สื่อสิงคโปร์ตีข่าวถึง ‘สนามบินชางงี’ (Changi Airport) ว่า สถานะ ‘ท่าอากาศยาน’ ที่ดีที่สุดในโลก อาจสั่นคลอนจากการแข่งขันในอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิกในปี 2025 ขณะที่ผู้นำสิงคโปร์ออกโรงเตือนไม่ให้อุตสาหกรรมการบินในประเทศ ‘นิ่งนอนใจ’ ต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
แม้สนามบินชางงีขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก สะท้อนจากการติดอันดับ 2 จาก 10 ในปี 2024 อีกทั้งยังมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างระยะยาว เช่น การตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบินที่เชื่อม 200 เมืองทั่วโลก และการสร้างอาคารเพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเติมถึง 90-140 ล้านคนภายในปี 2030
ทว่าล่าสุดสื่อท้องถิ่น The Straits Times รายงานว่า การแข่งขันด้านการบินและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิก มีแนวโน้มดุเดือดเป็นพิเศษในปี 2025 และอาจสั่นคลอนสถานะและการพัฒนาในสิงคโปร์ระยะยาวได้
แกรี โบเวอร์แมน (Gary Bowerman) นักวิเคราะห์ด้านการท่องเที่ยว เปิดเผยว่า ต่อให้สิงคโปร์ยังเป็นสนามบินที่ไว้วางใจได้สำหรับสายการบินและผู้โดยสาร แต่ ‘ปัจจัยแวดล้อม’ ที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การแข่งขันเต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ
สำหรับปัจจัยแรกที่บทความหยิบยกมาคือ สภาพแวดล้อมการแข่งขันในภูมิภาค อ้างอิงข้อมูลจาก Centre for Aviation ที่เผยว่า ขณะนี้ในเอเชีย-แปซิฟิกมีโครงการพัฒนาสนามบินถึง 170 แห่ง โดยใช้เงินทุนถึง 217 แสนล้านบาท โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมโปรเจกต์สร้างสนามบินใหม่อีก 90 แห่งทั่วภูมิภาค หรือคิดเป็นมูลค่า 121 แสนล้านบาท
ความท้าทายส่วนหนึ่งคือ โปรเจกต์สนามบินนานาชาติเตโช (Cambodia’s Techo International Airport) โครงการใหม่แกะกล่องของรัฐบาลกัมพูชาที่วางแผนเปิดตัวภายในปี 2025 พร้อมกับวางตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางท่าอากาศยานของภูมิภาค รวมถึงความล้ำสมัยของเทคโนโลยีเครื่องบิน Airbus A350-1000 ที่ ‘ไม่ต้องแวะพัก’ และ ‘รองรับผู้โดยสาร’ ได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้สิงคโปร์ไม่ต้องเป็น ‘ทางผ่าน’ ในเที่ยวบินที่มุ่งสู่ตะวันออกกลางอีกต่อไป
ขณะที่ปัจจัยที่ 2 คือ การแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนมาจากนโยบายทางการเงินและการค้าของสหรัฐอเมริกาภายใต้ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ เบรนแดน โซบี (Brendan Sobie) นักวิเคราะห์การบินจาก Sobie Aviation เผยว่า ยอดผู้โดยสารของสนามบินชางงีอาจพุ่งสูงถึง 6 ล้านคนในเดือนมกราคม แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขในปี 2019 ถึง 8%
นอกจากนี้โซบียังเผยว่า การที่สายการบินแอร์เอเชีย (AirAsia) เปลี่ยนแปลงนโยบายการบิน หลังประกาศยุติเที่ยวบินสิงคโปร์-ภูเก็ต และลดเที่ยวบินสิงคโปร์-กรุงเทพฯ ให้เหลือเพียง 3 เที่ยวบินต่อวัน อาจทำให้จำนวนเที่ยวบินสายการบินราคาประหยัดในสนามบินชางงีลดลงถึง 25% แต่โชคดีที่ในอีกด้านหนึ่ง สายการบินต่างชาติก็มีแนวโน้มเติบโตกว่าในอดีต หลังสายการบินควอนตัส (Qantas Airways) ของออสเตรเลีย ประกาศเพิ่มเที่ยวบินไปชางงีมากกว่า 3,000 ไฟต์ หรือเพิ่มขึ้น 37% หากเทียบในปี 2019
อย่างไรก็ตาม ลิม ชิง เกียต (Lim Ching Kiat) รองประธานศูนย์การบินและพัฒนาการขนส่งของชางงี เผยว่า หากสิงคโปร์จะกอบกู้วิกฤต อาจต้องเน้นฟื้นฟูสิ่งที่ขาดหายไปในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยฉกฉวยโอกาสที่โลกกำลังมองเอเชีย-แปซิฟิกเป็นศูนย์กลางการบินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาเส้นทางเชื่อมต่อกับเมืองชัยปุระและลัคเนา รวมถึงไฟลต์บินตรงไปที่กรุงวอร์ซอร์ กรุงมาดริด กรุงเจนีวา และกรุงสตอกโฮล์ม
“ในอีก 10 ปีข้างหน้า เราเชื่อว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงการโดยสารทางการบินและการจัดการสนามบิน” ลิมอธิบายว่า ตัวอย่างหนึ่งที่ชางงีทำได้แล้วคือ ระบบตรวจสอบคนเข้าเมืองโดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ต
หากย้อนกลับไปในอดีต ลอว์เรน หว่อง (Laurent Wong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยออกโรง ‘เตือนสติ’ ให้อุตสาหกรรมการบินอย่านิ่งนอนใจกับสถานะปัจจุบัน พร้อมกับย้ำว่า ประเทศกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากการแข่งขันในครั้งนี้ หลังบางประเทศกำลังประกาศแผนโครงการสร้างสนามบินใหญ่ เพื่อพยายามลดช่องว่างทางการแข่งขันระหว่างสิงคโปร์
“เรานิ่งนอนใจไม่ได้” หว่องประกาศต่อหน้าผู้ฟัง 800 คนในงานครบรอบ 40 ปีสำนักการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore: CAAS) เมื่อกลางปี 2024
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/travel/article/singapore-changi-airport-delays-intl-hnk/index.html
https://www.worldairportawards.com/the-worlds-top-10-airports-of-2024/
Tags: เอเชีย แปซิฟิก, อุตสาหกรรมการบิน, การบิน, สนามบินชางงี, สิงคโปร์, กัมพูชา, อาเซียน, ชางงี