นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงเดือนตุลาคม วงการพระสงฆ์บ้านเราดูจะเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน หลัง มหาเถรสมาคม (มส.) มีคำสั่งฟ้าผ่าปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด คือที่จังหวัดปทุมธานี จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยไม่ได้เปิดเผยถึงสาเหตุว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นไปด้วยเหตุผลใด ศิษยานุศิษย์นับแสนต่างล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องคืน ความยุติธรรม ถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวัง บางจังหวัดถึงกับต่อต้านเจ้าคณะรูปใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน รวมถึงวิพากษ์บทบาทของกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ที่ใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าว โดยไม่ได้ตอบคำถามใดๆ ให้สังคมเกิดความกระจ่าง

The Momentum มีโอกาสนำประเด็นร้อนระอุวงการพระสงฆ์ไทยมาพูดคุยกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิด-นักเขียนอาวุโส ทั้งเรื่องโครงสร้างการปกครองสงฆ์ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ร.บ.สงฆ์) พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561 ว่ายังสมควรบังคับใช้ต่อหรือใหม่กับยุคปัจจุบัน จนถึงบทบาทหน้าที่ของมหาเถรสมาคม เรื่อยไปจนถึง ‘พระราชอำนาจ’ กับการปกครองสงฆ์ ที่เป็น ‘ปกติใหม่’ ของวงการพระ นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

สุลักษณ์เริ่มพูดถึงปรากฏการณ์หลังมีคำสั่งปลดเจ้าคณะจังหวัดว่า ตามที่ทราบมามีหลายฝ่ายลือหน้าหูว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องของ พระราชอำนาจซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีศิษยานุศิษย์เสียใจเป็นจำนวนมาก เพราะพระทั้ง 3 รูป ต่างเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของคนในจังหวัด 

“เรื่องปลดเจ้าคณะจังหวัดคนลือกันไปว่าในหลวงท่านเป็นคนสั่งเอง ผมไม่ทราบว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ถือเป็นคำสั่งที่ผิดพลาดของท่าน เพราะการจะไปปลดพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของแต่ละจังหวัด ต้องดูว่าท่านบกพร่องศีลาจารวัตรหรือไม่ มากกว่าปลดโดยไม่มีเหตุผล

“ทั้งนี้ การถอดสมณศักดิ์ออกควรทำตามกฎหมายของคณะสงฆ์ เพราะเจ้าคณะจังหวัดท่านมีเจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน ดูแลอยู่ เรื่องทั้งหมดต้องเข้าผ่านมหาเถรสมาคม พอมาปลดปุปปัปแบบนี้หลายคนก็ตกใจ เสียใจเป็นธรรมดา ซึ่งเท่าที่ผมทราบมา เจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 ต่างก็เป็นพระเถระที่น่าเคารพนับถือ ตามสายตาของผมจึงมองว่าการปลดท่านเป็นเรื่องผิดพลาด

ส่วนเรื่องสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ ที่หลายคนสงสัยว่ามีไว้เพื่ออะไรนั้น ส.ศิวรักษ์ อธิบายว่า สมณศักดิ์เป็นของเก่าแก่มานานแล้ว เหตุผลที่มีการตั้งพระเถรานุเถระให้รับสมณศักดิ์ จุดประสงค์ก็เพื่อให้พระที่ได้รับการแต่งตั้งเหล่านั้นได้เข้าวังมาเทศน์สอนพระเจ้าแผ่นดิน

“เพราะแต่ก่อน จนตราบถึงรัชกาลที่ 5 พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงธรรม ฟังเทศน์ ใส่บาตรทุกวัน กระทั่งถึงรัชกาลที่ 5 ประเทศเริ่มเข้าสู่สมัยใหม่ ประเพณีดังกล่าวก็เริ่มหายไป ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ยกตัวอย่างเช่นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ตลอด 27 ปีที่บวชมา ท่านไม่รับสมณศักดิ์เลย จนถึงยุครัชกาลที่ 4 ท่านเห็นว่าประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามา โลกสันนิวาสกำลังเปลี่ยนไป ท่านถึงรับสมณศักดิ์เพื่อเข้ามาเทศน์เตือนพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้นสมณศักดิ์จึงมีทั้งคุณและโทษ โบราณเขาว่ายศช้างขุนนางพระ พระดีๆ ท่านไม่สนใจสมณศักดิ์หรอก ท่านยึดถือศีลาจารวัตรสำคัญกว่า

