กล่องเปล่าที่เรียงราย พาสต้าต้มสุกขนาด 30 กิโลกรัม พร้อมด้วยเนื้อหมูย่างชิ้นโตที่ส่งกลิ่นหอมไปทั่วอาณาบริเวณ ทำให้ดูเหมือนว่า บ้านหลังหนึ่งในโลมาเฮอร์โมซา (Loma Hermosa) ประเทศอาร์เจนตินา (Argentina) กำลังจัดปาร์ตี้ชุดใหญ่บางอย่างอยู่
ทว่าสายตาและบรรยากาศของคนครัวที่เต็มไปด้วยความกังวล บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่งานเฉลิมฉลองอันน่ายินดีปรีดา แต่พวกเขากำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่ออาหารที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอรองรับความหิวโหยของผู้คนทั้งหมด
โรงทานในอาร์เจนตินาอยู่ในภาวะ ‘ขาดแคลนอาหาร’ เพราะนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ ฆาบิเอร์ มิเลย์ (Javier Milei) ประธานาธิบดีขวาจัดผู้นิยามตนเองว่า ‘ทุนนิยมอนาธิปไตย’ (Anarcho-Capitalist) ผสมปนเปไปกับวิกฤตเศรษฐกิจเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นแต่ทุนเดิม
“ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะแจกจ่ายอาหารให้คนทั้งหมดได้ไหม” คารินา โลเปซ (Carina Lopez) ผู้จัดการโรงทานในชุมชนซานมาร์ติน (San Martin) ย่านสลัมคนจนในบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) ทางตอนเหนือ แสดงความคิดเห็นผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP)
โลเปซเล่าต่อว่า ตอนนี้โรงทานของเธอกำลังขาดแคลนอาหารอย่างหนัก พลางชี้ไปที่ผักและผลไม้ในลังเปล่า และแสดงความกังวลว่า พาสต้าหมู อาหารในวันนี้อาจจะไม่พอรองรับใครหลายคน
เช่นเดียวกับโรงทานซัลเดอลาเทียร์รา (Sal de la Tierra) ที่ย่านบีญาฟิโอริโต (Villa Fiorito) โดย มาเรีย ตอร์เรส (Maria Torres) อาสาสมัครระบุว่า ตอนนี้สถานการณ์กำลังชักหน้าไม่ถึงหลัง จากเดิมที่เคยแจกจ่ายอาหารให้กับ 50 ครอบครัว แต่กลับกลายเป็นว่า ผู้มารอขออาหารเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 70 ครอบครัวภายในไม่กี่เดือน
“สิ่งที่จะให้มีแต่น้อยและน้อยลงทุกวัน ขณะที่ความหิวโหยเพิ่มขึ้น พวกเขาเผชิญปัญหาทางการเงิน หากไม่มาที่โรงทาน พวกเขาก็ไม่มีจะกิน” ตอร์เรสแสดงความคิดเห็นกับรอยเตอร์
รัฐบาลยุติความช่วยเหลือ พร้อมประกาศมาตรการใหม่ (ที่ไม่เกิดขึ้น)
ก่อนหน้านี้ ความช่วยเหลือทางอาหารของโรงทานหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ตามมาด้วยนโยบายของมิเลย์ว่า รัฐบาลจะดำเนินแผนการใหม่ทั้งหมด นับตั้งแต่การตรวจสอบสถานการณ์ในโรงทานแต่ละแห่ง การส่งความช่วยเหลือโดยตรง และปฏิเสธการมี ‘ตัวกลาง’ ให้ความช่วยเหลือ
“เราจะสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งความช่วยเหลือในจุดที่ควรจะถึง” มานูเอล อดอร์นี (Manuel Adorni) โฆษกประธานาธิบดี แถลงต่อสื่อในช่วงที่ผ่านมา
แต่กลับกลายเป็นว่า นวัตกรรมส่งมอบอาหารไม่เกิดขึ้น ขณะที่โรงทานต้องเอาตัวรอดด้วย ‘เงินบริจาค’ และ ‘ความช่วยเหลือจากเทศบาลท้องถิ่น’
