เมื่อราวต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 8 ตุลาคม 2566 ผู้เขียนเห็นโพสต์ของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และไม่กี่วันต่อมา ก็เห็นว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ลงเลือกตั้งครั้งนี้ ในนามของ ‘กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า’

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น ‘ครั้งแรก’ ในรอบ 9 ปี ที่จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีการเลือกตั้งแบบ ‘1 คน 1 เสียง’

หลายคนอาจรู้แค่เพียงพื้นฐานว่า ประกันสังคมคือสิ่งหนึ่งที่รองรับสิทธิคนทำงานในแง่ของการสนับสนุนรายจ่ายบางส่วน ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนทำงาน คล้ายกับสวัสดิการ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ รวมถึงรู้ว่า ที่เงินเดือนทุกเดือนจะถูกหักออกไปราว 750 บาทจากฐานเงินเดือนเต็ม เป็นเงินที่ต้องถูกหักออกไปเพื่อเป็นค่าประกันสังคม 5%

ทั้งนี้ หลายเสียงในโลกออนไลน์สนทนาเกี่ยวกับ ‘ประกันสังคม’ เป็นต้นว่า

“ถ้าทำงานไปสักพักแล้วมีเงินเหลือเก็บ อยากให้ลองดูประกันสุขภาพนะ ซื้อตอนอายุยังน้อยเบี้ยมันจะยังถูก เราไม่ได้ขายประกันนะ แต่อยากแนะนำจริงๆ มันดูเป็นเบี้ยทิ้งแต่มันช่วยเราไม่ต้องดึงเงินฉุกเฉินมาใช้นะ ประกันสังคมมันก็ได้ แต่มีประกันสุขภาพมันช่วยให้เธอไม่ต้องนั่งรอหมอเป็นวันๆ”

“กูงงว่ากูจะจ่ายประกันสังคมไปทำไม ไม่ได้ใช้เลย เวลาป่วยก็หาเองจ่ายเองตลอด เบิกก็ไม่ได้ อะไรเนี่ย จ่ายค่าหมอค่ายาทีคือแดxแกรบค่ะ”

“กองทุนประกันสังคม มูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท แต่สภาพคนไปใช้สิทธิประกันสังคม แบบอิดอก กูทนไม่ได้จนจ่ายเงินเอง ค่าทำฟันปีละ 900 อุบาดชิบหาย ละกำไรปีละหกหมื่นล้าน”

“สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม ยังไม่เทียบเท่าสิทธิบัตรทอง 30 บาทเลยครับ การรักษาเหมือนเป็นประชากรชั้น 2 ชั้น 3 ถ้ารักษานอกโรงพยาบาลที่เลือกต้องสำรองจ่าย เจอเคสอุบัติเหตุที่กู้ภัยนำส่ง รพ.เอกชน ไม่ใช่จราจร บิลค่าใช้จ่ายออกมาแทบเป็นลม”

“อยากให้ประกันสังคมใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ทั่วประเทศ ทุกเมื่อทุกเวลาที่เจ็บป่วย”

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นสิ่งที่เราอยากเล่าให้ทุกคนฟังว่า ‘สิทธิประกันสังคม’ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราในฐานะคนทำงานอย่างยิ่ง แต่กลับเป็นสิ่งที่บางคนอาจไม่ค่อยเข้าใจว่าคืออะไร และหลายคนมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อน หรือกระทั่งไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้แล้ว เพราะว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่ครอบคลุมการใช้งานจริง

ดังนั้น ในวันนี้ The Momentum จึงชวนทุกคนมองถึง ‘ปัญหา’ ของ ‘ประกันสังคม’ ที่ควรเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด แต่กลับเป็นสิ่งที่ ‘ถูกผลัก’ ออกไปมากที่สุดเช่นกัน ก่อนการเลือกตั้ง ‘บอร์ดประกันสังคม’ ที่จะมาถึงในวันที่ 24 ธันวาคม 2566

