วันนี้ (18 ตุลาคม 2024) ศูนย์ยุโรปศึกษา คณะรัฐศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา ‘โค้งสุดท้ายการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: ความท้าทายและโอกาสของยุโรปและโลก’ โดยมี ณัฐนันท์ คุณมาศ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพูดคุยและถกประเด็น

ณัฐนันท์เริ่มต้นพูดถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ในฐานะ ‘การเลือกตั้งโลก’ เนื่องจากนโยบายต่างประเทศของวอชิงตัน มีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางความเป็นไปและอนาคตในการเมืองระหว่างประเทศ ก่อนจะตั้งข้อสังเกตว่า การลงคะแนนครั้งนี้มีจุดหักเหน่าสนใจคือ การถอนตัวสายฟ้าแลบของ​ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีหญิง กลายเป็นแคนดิเดตท้าชิงเก้าอี้ผู้นำจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) แทน

ด้านปองขวัญตั้งประเด็นว่า ชัยชนะระหว่างแฮร์ริสกับโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) ยังคาดเดาได้ยาก เมื่อดูเหมือนว่า กระแสมวลชนเริ่มกลับไปสนับสนุนทรัมป์ หลังผลสำรวจเผยว่า เขามีคะแนนนำแฮร์ริสในรัฐที่มีคะแนนผันผวนสูง (Swing States) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้ดูเหมือนมีผู้สนับสนุนแฮร์ริสน้อยลง เป็นเพราะ 2 ปัจจัยดังต่อไปนี้คือ

1. อารมณ์และความรู้สึกตื่นเต้นของผู้คนชั่วคราว เมื่อไบเดนทำผลงานต่ำกว่ามาตรฐานในการดีเบตครั้งแรกกับทรัมป์ แต่การขึ้นมาของแฮร์ริสทำให้รู้สึกถึงพลังงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและกลุ่มผู้สนับสนุนเดโมแครตรู้สึกตื่นเต้น และสัมผัสได้ถึงเค้าลางของความเปลี่ยนแปลง 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเคยตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่า แฮร์ริสอาจไปไม่ถึงฝั่งฝันในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะคะแนนนิยมในตัวเธอไม่ได้สูงเป็นทุนเดิม ซ้ำยังถูกตั้งคำถามถึงผลงานในฐานะรองประธานาธิบดีตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาผู้อพยพในชายแดน

2. ประชาชนยังเข้าไม่ถึงแฮร์ริสเท่าที่ควร ว่ากันว่าในสังคมอเมริกันมักมีคำพูดที่ว่า ‘คนจะเลือกประธานาธิบดีที่ประชาชนสามารถชนแก้วเบียร์ได้’ แต่แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครตดูจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น สะท้อนจากผลสำรวจของชาวอเมริกันล่าสุดว่า ประชาชนหลายคนยังไม่รู้จักตัวตนของแฮร์ริสมากพอ หากเทียบกับทรัมป์ทั้งในแง่บวกหรือแง่ลบก็ตาม

3. จุดเปลี่ยนในการดีเบตระหว่างแคนดิเดตรองประธานาธิบดีคือ เจ. ดี. แวนซ์ (J.D. Vance) จากพรรครีพับลิกัน กับทิม วอลซ์ (Tim Walz) จากพรรคเดโมแครต ซึ่งปรากฏว่า แผนการโจมตีผลงานแฮร์ริสตลอด 4 ปี ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ หลังทรัมป์พลาดไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ในครั้งก่อน จึงยิ่งทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงประสบการณ์ และความสามารถของรองประธานาธิบดีหญิง

ขณะเดียวกันณัฐนันท์และปองขวัญยังหยิบยกหัวข้อนโยบายต่างประเทศ ระหว่างทั้ง 2 พรรคขึ้นมาเปรียบเทียบและอภิปรายต่อ โดยอาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนย้อนดู 2024 Democratic Party Platform หรือแนวนโยบายของพรรคเดโมแครตที่มีถึง 92 หน้า 

เนื้อหาส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ การพูดถึงความสำเร็จของไบเดนด้านการสร้างพันธมิตรในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน, วิกฤตภาวะโลกรวน และนโยบายปิดล้อมอิทธิพลจีน (Containment Policy) แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ การเรียงลำดับภูมิภาคตามความสำคัญแทนที่จะเป็นลำดับตัวอักษร ได้แก่ ยุโรป อินโดแปซิฟิก จีน ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือ และแอฟริกา สะท้อนให้เห็นแนวนโยบายต่างประเทศลักษณะพันธมิตร และความเป็น ‘วีรบุรุษสงครามเย็น’ ในตัวไบเดน

ปองขวัญตั้งข้อสังเกตในมุมของแฮร์ริสว่า แม้รองประธานาธิบดีหญิงไม่มีกลิ่นอายของสงครามเย็นหรือความเป็นทหารในตัว ทว่าหากอ้างอิงสุนทรพจน์หรือคำพูดของเธอตามหน้าสื่อ นโยบายต่างประเทศของแฮร์ริสยังคงมีแนวทางเหมือนกับไบเดน แต่อาจจะแตกต่างในเรื่องของการแสดงออกถึงประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ โดยเธอยืนยันสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ไปพร้อมกับการสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐ (Two-State Solution) 

นอกจากนี้แฮร์ริสมักจะแสดงสัญญะต่อต้านทั้งการใช้ความรุนแรงของอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Hamas) สะท้อนจากการไม่พบปะกับ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ในการแถลงที่สภาคองเกรส ขณะเดียวกันยังเชิญครอบครัวตัวประกันชาวอิสราเอล มาร่วมในการประชุมใหญ่แห่งชาติของพรรคเดโมแครต (Democratic National Convention: DNC) ครั้งที่ผ่านมา

