนผิวขาวออกจากคนผิวดำ หรือ ‘Native Land Act, 1913’ โดยกลุ่มประเทศเจ้าอาณานิคมจากทวีปยุโรป
ปัญหาดังกล่าวแทรกซึมไปถึงมิติระบบการศึกษาภายใต้กฎหมาย ‘Bantu Education Act, 1953’ ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างคนดำกับคนขาวในรั้วสถานศึกษา โรงเรียนสำหรับคนผิวดำถูกบังคับให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ไร้มาตรฐาน และไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา ขณะที่โรงเรียนของกลุ่มคนผิวขาวมีอุปกรณ์ที่จำเป็นครบครันทุกอย่าง
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมโรงเรียนของกลุ่มคนผิวดำถึงมีส้วมหลุม และขาดทรัพยากรที่เหมาะสมอย่างการมีน้ำดื่มและห้องสุขายุคใหม่ที่ปลอดภัย
แม้ว่าหลังปี 1994 เป็นต้นมา แอฟริกาใต้จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิและความเท่าเทียมกับกลุ่มคนผิวดำ แต่ความท้าทายด้านสุขอนามัยยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะในโรงเรียนชนบท ที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้
และไม่น่าเชื่อยิ่งกว่าว่า ปัญหานับตั้งแต่ยุคอาณานิคมจะดำเนินมาถึงปัจจุบัน แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแอฟริกาใต้ (South African Human Rights Commission: SAHRC) เคยมีท่าทีเรียกร้องและประณามการมีอยู่ของส้วมหลุมตามโรงเรียนตั้งแต่ปี 2014 ว่าขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
รวมถึงรัฐบาลแอฟริกาใต้ภายใต้การนำของ ไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) เคยสัญญาถึง 2 ครั้งว่า จะยกเลิกส้วมแบบเปิด แต่กลับไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ เพิ่มขึ้นเลย
ทำไมการมีอยู่ของส้วมหลุมในแอฟริกาใต้ถึงไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา?
สาเหตุที่ปัญหาส้วมหลุมในแอฟริกาใต้ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เพราะความล่าช้าของรัฐบาลและแรงจูงใจที่ไม่มากพอ เมื่อรามาโฟซาเคยสัญญาในปี 2018 ว่าจะใช้เงินจำนวน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 17 ล้านบาท) เพื่อกำจัดมรดกแห่งยุคอาณานิคมทิ้ง
แต่กลับกลายเป็นว่า แองจี มอตเชกกา (Angie Motshekga) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศเลื่อนการขจัดส้วมหลุมออกไปเป็นภายในปี 2025 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม้ว่าจะถูกกดดันจากกลุ่มประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากส้วมหลุมก็ตาม
“ความจริงที่พวกเขาพลาดเดดไลน์ที่กำหนดเอง นั่นก็บ่งชี้แล้วว่า แอฟริกาใต้ขาดเจตจำนงทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา” ซิบูซิโซ คาซา (Sibusiso Khasa) เจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี (Amnesty) ให้ความเห็นกับอัลจาซีรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศแห่งนี้ประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น อ้างอิงจากธนาคารโลก (World Bank) แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แม้จะเป็นประเทศที่พัฒนาทางอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับต้นๆ ในทวีปแอฟริกาก็ตาม
ส่วนหนึ่งของความเหลื่อมล้ำนี้ เป็นผลพวงจากระบอบอาณานิคม หลังเด็กผิวดำจำนวนมากถูกกีดกัน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ขาดทักษะที่จำเป็น แอฟริกาใต้จึงเกิดวิกฤตการว่างงาน และสภาวะความยากจนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
นอกจากนั้น ครอบครัวผู้มีอันจะกินสามารถส่งลูกของตนเองเรียนโรงเรียนเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าโรงเรียนรัฐถึง 3 เท่า นั่นก็ทำให้พวกเขามีสิ่งอำนวยความสะดวกระดับโลกสมกับค่าเทอมราคาแพงหูฉี่ ขณะที่โรงเรียนรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มชนบท ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้แต่ส้วมที่ถูกสุขลักษณะก็ตาม
แรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในแอฟริกาใต้จึงยังไม่มากพอ เพราะบางส่วนไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไร ตราบใดที่พวกเขายังสุขสบาย และมีโอกาสใช้ส้วมเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วของโลก
ขณะที่ความเจ็บปวดของเหยื่อจากส้วมหลุมยังคงตราตรึง โดยเฉพาะเรื่องราวของลูกชายดิโลน ยังคงสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในละแวกที่เธออาศัย
“พวกเรารู้สึกกลัวแทนลูกๆ ของตัวเอง เมื่อเราพาเด็กๆ ไปโรงเรียน เรามักจะคิดว่า (…) พวกเขาจะปลอดภัยในที่แห่งนั้น แต่พอเรื่องเช่นนี้ (อุบัติเหตุตกส้วม) เกิดขึ้น นี่เป็นสิ่งที่เจ็บปวดทางจิตใจอย่างมาก” เลอโบแกง เลอเบธ (Lebogang Lebethe) หญิงสาวที่มีลูกวัยเดียวกับลูกชายของดิโลน เปิดเผยความรู้สึกกับเอเอฟพี
อ้างอิง
O K Odeku, “Critical Analysis of School Pit Toilet System as an Impediment to the Right to Access Quality Education in South Africa,” African Journal of Public Affairs 13, No. 1 (Jun 2022): 97-102, https://doi.org/10.10520/ejc-ajpa_v13_n1_a6.
Tags: ส้วมหลุม, ทวีปแอฟริกา, Africa, รัฐบาลแอฟริกาใต้, แอฟริกา, ไซริล รามาโฟซา, แอฟริกาใต้, Cyril Ramaphosa, racism, อุบัติเหตุ, Colonialism, การเหยียดเชื้อชาติ, การเหยียดสีผิว, ระบอบอาณานิคม