นั่นจึงทำให้เสียงต่อต้านของประชาชนเริ่มดังขึ้น สะท้อนจากการชุมนุมที่กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Human Capital) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง ซานดรา เพตโต (Sandra Petto) รัฐมนตรีสาว ประกาศท้าชนกับกลุ่มเคลื่อนไหวว่า ใครก็ตามที่รู้สึกหิวโหย ให้มาเจอกับเธอ ‘ตัวต่อตัว’ ได้เสมอ
อย่างไรก็ตาม เพตโตไม่ปรากฏตัวในการชุมนุมครั้งนั้น หน้ำซ้ำยังถูกฟ้องร้องจากหัวหน้าสหภาพแรงงานในฐาน ‘บกพร่องต่อหน้าที่ในการส่งทรัพยากรอาหาร’ ขณะที่มีรายงานว่า เธอบริจาคให้โบสถ์ 2 แห่งมากกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท)
ความหิวโหยในโรงทาน: ภาพสะท้อนวิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา
มากกว่ามาตรการเยียวยาของรัฐบาลที่บกพร่อง ภาวะเงินเฟ้อในอาร์เจนตินาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้ โดยรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น หลังมิเลย์ใช้นโยบาย ‘Shock Therapy’ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘เจ็บแต่จบ’ ด้วยการลดค่าเงินเปโซมากกว่า 50% ตัดเงินอุดหนุนในภาคสาธารณะ ลดการใช้จ่ายของภาครัฐ และผ่อนคลายการควบคุมราคาสินค้าบางประเภท
ทั้งหมดนี้จึงทำให้อาร์เจนตินามีเงินเฟ้อพุ่งสูงมากกว่า 211% ในช่วงเดือนมกราคม ทำลายสถิติในช่วงทศวรรษ 1990 แต่มิเลย์เชื่อว่า เศรษฐกิจจะทรงตัวและอัตราเงินเฟ้อกำลังลดลงในอีกไม่ช้า
อย่างไรก็ตาม ผู้คนในโรงทานกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น บ้างแสดงความคิดเห็นว่า วิกฤตดังกล่าวเป็นเพียง ‘จุดเริ่มต้น’ ของความย่ำแย่ทั้งหมด ขณะที่ แดเนียล แบร์เรโต (Daniel Barreto) หนึ่งในประชาชนที่รอคอยอาหารจากโรงทานเผยว่า เขาได้รับผลกระทบจากนโยบายของมิเลย์โดยตรง
แบร์เรโตเล่ากับเอเอฟพีว่า เขาเป็นช่างก่ออิฐ แต่หลังจากรัฐบาลดำเนินนโยบายลดการใช้จ่ายในภาคสาธารณะ งานดั้งเดิมเป็นอันยุติทั้งหมด ตอนนี้เขาจึงทำได้แค่เร่ร่อนหางานใหม่และหาอาหารที่โรงทานเพื่อประทังชีวิตของตนเองกับครอบครัว
“ไม่ว่าผมจะทำงานหรือไม่ทำ เงินก็ไม่เพียงพอ ผมมีภรรยาและลูกสี่คน สถานการณ์นี้มันเกินกว่าที่ผมจะจัดการ” แบร์เรโตเผยว่า รายได้จากการทำงานของเขาละลายหายไปกับวิกฤตเงินเฟ้อทั้งหมด ยังไม่รวมถึงความยากลำบากในการหางาน เพราะบริษัทเอกชนจำนวนมากจ้างคนน้อยลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน หน่วยงานสถิติของอาร์เจนตินาเผยข้อมูลว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศประจำปี 2024 อยู่ที่ 254% ขณะที่ตัวเลขในเดือนมกราคมคือ 20.6% ซึ่งต่ำกว่าที่รอยเตอร์คาดไว้ที่ 257% และ 21% ตามลำดับ
อ้างอิง
Tags: อาร์เจนตินา, ฆาบิเอร์ มิเลย์, เศรษฐกิจ, Food Security, วิกฤตเศรษฐกิจ, รัฐบาลอาร์เจนตินา, ลาตินอเมริกา, ความมั่นคงทางอาหาร, เงินเฟ้อ, อเมริกาใต้, Argentina, โรงทาน, วิกฤตเงินเฟ้อ, อาหาร, Javier Milei