“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสเห็นสำนึกของผู้บังคับบัญชา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรทั้งตำรวจและทหาร เพื่อให้สังคมของเราได้อยู่อย่างปลอดภัยต่อไป” รังสิมันต์ โรม

วันนี้ (12 ตุลาคม 2565) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภูว่า การก่อเหตุทำนองนี้ไม่ใช่เพิ่งเคยเกิดขึ้น หากยังจำกันได้ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 จ่าสิบเอกนายหนึ่งก่อเหตุแบบเดียวกันที่จังหวัดนครราชสีมา จนมีผู้เสียชีวิต 30 คน ต่อมาวันที่ 14 กันยายน 2565 เกิดเหตุที่กองทัพบก มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน และล่าสุดวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ก็มีเหตุเกิดอีกครั้งหนึ่ง ก็เกิดเหตุซ้ำเดิมทำให้มีผู้เสียชีวิต 38 คน เป็นเด็กเล็ก 22 คน ซึ่งผู้กระทำล้วนแต่เป็นทหาร-ตำรวจชั้นผู้น้อย

รังสิมันต์ระบุว่า ตนทราบดีว่าเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้เราไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สิ่งที่สังคมอยากที่จะเห็นอย่างจริงจังคือการป้องกันให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำ และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อไป ย้อนกลับไปนับแต่การกราดยิงที่โคราช เราแทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงขององค์กรตำรวจทหารเลยแม้แต่น้อย ตลอดเวลาที่ตนทำงานศึกษาติดตามเรื่องนี้พบว่าภายในองค์กรเหล่านี้ยังมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่ดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐและเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งหลายครั้งส่งผลเสียต่อเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย บางครั้งหนักถึงขนาดที่อาหารการกินของชั้นผู้น้อยก็มีการแบ่งแยก

“ปัญหาสุดคลาสสิกที่อยู่กับสังคมมานาน คือการใช้เส้นสายฝากคนของตัวเองเข้าทำงาน ระบบตั๋วต่างๆ รวมถึงการเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด บ่อนการพนัน สถานบันเทิงผิดกฎหมาย ไปจนถึงการค้ามนุษย์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ล้วนต้องอาศัยการสมคบของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสิ้น คนทั้งสังคมรู้ว่านี่คือสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงขององค์กรตำรวจและทหาร”

รังสิมันต์ยังระบุอีกว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ วัฒนธรรมองค์กรที่ใครๆ ก็รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราเห็นแต่ความเงียบและการปล่อยเกียร์ว่างของรัฐบาล ผบ.ทบ. และ ผบ.ตร. ทุกครั้งที่ถามหาการแก้ปัญหามักได้คำตอบที่เป็นการโยนความผิดของผู้ก่อเหตุโดยไม่โทษองค์กรและสภาพแวดล้อม

แน่นอนว่าผู้ก่อเหตุมีความผิดที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่หากไม่มีการปฏิรูปองค์กรอย่างจริงจัง เหตุการณ์แบบนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ จึงอยากเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ลดโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำ

ต้องจัดการอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อขายตำแหน่ง ป้องกันระบบตั๋วอย่าง ‘ตั๋วช้าง’ ซึ่งเป็นสิ่งชักนำสำคัญที่ทำให้เกิดคนมีสีเข้าไปเกี่ยวกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยอย่างสม่ำเสมอ มีผู้เชี่ยวชาญปรึกษาในยามที่พวกเขามีปัญหา ขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้จะต้องมีกระบวนการในการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องไม่เป็นการผลักภาระต่อผู้ปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อปืนเอง การซื้อน้ำหมึกเอง หรือกระดาษเอง สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้น ตลอดจนการเลิกภารกิจที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ทหารรับใช้ ตำรวจรับใช้

กรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องออกจากองค์กร หน่วยงานต้องติดตามว่าคนเหล่านี้สามารถอยู่ในสังคมอย่างปกติสุขได้หรือไม่ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องรักษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทต่อเรื่องนี้ด้วย

Tags: , , ,