“การข่มขืนในสมรภูมิ คืออาชญากรรมที่เก่าแก่ที่สุด ทำให้หลายฝ่ายนิ่งงันที่สุด และถูกประณามหยามเหยียดน้อยที่สุดในสงคราม”
ประโยคดังกล่าวคือนิยามจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ถึง ‘การข่มขืนในสงคราม’ อันเป็นที่รู้จักในฐานะอาชญากรรมที่มีมาเนิ่นนาน โดยเป็นหนึ่งในอาวุธข่มขวัญศัตรูและทำให้อีกฝ่ายสยบยอมอยู่ใต้อำนาจ
เรื่องราวเหล่านี้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์โลก โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ว่าจะเป็นกรณีข้อพิพาท ‘หญิงบำรุงขวัญ’ (Comfort Women) ระหว่างเกาหลีกับญี่ปุ่น หรือการข่มขืนหมู่ผู้หญิงชาวเยอรมันของทหารรัสเซียก็ตาม
แต่ใครจะคิดว่า อาชญากรรมดังกล่าวยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21 ในยุคสมัยที่หลายคนเชื่อว่า การทำสงครามจะต้องต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการมีอยู่ของโดรน หรือแม้แต่อาวุธร้ายแรงอย่างขีปนาวุธก็ตาม
ซูดาน เป็นหนึ่งในสมรภูมิที่เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด และเสียงคร่ำครวญของผู้คนที่หนีตาย และแน่นอนว่าอาชญากรรมอย่างการข่มขืนก็เกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้ หลังมีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศมากมาย นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
*Trigger Warning: เนื้อหาของบทความเกี่ยวข้องกับการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ การเหยียดย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการรุมโทรม
คำบอกเล่าจากเหยื่อและผู้พบเห็นเหตุการณ์ในสงครามซูดาน
“ถ้าคุณจะข่มขืนฉัน ปิดประตูซะ อย่าให้ทหารคนอื่นมองเข้ามา”
ประโยคข้างต้นเป็นคำบอกเล่าจากปากของ ซี (Z) นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนในซูดานผ่านอัลจาซีรา (Al Jazeera) ถึงสถานการณ์ของหญิงสาวคนหนึ่งในสงครามกลางเมืองซูดาน เมื่อเธอทำหน้าที่คอยช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ในสมรภูมิรบ อีกทั้งยังต้องได้ยินและรับฟังเรื่องราวอันน่าหดหู่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเสียงกรีดร้องของผู้หญิงและเด็กสาวหลายคนที่ตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศของกองกำลังกึ่งทหารติดอาวุธ (Rapid Support Forces: RSF)
“เธอล็อกอะพาร์ตเมนต์โดยคิดว่าจะหนีรอดได้ แต่พวกทหารก็แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม และแยกย้ายไปแต่ละพื้นที่ พยายามเข้ามายังบ้านของเธอ เธอจึงพยายามล็อกห้อง แต่ผู้ชายกลุ่มนั้นก็พังประตูลง เธอจึงรีบขอร้องพวกกลุ่มทหาร ไม่ให้ข่มขืนและไว้ชีวิตเธอ” ซีเล่าชะตากรรมของหญิงสาวคนหนึ่งที่พยายามหลบหนีเรื่องราวอันโสมม แต่ท้ายที่สุดเธอก็หนีไม่รอด จึงทำได้แค่เพียงขอให้ทหารกลุ่มนั้นปิดประตูเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรุมโทรมแทน
“นั่นเป็นเรื่องเดียวที่เธอเล่าให้ฟังได้ มันเกิดขึ้นในช่วงแรกของสัปดาห์แห่งความขัดแย้ง ทว่านอกจากนี้ เธอยังคงพูดออกมาไม่ได้” ซีเล่า พร้อมเสริมว่า การรายงานตามหน้าสื่อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะการข่มขืนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกองทัพซูดาน (Sudan Armed Forces: SAF) เช่นกัน
มากกว่านั้น ยังมีคำบอกเล่าถึงอาชญากรรมที่เหยียดย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จาก ฮุสนา (Husna) นามสมมติของเหยื่อสาวคนหนึ่งในเมืองคาร์ทูม (Khartom) เธอเป็นสถาปนิกและเพิ่งแต่งงานก่อนสงครามปะทุไม่กี่เดือน
“ผมมีคำขออย่างหนึ่ง ถ้าคุณตอบได้ ก็เยี่ยมมาก แต่ถ้าคุณพูดว่าไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นปัญหาเหมือนกัน ผมอยากจะมีอะไรกับคุณ ผมขอคุณ และคุณก็จะต้องทำมัน ห้องนอนอยู่ตรงไหน” ฮุสนาเล่าสถานการณ์ที่ถูกกองกำลัง RSF ปลอมตัวเป็นผู้ชายธรรมดาเพื่อล่อลวงเธอมาข่มขืน โดยอ้างว่า เธอจะปลอดภัยเมื่ออยู่กับเขา
