ดีลทรู-ดีแทค สร้างความกังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับ ‘ผู้บริโภค’ ที่กังวลว่าหลังการควบรวมตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย จาก 3 เหลือ 2 จะส่งผลกระทบทำให้ ‘รายใหญ่’ กินรวบ และราคาค่าบริการโทรศัพท์มือถืออาจแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ท่าทีจากองค์กร ‘ผู้คุมกฎ’ หรือ Regulator อย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็เป็นไปอย่างสับสน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 สุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานโทรคมนาคม ระบุว่า กสทช. ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงดีลนี้ได้ เพราะขณะนี้เป็นเพียงการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ระหว่างบริษัทโฮลดิ้งทั้งสองแห่ง เพื่อร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่สำหรับรับซื้อหุ้นของกันและกัน ไม่ใช่การควบรวมกันของบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งทั้งสองจดทะเบียนอยู่ภายใต้ กสทช. หากแต่เป็นเรื่องของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัทเทเลนอร์
ฉะนั้นแล้ว ผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ดังกรณีที่ซีพีซื้อกิจการห้างค้าปลีกของเทสโก้โลตัสคืน รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
คำถามสำคัญก็คือ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และหน้าที่ขององค์กร Regulator อย่าง กสทช. ควรทำอย่างไรต่อกรณีนี้ และสำหรับผู้บริโภค มีเรื่องอะไรที่น่ากังวลใจบ้าง
The Momentum ติดต่อไปยัง ‘รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์’ นักเศรษฐศาสตร์ และคอลัมนิสต์เจ้าของคอลัมน์ Economic Crunch เพื่อตอบคำถามทั้งหมดนี้
รพีพัฒน์เริ่มจากดีลควบรวมของทรูและดีแทคไว้ว่า อาจส่งผลให้การแข่งขันในตลาดธุรกิจโทรคมนาคมไทยยิ่งแย่กว่าเดิม
“ตลาดโทรคมนาคมในไทย ณ เวลานี้ มีอยู่เพียงแค่สามรายใหญ่ คือ ทรู ดีแทค และเอไอเอส ซึ่งน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ส่วนใหญ่พยายามให้มีผู้บริการไม่ต่ำกว่า 4 ราย และเมื่อเบอร์ 2 กับ 3 ตัดสินใจควบรวบกันจะยิ่งทำให้การแข่งขันเหลือน้อยลง จนอาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภคในอนาคต”
อีกทั้งตลาดโทรคมนาคมในประเทศยังใช้เงินลงทุนสูง และสัมปทานก็ต้องได้รับการอนุญาตจากภาครัฐ จุดนี้ยิ่งทำให้โอกาสที่บริษัทรายใหม่อาจตัดสินใจไม่กล้าเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน
“ถ้าถามว่าจะเกิดการผูกขาดทางธุรกิจหรือไม่ ผมมองว่าไม่น่าถึงจุดนั้น เพราะนั่นต้องเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุด ซึ่งเหลือผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียว สภาพการณ์ตอนนี้คงต้องใช้คำว่าตลาดผู้เล่นน้อยราย ซึ่งยากมากจะไปสู่การผูกขาด เว้นเสียแต่ว่าเป็นธุรกิจที่รัฐอนุญาตให้ผูกขาดเหมือนด้านสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าหรือน้ำมัน ดังนั้นผมจึงมองว่าเป็นไปได้ยากกับการผูกขาดตลาดให้บริการหนึ่งตลาดกับผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียวในสภาพระบบทุนนิยมเสรี
“อย่างมากก็อาจเกิดขึ้นในลักษณะผู้เล่นน้อยรายจับมือร่วมกันมากกว่าในลักษณะคาร์เทลส์ (Cartels) เหมือนโอเปก (OPEC) ซึ่งต้องดูสัญญาณทิศทางของตลาด โดยต่างฝ่ายอาจยังไม่มีการปรับคุณภาพการให้บริการหรือปรับเงินค่าบริการเพิ่มขึ้นหากผู้บริโภคยังพึงพอใจ”
รพีพัฒน์บอกว่า งานวิจัยของ Regulator ประเทศอังกฤษ ที่เผยผลสำรวจตลาดโทรคมนาคมใน 25 ประเทศ และได้อธิบายไว้ว่าประเทศที่มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่างน้อย 4 ราย จะมีราคาสินค้าและการให้บริการที่ถูกกว่าประเทศที่มีผู้ให้บริการ 3 รายราว 20% สำหรับประเทศไทย จากผู้ให้บริการ 3 รายลดลงมาเหลือ 2 รายนั้น ในระยะสั้นยังตอบได้ยากถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นอาจจะต้องรออย่างน้อยไปถึง 4-5 ปี ซึ่งยังต้องเทียบมาตรฐานกับตลาดโทรคมนาคมโลกด้วยหลายกรณี