แต่พักหลัง เรื่องของสมณศักดิ์กลายเป็นเครื่องมืออวดอ้างแสดงอำนาจ สมเด็จพระราชาคณะ พระผู้ใหญ่หลายๆ รูปท่านลืมตัว ทั้งที่พระส่วนใหญ่เป็นลูกชาวบ้าน ลูกคนยากคนจนแทบทั้งนั้น แต่ทำไมพระผู้ใหญ่กลับไม่เข้าใจถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ที่พม่าเอง พอเกิดรัฐประหาร พระเขาออกมาต่อต้านกันเป็นแถว เขารู้ว่าเผด็จการมันผิดหลักธรรมะ แต่พอเป็นพระประเทศไทยกลับโดนมหาเถรสมาคมเล่นงาน เป็นเณรไม่ให้บวช เป็นพระจะให้สึก สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันพระผู้ใหญ่บ้านเราคับแคบ พูดให้แรงคือโง่เขลา รู้ไม่เท่าทันโลก และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการโดยไม่รู้ตัว”

ส่วนบทบาทการทำงานของกรรมการมหาเถรสมาคมชุดปัจจุบันและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สุลักษณ์มองว่าเป็นไปด้วยความเชื่องช้า ไร้ความรับผิดชอบ หลายเหตุการณ์ผิดหลักวินัยสงฆ์ไร้การแก้ไข จนถึง พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2561 ก็ยังล้าหลังและเป็นมรดกตกทอดจากยุคเผด็จการปกครองของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

พูดอย่างไม่เกรงใจ การทำงานของกรรมการมหาเถรสมาคมและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นไดโนเสาร์ เต่าล้านปี เชื่องช้าไม่รู้เท่าทันสิ่งที่เป็นไปในโลก มีพวกเปรียญลาพรตมาเกาะทำงานอยู่ สมัยหนึ่ง ผมเคยอ่านหนังสือพิมพ์เขาลงกลอนเสียดสีถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไว้ว่า เป็นข้าราชการมานานแล้วนะ เหลือความเป็นพระบ้างหรือไม่ อธิการฯ มหาจุฬาว่าอย่างไร สีกาอ้อเอาเก็บไว้ที่ไหน เงินวัดไร่ขิงใครขน เงินที่อ่างทองอีกเล่า ดังนั้นผมเลยเขียนจดหมายไปถึงสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่าเรื่องนี้จริงแท้เป็นอย่างไร หากท่านบริสุทธิ์ต้องออกมาเปิดเผย เพราะถ้าจริงท่านก็ต้องปาราชิก หมดความเป็นพระ 

“แต่คำตอบที่ผมได้จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคือ เขาทำหน้าที่รับใช้พระอย่างเดียว ไม่มีหน้าที่รับชำระอธิกรณ์ของพระ เมื่อไม่ได้คำตอบผมเลยเขียนจดหมายไล่ตั้งแต่เจ้าคณะ กทม. เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน ก็ยังไม่มีใครตอบ ได้แต่โบ้ยกันไปโบ้ยกันมา เหมือนปัจจุบันพระผิดเงินกันบาทเดียว พระไปนอนกับสีกา นอนกับผู้ชาย ปัญหาต่างๆ ถูกปล่อยปะละเลย เลอะเทอะกันไปใหญ่

ทั้งนี้ เมื่อพูดถึง พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 สุลักษณ์ อธิบายว่า พ.ร.บ.นี้มากับจอมพลสฤษดิ์ ซึ่งเป็นเผด็จการอันเลวร้าย เดิมที พ.ร.บ.สงฆ์ ชุดแรกเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 ร.ศ.121 ก่อนเปลี่ยนแปลงการครองเป็นแบบประชาธิปไตย พ.ศ. 2484 เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำระหว่างธรรมยุติกนิกาย กับมหานิกาย

แต่พอถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์ กลับเปลี่ยนไปเป็นฉบับ พ.ศ. 2505 อีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นแบบเดียวกับ ร.ศ.121 ซึ่งแท้จริงแล้วต่างกับ พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับแรก เพราะตอนนั้นในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงดูแลเอง และทรงรู้จักพระที่มีอยู่เป็นอย่างดีทั่วราชอาณาจักร