แต่ในความเป็นจริง ชายคนนั้นหยิบปืนไรเฟิลและจ่อที่ใบหน้าของฮุสนา เพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ และเมื่อกระทำชำเราเสร็จ ทหารคนนั้นก็ไล่เธอออกไป
“ฉันหยุดคร่ำครวญและร้องไห้ไม่ได้จริงๆ ฉันบอกกับเพื่อนอีกคนว่าอะไรเกิดขึ้น เธอรีบพาฉันไปห้องน้ำ ชำระร่างกายด้วยน้ำเกลือ เอาเสื้อที่ขาดวิ่นในถุงพลาสติกมาคลุมร่างฉัน” เธอเล่าโดยเสริมว่า เพื่อนของเธอพยายามเก็บหลักฐาน และขอยาคุมกำเนิดจากหน่วยงานรัฐบาลซูดานที่ปกป้องอาชญากรรมในหมู่ผู้หญิง (Sudanese government’s Unit for Combating Violence against Women: CVAW) และยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น เมื่อผู้หญิงต่างชาติคนหนึ่งก็ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทหารนี้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน ซูดานมีการบันทึกคดีข่มขืนมากกว่า 50 คดีทั่วประเทศ ได้แก่ ผู้เยาว์ ผู้ลี้ภัยจากเอธิโอเปียและซูดานใต้ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี รวมถึงผู้หญิงกลุ่มตั้งครรภ์
มากกว่าความใคร่: พฤติกรรมข่มขืนที่แสดงความเป็นใหญ่ในสมรภูมิรบ
“มองจากธรรมชาติและโครงสร้างของทหาร ฉันไม่คิดว่ากองทัพจะมีจริยธรรม” ฮีลีนา เบอร์ฮานู เดเกฟา (Hilina Berhanu Degefa) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวถึงเรื่องธรรมชาติของกองทัพที่ทำให้ความรุนแรงทางเพศกลายเป็นเครื่องมือสร้างความสะใจในสงคราม
เธอเสริมว่า หนึ่งในเหตุผลของการข่มขืนในสงคราม คือความภาคภูมิใจต่ออำนาจในการทำลายล้างของกองทัพ และสร้างความอับอายให้กับอีกฝ่าย
โดยเฉพาะสถานการณ์ซูดานในอดีต เมื่อ ‘กันดากา’ (Kandaka) กลุ่มผู้หญิงซูดานที่ขึ้นชื่อเรื่องความกล้าหาญและแข็งแกร่ง ออกนำขบวนประท้วงเพื่อต่อต้าน อุมาร์ อัล บาลชีร์ (Omar Al-Balshir) ประธานาธิบดีจอมเผด็จการที่ปกครองซูดานถึง สี่ทศวรรษ และสร้างอาชญากรรมเลวร้ายอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ในเมืองดาร์ฟูร์
ผู้หญิงบางคนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติซูดาน และท้าทายค่านิยมเดิมของผู้หญิงมุสลิมในประเทศ นั่นจึงทำให้พวกเธอกลายเป็นหนึ่งในตัวแสดงของความขัดแย้งครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“นี่คือการสร้างความอัปยศให้กับสังคม เพราะพวกเขาอับอายเกินกว่าจะเรียกร้องสิ่งใด (…) รวมถึงเป็นการสร้างบาดแผลทางจิตใจต่อเหยื่อ และครอบครัว” ซีอธิบาย โดยแฝงนัยสำคัญว่า การข่มขืนเป็นวิธีการป้องกันเหยื่อหลายคนไม่ให้ปริปากร้องขอความช่วยเหลือ
ขณะที่เดเกฟาเสริมว่า การล่วงละเมิดทางเพศทำลายเกียรติยศของผู้หญิงมุสลิม โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษนิยมที่มีค่านิยมสงวนความบริสุทธิ์ และต้องปกปิดร่างกายอยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้ทำให้โศกนาฏกรรมการข่มขืนในสมรภูมิดำเนินอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่การปลูกฝังเชิงระบบ หลังมีการเปิดเผยว่า พฤติกรรมดังกล่าวถูกสั่งสอนในกองกำลัง RSF ตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ ทว่าองค์การระหว่างประเทศก็ยังคงมองว่า การเยียวยาเหยื่อจากเหตุข่มขืนในสงครามไม่ใช่วาระยิ่งใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
อ้างอิง
https://www.aljazeera.com/opinions/2019/5/4/the-many-mothers-of-sudans-revolution
https://www.hrw.org/news/2016/01/27/sudan-rape-weapon-war
https://www.britannica.com/topic/rape-crime/Rape-as-a-weapon-of-war
Tags: การล่วงละเมิดทางเพศ, Africa, การข่มขืน, Rape, ผู้หญิง, แอฟริกา, ซูดาน, Sudan, สงครามซูดาน, เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