แน่นอนว่า หากเทียบกับทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีไม่สนใจสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์เป็นทุนเดิม และยังแสดงท่าทีว่า ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงคราม ทว่าทั้ง 2 แคนดิเดตก็อาจจะปฏิบัตินโยบายตามที่ให้คำมั่นไว้ไม่ได้ เพราะความแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอลในฐานะพันธมิตร ที่มีความอ่อนไหวใน ‘การล็อบบี’ ทั้งสองพรรค

ณัฐนันท์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเมืองยุโรป ยังพูดถึงประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งนับเป็นประเด็นน่าหวาดหวั่นในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้ เพราะทรัมป์ยืนกรานถึงบทบาทของยุโรปที่ ‘กินแรง’ ในเรื่องงบประมาณการทหารขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization: NATO) ด้วยการกล่าวว่า หากรัสเซียรุกรานประเทศใดที่ใช้งบประมาณด้านความมั่นคงไม่เกิน 2% สหรัฐฯ จะปล่อยให้ถูกโจมตีไป 

เธอยังเชื่อว่า ประเด็นความขัดแย้งในภูมิภาคทรานส์แอตแลนติก (Transatlantic) ไม่ได้มีแค่เรื่องความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจ เพราะทรัมป์พยายามดำเนินนโยบายป้องกันตนเองทางการค้าตั้งแต่อดีต ทั้งในเรื่องการตั้งกำแพงภาษี หรือสงครามการค้าก็ตาม ขณะที่ปองขวัญเสริมว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับจีนหรือยุโรป แต่อดีตประธานาธิบดียังหมายหัวประเทศใดก็ตามที่เป็น ‘ศัตรู’ ของสหรัฐฯ 

สำหรับประเด็นจีน ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นว่า ปักกิ่งคือภัยคุกคามของสหรัฐฯ ระดับ ‘ฉันทมติ’ ทั้งในเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ซึ่งเชื่อมโยงกับ ‘มหายุทธศาสตร์’ ในด้านการต่างประเทศ 

ปองขวัญวิเคราะห์อย่างน่าสนใจต่อว่า เดโมแครตมีวิธีการต้านทานจีน 2 รูปแบบ คือการกระชับความสัมพันธ์เพื่อสร้างพันธมิตร และการชะลอการเติบโตด้วยการไม่ให้จีนใช้เทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในทางกลับกันทรัมป์เน้นการเปิดหน้าต่อสู้โดยตรงกับจีนคือ การไม่ทำการค้าและการขึ้นภาษีจำนวนมากกับจีน ซึ่งกลับกลายเป็นว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ต้องรับเคราะห์จากนโยบายดังกล่าว ด้วยการจ่ายราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของประเทศเชื่อมโยงกับจีน จนทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมา

และหากถามถึงสถานการณ์ของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เธอตอบคำถามนี้ว่า เป็นเรื่องยากของภูมิภาค ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสจะขึ้นมา เพราะทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างแข่งขันกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

แต่หากถามว่า ฝ่ายไหนจะให้ประโยชน์ไทยได้มากกว่ากัน ปองขวัญเชื่อว่า การที่เดโมแครตชนะการเลือกตั้ง จะเป็นผลดีกับไทยมากกว่าทรัมป์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่ทรัมป์มีนโยบายปิดกั้นตนเองจากโลกระหว่างประเทศ (Isolationism) ก็ถือเป็นข้อดีให้ไทยมีอิสระในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ หากเทียบกับเดโมแครตที่น่าจะกดดันให้ภูมิภาคเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

อย่างไรก็ตามเธอเชื่อว่า ขณะนี้สหรัฐฯ มองว่า ไทยกำลังเอนเอียงหาจีน แม้ทางการจะดำเนินนโยบายที่ดูเหมือนเป็นกลางกับทุกฝ่ายอย่าง ‘ไผ่ลู่ลม’ นั่นเป็นเหตุให้สหรัฐฯ จะเลือกร่วมมือกับไทยเฉพาะเรื่อง 

“สหรัฐฯ มองว่า ไทยไม่ใช่พันธมิตรที่พึ่งพาได้ในทุกเรื่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า เราอยากเลือกระเบียบโลกแบบไหน หากมองจากมุมฝ่ายนิยมกระแสตะวันตก ก็จะมองว่า ระเบียบโลกปัจจุบันเป็นผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่า ซึ่งนั่นแปลว่า ไทยจะต้องแสดงให้เห็นว่า เราอยู่ห่างจากอิทธิพลของจีนมากกว่านี้ แต่ก็จะมีแรงกระทบกลับมาเหมือนกัน

“เราอาจจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากประเทศอื่นมากขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศต้องแข็งแรงกว่านี้ เพื่อจะต้องไม่พึ่งพาจีนมากเกินไป ตรงจุดนี้ไทยอาจจะสบายตัวในการกำหนดบทบาทของตนเองมากขึ้น” 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไทยต้องเพิ่มบทบาทในอาเซียน เพราะประเทศไม่สามารถกำหนดนโยบายได้โดยปราศจากความร่วมมือของภูมิภาค หากแต่ปัญหาที่กำลังพบเจออยู่คือ อาเซียนไร้ความเป็นกลุ่มก้อน จึงเป็นไปได้ว่า ไทยอาจจะต้องทำงานหนักในการร่วมมือกับประเทศผู้นำอย่างอินโดนีเซียหรือสิงคโปร์ เพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน

“เราจะรอดได้ ไทยต้องอาศัยเพื่อนบ้านในการกำหนดทิศทาง”

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,