‘ประกันสังคม’ สิทธิเกี่ยวกับคนทำงาน ที่ถูกทำให้กลายเป็น ‘เรื่องยาก’ สำหรับคนทำงานเสียเอง

จากที่ผู้เขียนยกตัวอย่างไปข้างต้นน่าจะทำให้พอเห็นว่า คนทำงานจำนวนไม่น้อย กลับกลายเป็น ‘ผู้ประสบภัย’ ในสิทธิสวัสดิการของประกันสังคมด้วยสาเหตุหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็น ‘การเข้าถึงยาก’ มากกว่าบัตรทอง ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ หลายเท่าตัว สิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่า ไม่สามารถเบิกได้เต็มจำนวนเท่าที่จ่ายจริง ความเป็น ‘ระบบราชการ’ ที่ต้องใช้เวลานานและขั้นตอนที่ซับซ้อน หรือกระทั่งปัญหาอย่าง ‘การแบ่งประเภทผู้ประกันตน’ ในสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนในประกันสังคม มาตรา 33, 39 และ 40 ก็เป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน เพราะว่าถึงแม้ว่าในแง่ตัวบทกฎหมายจะบอกว่าเป็น ‘ผู้ประกันตน’ เช่นเดียวกัน แต่ในเชิงรายละเอียดและการสนับสนุนในแง่ของเงิน ก็มีความแตกต่างกัน

เพราะผู้ประกันตนในมาตรา 33 (ที่ถือว่าเป็น ‘ลูกจ้าง’ ของบริษัท) และมาตรา 39 (ที่ ‘เคยเป็นลูกจ้าง’ ของบริษัท ที่ยังไม่ขาดสิทธิประกันสังคม) ยังถือว่าเป็นผู้ประกันตนในระบบ และมีสิทธิมากกว่าผู้ประกันตนในมาตรา 40 ที่ถือเป็น ‘ผู้ประกันตนนอกระบบ’ เพราะเป็นบุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งนับว่าเป็นแรงงานนอกระบบ

อันที่จริงแล้ว ประกันสังคมยังครอบคลุมในหลายส่วน นอกเหนือจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว สิทธิประกันสังคมยังครอบคลุมไปถึงส่วนของ ‘บำนาญชราภาพ’ ‘เงินทดแทนระหว่างขาดรายได้’ ‘เงินสงเคราะห์บุตร’ ‘เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ’ โดยการรักษาพยาบาลเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น

นั่นจึงเป็นคำถามที่ตามมาว่า เราใช้ประกันสังคม ‘คุ้ม’ จริงหรือไม่ และเพราะเหตุใดสวัสดิการคนทำงานที่ควรจะถ้วนหน้ากลับมีปัญหาดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

ประเทศไทยมี ‘บอร์ดประกันสังคม’ แต่ทำไมสิทธิแรงงานถึงหยุดชะงัก?

จากข้อมูลของเว็บไซต์กระทรวงแรงงานพบว่า ‘กองทุนประกันสังคม’ จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2533 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มีวัตถุประสงค์จัดตั้งเพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ภายใต้หลักการสำคัญคือ ‘การเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ โดยลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ร่วมกันจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนปัจจุบัน และผู้ประกันตนภายใต้กองทุนดังกล่าว

สำหรับ ‘บอร์ดประกันสังคม’ มีสัดส่วนเฉลี่ยกันระหว่างสามฝ่าย ได้แก่ ‘ฝ่ายรัฐบาล’ ที่นำทีมโดยปลัดกระทรวงแรงงาน 1 คน และกรรมการอีก 6 คน ต่อด้วย ‘ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง’ อีก 7 คน และ ‘ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน’ (หรือผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง) อีก 7 คน รวมทั้งสิ้นเป็น 21 คน

