ในตอนแรก การลงทะเบียนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะหมดเขตลงตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 แต่มีการขยายวันการลงทะเบียนเพิ่มมาอีก 10 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) และจะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ตามเขตที่แต่ละคนลงทะเบียนเอาไว้

เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ข่าวประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือ ‘บอร์ดประกันสังคม’ เป็นที่พูดถึง ซึ่งความพิเศษในการเลือกตั้งครั้งนี้คือจะเป็นการเลือกตั้งแบบ ‘1 คน 1 เสียง’ เป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี อีกด้วย

หลายคนอาจรู้เพียงพื้นฐานว่า ‘ประกันสังคม’ คือสิ่งหนึ่งที่เป็นสวัสดิการรองรับสิทธิคนทำงานในแง่ของการสนับสนุนรายจ่ายบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ คล้ายกับ ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ รวมถึงรู้ว่า จำนวนเงินประมาณ 750 บาท ที่ถูกหักจากเงินเดือนในทุกเดือน เป็นยอดที่ถูกหักออกไปเพื่อเป็นค่าประกันสังคมจำนวน 5%

แต่อันที่จริงแล้ว ประกันสังคมยังครอบคลุมในหลายส่วน นอกเหนือจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว สิทธิประกันสังคมยังครอบคลุมไปถึงส่วนของ ‘บำนาญชราภาพ’ ‘เงินทดแทนระหว่างขาดรายได้’ ‘เงินสงเคราะห์บุตร’ และ ‘เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ’ โดยการรักษาพยาบาลเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น

 

750 บาทที่ถูกหักจากทุกเดือน ใช้ทำอะไรบ้าง? 

ในเงินจำนวน 750 บาท ที่ชาวแรงงานต้องจ่ายทุกเดือน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. ค่ารักษาพยาบาล คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต คิดเป็นจำนวนเงิน 225 บาท

2. เงินออมเพื่อการเกษียณตอนชราภาพ คิดเป็นจำนวนเงิน 450 บาท

3. เงินประกันการว่างงาน คิดเป็นจำนวนเงิน 75 บาท

แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการจะใช้ประกันสังคมแต่ละครั้งมีความยุ่งยากมากเหลือเกิน ทั้งในแง่เงื่อนไขการใช้งานที่เข้ารับบริการได้แค่โรงพยาบาลที่ลงทะเบียนเอาไว้เท่านั้น อีกทั้งสวัสดิการที่มีให้ก็ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกินมาอีก

ทั้งที่ ‘สิทธิประกันสังคม’ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราในฐานะคนทำงานอย่างยิ่ง แต่กลับเป็นสิ่งที่บางคนอาจไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร และหลายคนมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน หรือกระทั่งไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่ครอบคลุมการใช้งานจริง

 

เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้?

จากข้อมูลทางการเงินล่าสุดที่เปิดเผยในปี 2564 ระบุว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ ในรอบหลายเดือนมานี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความอยู่รอด’ และ ‘เสถียรภาพ’ ของกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกัน เพราะกองทุนประกันสังคมมียอดเงินรวมลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และในอนาคต กองทุนประกันสังคมอาจเจอวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่วัยทำงานลดลงจากอัตราการเกิดที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

ดังนั้น การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะประชาชนและแรงงานคนหนึ่ง ที่จะได้ส่ง ‘ตัวแทน’ เข้าไปแก้ไขในทุกความไม่เป็นธรรมทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสิทธิประกันสังคม

โดยที่ ‘บอร์ดประกันสังคม’ จะมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม

2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม

3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน

4. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน

5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม

6. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 มีใครให้เลือกบ้าง?

จากข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยวันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) มี 2 ทีมที่เปิดเผยผู้สมัคร ได้แก่

1. ทีม ‘3 ขอต้องไปต่อ’ มีผู้สมัครจำนวน 5 คน ได้แก่

บูรณ์ อารยพล

บุญเรือง คุ้มคง

เลิศชาย สมัย

พิทักษ์ชัย จันทร์สมวงษ์

ประสิทธิ์ เพชรแทน

หนึ่งในผู้สมัครของกลุ่มนี้คือ บูรณ์ อารยพล ซึ่งเคยเป็นนักเคลื่อนไหว ‘กลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทาน’ ที่เคยเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคม เพื่อให้ผู้สมทบเงินประกันส่วนนี้ ให้สามารถเบิกใช้เงินชราภาพก่อนเกษียณได้

โดยมีนโยบายสำคัญ เช่น ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับบำเหน็จบำนาญได้เมื่ออายุ 55 ปี, สามารถขอคืนเงินสมทบชราภาพ 50% ได้ก่อนอายุ 55 ปี, ประกันสังคมค้ำประกันเงินกู้ 50% ให้ผู้ประกันตน และกองทุนประกันสังคมต้องรายงานผลการดำเนินงานทุกเดือน

2. ทีม ‘ประกันสังคมก้าวหน้า’ มีผู้สมัครจำนวน 8 คน ได้แก่

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน

ธนพร วิจันทร์

ศิววงศ์ สุขทวี

นลัทพร ไกรฤกษ์

บุญยืน สุขใหม่

ชลิต รัษฐปานะ

ลักษมี สุวรรณภักดี

ในทีมนี้มีหลายคนที่เราอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เช่น ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการ และอีกคนหนึ่งคือ นลัทพร ไกรฤกษ์ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา 

โดยมีนโยบายสำคัญ เช่น เพิ่มค่าคลอดบุตรเป็น 2 หมื่นบาทต่อครั้ง และสนับสนุนผลักดันกฎหมายลาคลอด 180 วัน, เพิ่มประกันว่างงาน, เพิ่มค่าสงเคราะห์เด็ก, แก้ไขสูตรคำนวณเงินบำนาญให้เป็นธรรมกว่าเดิม และเพิ่มสิทธิทันตกรรมเทียบเท่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

 

ใครมีสิทธิเลือกตั้งบ้าง?

หากคุณมีคุณสมบัติ 4 ข้อดังนี้ คุณคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม

1. มีสัญชาติไทย

2. เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39, 40

3. เป็นผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ก่อนเดือนมีนาคม 2566)

4. จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน

โดยสามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ทาง https://sbe.sso.go.th/sbe/

และอย่าลืมไปเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคม 2566

เสียงของทุกคนสำคัญ และเราควรได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าในฐานะแรงงาน

ที่มา:

https://themomentum.co/report-social-security-office-board-election/

https://themomentum.co/social-security-benefits/

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/209408

https://www.facebook.com/photo?fbid=7364084166949332&set=pcb.7364084216949327