“ต้องเทียบว่าหากมาตรฐานค่าบริการเริ่มต้น 1 นาที หรือราคาการให้บริการมาตรฐานจากเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังควบรวม เพราะเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนบนโลกที่กล้าเปลี่ยนแปลงค่าบริการแพงขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง แต่ในทางกลับกัน จะทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันในตลาดที่ลดลดลง ส่วนแบ่งกำไรที่ควรจะมีการแย่งชิงเปลี่ยนแปลงตามความพึงพอใจของผู้บริโภค ก็จะไปขึ้นอยู่กับทางตัวบริษัทผู้ให้บริการแทน
“สมมติว่ามีผู้ให้บริการลดน้อยลง และตัวผู้บริโภคเองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม 10% หรือ 20% ก็ไม่ได้หมายความว่าการแข่งขันของตลาดธุรกิจนั้นจะพังทันที ทว่าในที่สุด ผลเสียที่สุดจะเกิดขึ้นกับตัวผู้บริโภค”
รพีพัฒน์ยกตัวอย่างให้ลองจินตนาการตามว่า จากเดิมที่บริษัทหนึ่งปกติได้กำไรจากการขายสินค้า 10 บาท แบ่งเป็นให้ผู้บริโภค 5 บาท ผู้ผลิต 5 บาท แต่ถ้าวันดีคืนดี บริษัทนั้นเอากำไรผู้บริโภค 7 บาท เเน่นอนว่าผู้บริโภคก็จะหันไปใช้บริการบริษัทอื่นที่คิดถูกกว่า ซึ่งกลไกการแข่งขันแบบนั้นย่อมบีบบังคับให้ผู้ให้บริการต้องใช้กลยุทธ์ลดค่าบริการลง หากเป็นเช่นนั้น ผลดีก็บังเกิดกับตัวผู้บริโภคที่เสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แลกกับการบริการที่ได้มาตรฐานตามเดิมหรือสูงขึ้น
แต่เมื่อบริษัทเหลือน้อยลง การแข่งขันย่อมไม่บังเกิด มิหนำซ้ำอาจมีการปรับค่าบริการเล็กน้อยอีกด้วย เมื่อมองด้วยตาเปล่า สำหรับผู้บริโภครายย่อยอาจเสียค่าบริการเพิ่มแค่หลักสิบ แต่ตัวผู้ให้บริการย่อมได้ผลกำไรมากขึ้นมหาศาล จนตลาดนั้นเกิดการกระจุกตัว อิงได้จากการวัดค่าดัชนี HHI (Herfindahl–Hirschman Index) ที่ทาง กสทช. เองก็ใช้อยู่เช่นกัน
สำหรับดีลทรู-ดีแทค รพีพัฒน์มองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในตลาดแข่งขัน เช่นเดียวกับที่อดีตเครือข่าย Orange ของ France Télécom เปลี่ยนเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น (True Coporation) ทว่าสิ่งสำคัญคือตัว Regulator อย่าง กสทช. หรือหน่วยงานรัฐใดๆ ก็ตามต้องดูแลเพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการถูกฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบ โดยตัวอย่างกรณีที่ T-Mobile บริษัทโทรคมนาคมสัญชาติอเมริกาตัดสินใจซื้อกิจการของ Sprint ซึ่งเป็นคู่แข่ง เมื่อปี 2561
“วิธีการรวมกันของทรูและดีแทคแทบจะไม่ต่างกับเคสที่ T-Mobile ซื้อกิจการของ Sprint เมื่อปี 2561 ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หลังพยายามรวมกันมาตลอด 10 ปี”
ถึงแม้ว่าดีลระหว่าง T-Mobile และ Sprint จะผ่านการอนุมัติ แต่ทาง Regulator ที่ควบคุมดีลก็ให้เงื่อนไขการควบรวมไว้อย่างเข้มงวด คือภายใน 6 ปี จะต้องมีบริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมขั้นต่ำ 98% ให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และ Sprint ก็จำเป็นต้องขายสัมปทานธุรกิจบางส่วนให้กับ Dish Network ที่ต้องการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการรายที่ 4 โดยดีลดังกล่าวได้รับการอนุมัติเพราะในขณะนั้น ถ้าไม่ปล่อยให้การเมิร์จเกิดขึ้น ผลเสียจะตกอยู่กับผู้ใช้เครือข่าย Sprint ที่อยู่ในสภาวะเกือบล้มละลาย และอาจทำให้คนอเมริกันหลายล้านคนไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ใช้
“ฉะนั้นแล้ว ผมมองว่าในกรณีของทรู-ดีแทค ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด หรือเหนือความคาดหมายทาง Regulator น่าจะยินยอมให้มีการรวมกันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และความน่าสนใจคือ Regulator วางกฎเกณฑ์ทางการตลาดอย่างไร เพื่อให้การแข่งขันทางการตลาดโทรคมนาคมยังดีอยู่ และที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไม่เสียผลประโยชน์กับดีลดังกล่าว ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นเรื่องในมือโดยตรงของ กสทช. กับการต้องเข้ามาดูแล ใช้เวลาพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้น ย่อมเกิดผลเสียในระยะยาวต่อตลาดโทรคมนาคมแน่นอน”
Tags: TRUE, DTAC, ทรู-ดีแทค