“ลองมองดูปัจจุบัน ถามว่าพวกคณะรัฐมนตรีมีใครรู้จักพระที่มีอยู่บ้างไหม ผมถึงบอกว่ากฎหมายสงฆ์ ณ เวลานี้ล้าสมัย คณะกรรมการพระผู้ใหญ่ต่างก็ตั้งพรรคพวกไร้ความสามารถเข้ามากันเอง หรือคนที่มีความสามารถก็มีศีลาจารวัตรก็ไม่น่าไว้วางใจ เห็นแก่อำนาจ รับสินบนกันไม่ต่างจากข้าราชการคนธรรมดา ถึงจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็เสื่อมเสียถึงพระพุทธศาสนาแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ขณะเดียวกัน วัดส่วนใหญ่ ณ เวลานี้ พากันกลายเป็นธุรกิจ ทุนนิยม หาเงินหาทองจากการเผาศพแทบทั้งหมด ซึ่งจะมองว่าเป็นความเสื่อมก็ได้ 

“ผมคิดว่าดี คนไทยจะได้เลิกเข้าหาพระจำพวกนี้ และหันไปพึ่งพาธรรมะกับพระวัดป่าที่เน้นปฏิบัติแทน แต่วัดป่าเองก็ถูกทำลายด้วยทุนนิยมไปแล้วมิใช่น้อยเช่นกัน ฉะนั้น ผมว่าเรื่องของศาสนาพุทธทุกอย่างต้องใช้สติ ใช้วิจารณญาณ หากพระภิกษุเหลวไหลก็ไม่เป็นไร ตลอดสิบปีนี้เรามีพระภิกษุณีเกิดขึ้นแล้วกว่าร้อยรูป เราหันมานับถือศรัทธาท่าน ถึงคณะสงฆ์ – รัฐบาลไม่ยอมรับไม่เป็นไร อดีตผู้ชายกดขี่ผู้หญิงมาเป็นเวลานาน ถึงเวลาแล้วที่สังคมพระพุทธศาสนาควรจะยกย่องผู้หญิงให้นำหน้าไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย เผื่อเราจะได้พระภิกษุปฏิบัติดีกลับมาบ้าง

ส่วนบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อศาสนา สุลักษณ์มองว่าควรปฏิบัติตามหลักรัฐธรรมนูญ ปราศจากบทบาทการบริหาร ทั้งยังย้ำว่าควรยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสมณศักดิ์ และหันมาใส่ใจถึงหลักศีลธรรมมากยิ่งขึ้น

รัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระองค์เดียวที่ถูกบังคับให้เป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภ์ต่อทุกศาสนาที่คนไทยนับถือ เพราะฉะนั้นเราควรยกย่องท่านในฐานะผู้นำและที่พึ่ง เว้นในแง่ของบทบาทการบริหารท่านไม่ควรยกย่องพระรูปนี้ หรือไปถอดพระรูปไหน ตรงนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล พระเจ้าแผ่นดินในสมัยนี้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สิ่งต่างๆ ที่ท่านทรงประพฤติ ทรงปฎิบัติจะผิดมิได้ ต้องมีรัฐบาลสนองพระราชโองการ ตามภาษาอังกฤษที่ว่า The king can do no wrong แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ณ เวลานี้ คนที่สนองพระราชโองการของท่านทั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี เป็นคนไม่สุจริตน่านับถือ และหลายคนไม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

และถ้าจะให้ดีควรมีการยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ ทั้งหมด อย่างที่บอกว่า เราเพิ่งจะมีกฎหมายปกครองสงฆ์เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก่อน สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี พระสงฆ์อยู่กันได้เพราะท่านปกครองตัวท่านเอง ถือสิกขาวินัยเป็นใหญ่ ไม่มียศช้างขุนนางพระเข้ามาเกี่ยวข้อง นับถือกันตามสายครูบาอาจารย์ 

“อย่างวัดในพม่าก็ถือหลักกติกาวัด บ้างก็เน้นสายพระอภิธรรม พระวิปัสสนา ที่เลอะเทอะก็มี ขึ้นอยู่กับว่าใครจะเลือกนับถือ แต่ความเข้มแข็งในหลักศีลธรรมถือเป็นสิ่งวิเศษอย่างมาก แต่ทำไมกับสังคมไทยเราไม่เคยเห็นพระเถรชั้นผู้ใหญ่ออกมาประนามรัฐบาลเผด็จการที่ผิดหลักศีลธรรมนี้ กลับกัน พระผู้น้อยออกมาแสดงความเห็นกับถูกจ้องเล่นงาน หาว่าปฏิบัติตนออกนอกกรอบ กลายเป็นต้องอิงตามพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ทำตัวเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเผด็จการจึงจะถูกต้อง

Tags: , , ,