โดยก่อนหน้าใช้วิธีเลือกตั้งเป็น ‘1 สหภาพ 1 เสียง’ โดยไม่คำนึงว่า แต่ละสหภาพจะมีสมาชิกกี่คน ซึ่งในส่วนนี้อาจเป็น ‘ช่องโหว่’ จากหลายปัจจัย อย่างน้อยก็กล่าวได้ว่า อาจไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอเพราะแต่ละคนมีสิทธิเสียงที่ไม่เท่ากันในการเลือก และทำให้ตัวแทนฝั่งลูกจ้างที่ผ่านมาวนหน้ากันมาเป็นคณะกรรมการเพียงไม่กี่คน

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีการออกประกาศเป็น ‘คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 40/2558’ ส่วนหนึ่งของ ‘มาตรา 44’ หนึ่งในขอบเขตอำนาจพิเศษของ คสช. ที่สามารถออกคำสั่งอะไรก็ได้ โดยในที่นี้สั่งให้ ‘งดการบังคับใช้’ บางมาตราในกฎหมายประกันสังคม ซึ่งการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมก็เป็นหนึ่งในนั้น ส่งผลให้ได้ ‘แต่งตั้ง’ คณะกรรมการประกันสังคมเข้ามาทุกตำแหน่ง โดยกำหนดให้มีวาระการทำงาน 2 ปี และเมื่อครบกำหนดแล้ว วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประชุมร่วมกันกับกระทรวงแรงงาน และมีความเห็นว่า การดำเนินการจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ‘สิ้นเปลือง’ งบประมาณ ไม่มีความคุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์แก่ทางราชการ นั่นจึงทำให้บอร์ดประกันสังคมถูกลดความสำคัญไปพักใหญ่ 

และถึงแม้ว่าเมื่อปี 2558 พ.ร.บ.ประกันสังคมถูกแก้ไขในยุคสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในมาตราที่ 8 ว่า ให้ผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน “มาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” แต่นั่นก็ยังไม่เกิดขึ้นจริงในสมัยรัฐบาล คสช.

อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นอีกหนึ่ง ‘มรดก คสช.’ ที่ถูกฝากเอาไว้นานมากเพียงใด และสิทธิแรงงานก็ถูก ‘แช่แข็ง’ ไว้เป็นเวลามากเท่านั้นเช่นเดียวกัน

หากคุณเลือกตั้งประเทศไทย ด้วย ‘ความหวัง’ เพื่อ ‘เปลี่ยน’ อย่างไร จงเลือกตั้ง ‘บอร์ดประกันสังคม’ ด้วยความหวังเพื่อเปลี่ยนเช่นกัน

ก่อนหน้าจะเข้าปี 2566 ประชาชนคนไทยทุกคนล้วนตั้งปณิธานและความหวัง เพราะว่าจะมีการ ‘เลือกตั้งใหญ่’ ของประเทศ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังไว้เท่าไรนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บรรยากาศแห่ง ‘ความหวัง’ ที่ปลุกระดมให้ผู้คนออกมาเลือกตั้งเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ทั้งในแง่ของการถกเถียงและต่อยอดประเด็น ที่ถึงแม้แต่ละคนอาจมีจุดยืนหรือความเห็นที่ต่างกัน แต่ทุกคนล้วนเลือกตั้งเพื่อสิ่งที่ดีกว่าเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางการเงินล่าสุดที่เปิดเผย (ปี 2564) ของกองทุนประกันสังคมพบว่า เป็นกองทุนที่มีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ ในรอบหลายเดือนมานี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความอยู่รอด’ และ ‘เสถียรภาพ’ ของกองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกัน เพราะว่ากองทุนประกันสังคมมียอดเงินรวมที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี และในอนาคต กองทุนประกันสังคมอาจวิกฤต เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่วัยแรงงานลดลงจากอัตราการเกิดที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในส่วนนี้อาจสะท้อนได้เช่นเดียวกันว่า คนไทยอาจไม่ศรัทธาในระบบของประกันสังคมมากเท่าเดิมอีกต่อไป 

ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 จะเป็นครั้งแรกที่คนทำงานในประเทศไทยได้ ‘เลือกตั้ง’ ผู้ที่จะเข้ามาจัดสรรงบประมาณสวัสดิการด้านสุขภาพส่วนนี้ โดยที่จะต้องปกป้องสิทธิ ขยายสวัสดิการ เพื่อยกระดับชีวิตคนทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

โดยที่ ‘บอร์ดประกันสังคม’ จะมีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
  2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
  3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
  4. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
  5. พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคมตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
  6. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

ส่วนผู้ที่จะเป็นตัวแทนลงรับสมัครเลือกตั้ง จะมีการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นคณะกรรมการประกันสังคม เช่น

– มีสัญชาติไทย

– อายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง

– ส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 36 เดือน นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

– ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

– ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

– ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

– ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐ หรือสถานประกอบกิจการของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่

– ไม่เป็นคู่สัญญาหรือมีประโยชน์ได้เสียในกิจการที่เป็นคู่สัญญา หรือมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับสำนักงานไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม

– ไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือกรรมการ ที่ปรึกษาของพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

โดยจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

ณ วันนี้ (20 ตุลาคม 2566) มีผู้ประกาศตัวว่าจะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวแล้ว 1 กลุ่ม คือกลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า ที่นำโดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และอีก 7 คน รวมเป็นทีม 8 คน เป็นกลุ่มที่มาจากการรวมตัวกันของคนที่ทำงานขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิแรงงานและรัฐสวัสดิการเพื่อประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยมีจุดหมายเพื่อพัฒนาประกันสังคม ให้เป็นรัฐสวัสดิการที่คุ้มค่าสำหรับทุกคน

ส่วน ‘ผู้เลือกตั้ง’ บอร์ดประกันสังคม จะต้องดูรายละเอียดดังต่อไปนี้

– มีสัญชาติไทย

– เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39, 40

– เป็นผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า 6 เดือน (ก่อนเดือนมีนาคม 2566)

– จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน

ข้อมูลที่ต้องเตรียมก่อนการลงทะเบียนเลือกตั้ง

– เลขประจำตัวประชาชน

– ชื่อและนามสกุล

– วัน/เดือน/ปีเกิด

– เลขหลังบัตรประชาชน

– เบอร์มือถือ

– พื้นที่ใช้สิทธิ โดยให้เลือกจังหวัดและเขต 2 อำเภอ: ซึ่งในส่วนที่จะแตกต่างจากเลือกตั้งทั่วไปคือไม่จำเป็นต้องใช้เขตที่เป็นทะเบียนบ้านหรือโรงพยาบาลที่ประกันสังคมสังกัด ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า และยังไม่ประกาศว่าสถานที่ใดเป็นจุดเลือกตั้ง 

ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง

– ลงทะเบียนเลือกตั้งระหว่างวันที่ 12-31 ตุลาคม 2566 ผ่านช่องทาง https://sbe.sso.go.th/sbe/ 

– ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

– ลงคะแนนเลือกตั้ง 24 ธันวาคม 2566 ตามเขตที่ได้ลงทะเบียนไว้

“เพราะเสียงของทุกคนสำคัญ และเราควรได้รับสวัสดิการถ้วนหน้าในฐานะแรงงาน”

ที่มา:

https://ilaw.or.th/node/6666

https://www.sso.go.th/wpr/assets/upload/files_storage/sso_th/28f5b0d373c459358b943341aaa078e9.pdf

http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER2/DRAWER056/GENERAL/DATA0000/00000665.PDF

https://www.prachachat.net/csr-hr/news-1410330

https://www.facebook.com/labornetworkforpeoplesright

https://www.facebook.com/sustarum.t

https://www.bangkokbiznews.com/health/labour/1080113

Tags: ,