วันนี้ (2 กรกฎาคม 2565) ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีการนำป้าย ‘สะพานท่าราบ’ มาแปะทับป้าย ‘สะพานพิบูลสงคราม’ บนถนนประชาราษฎร์สาย 1 ว่า ต้องยอมรับว่าตอนแรกไม่ทราบเรื่องดังกล่าว แต่ที่ทราบคืออยู่ดีๆ มีคนเอาป้ายไปติด แล้วมีผู้แจ้งเข้ามาในระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ กระทั่งมีการเอาป้ายดังกล่าวออกไปแล้ว ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีนัยทางการเมืองหรือไม่ ชัชชาติพยักหน้าพร้อมกับบอกว่า “ก็รู้อยู่เลาๆ นะ” พร้อมหันหน้าไปทาง ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ และทั้งสองพยักหน้าร่วมกันว่า “อย่าไปพูดเลยเนอะ”

“ประเด็นก็คือผิดกฎหมายไง ในแง่ของ กทม. นะ เราต้องดูแลทรัพย์สินของราชการไง ไม่งั้นเดี๋ยวคนก็เอาไปปิดนู่นปิดนี่ไปหมด ก็ประมาณนั้นนะ แต่เรื่องมิติอื่นเราคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง”

สำหรับป้ายสะพานท่าราบที่มีการนำมาแปะทับป้ายสะพานพิบูลสงครามเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยคาดว่านำมาจากนามสกุลของ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพคนสำคัญในเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อปี 2476 ซึ่ง ‘ฝ่ายเจ้า’ นำโดย พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พยายามยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับสถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยหน่วยของว่าที่ร้อยตรี ตุ๊ จารุเสถียร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ประภาส จารุเสถียร) ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชนั่นเอง

นอกจากจะเป็นแม่ทัพในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามยังมีศักดิ์เป็น ‘ตา’ ของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยมารดาของพลเอกสุรยุทธ์คือ อัมโภช จุลานนท์ เป็นบุตรสาวของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม

เมื่อปี 2562 ในระหว่างที่ พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้มีการเปิดอาคารศรีสิทธิสงคราม โดยได้เชิญ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อเป็นการฟื้นวีรกรรมของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามขึ้นมาอีกครั้ง มีหลายฝ่ายคาดหมายว่าอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องการกำจัดมรดกของ ‘คณะราษฎร’ เหมือนกับที่อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญหายไปจากวงเวียนบางเขน เมื่อปลายปี 2561 และหมุดคณะราษฎร หายจากลานพระราชวังดุสิตเมื่อปี 2560 โดยที่ไม่สามารถตามได้ว่าอยู่ที่ใด

ทั้งนี้ เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ธานินทร์ เนียมหอม ผู้อำนวยการเขตดุสิตระบุว่า ป้ายดังกล่าวเป็นป้ายผิดกฎหมาย โดยเป็นป้ายอะครีลิกปิดทับป้ายเดิม จึงได้ทำการรื้อออกเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าจะแจ้งความหาผู้ที่กระทำผิดต่อไป

ภาพ: Twitter @Mojijimajiji

Tags: , , ,