วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) ที่รัฐสภา เกียกกาย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีการกระทำความผิดส่อทุจริตและอาจกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปี 2542 ผ่านการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติงบกลาง 2,051 ล้านบาท เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติในวันที่ 19 เมษายน 2565 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 โดยใช้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานรับงบประมาณ และเป็นผู้ดำเนินการภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร

ประเสริฐระบุว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการซึ่งควรอยู่ใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีข้อทักท้วงของสำนักงบประมาณ ทั้งยังไม่ยอมใช้งบประมาณปกติ หากแต่ใช้ ‘งบกลาง’ โดยอาศัยสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี

สำหรับโครงการดังกล่าวมีพิรุธมากมาย ตั้งแต่เริ่มโครงการ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี การอนุมัติโครงการและอนุมัติเงินไปยังมหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 717 ล้านบาท

2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 368 ล้านบาท

3. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 560 ล้านบาท

4. มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 408 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 368 ล้านบาท พบว่ามีการนำโครงการดังกล่าวไปสอนชาวบ้านปลูกเห็ด ปลูกสมุนไพร บวกกับปลูกกัญชา ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไร้ซึ่งเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างชัดเจน

ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตมี 4 กลุ่ม ได้แก่

1. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้จงใจทุจริตต่อหน้าที่ อนุมัติงบกลาง บิดผันการใช้อำนาจ และนำงบกลางไปใช้ในทางทุจริต ให้งบประมาณดังกล่าวกับพรรคการเมืองหนึ่ง

2. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ในฐานะกระทรวงรับงบประมาณ

3. เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ประสานงานโครงการและ มักไปปรากฏตัวในการอบรมโครงการ

4. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับอธิการบดี ผู้ประสานงานโครงการ และสุกฤษณ์ วัชรมาลีกุล นักการเมืองในพื้นที่

ประเสริฐยังระบุด้วยว่า จากการหาข้อมูลพบว่า โครงการดังกล่าวที่เขียนไว้มีการอบรมเป็นรุ่น รุ่นละ 1,000 คน มีค่าอาหาร 4 มื้อ ค่าสนับสนุนปัจจัยการผลิต ค่าที่พัก ค่าวิทยากร ค่าบำรุงมหาวิทยาลัย และค่าบริหารโครงการอีก 18 ล้านบาท โดยโครงการเขียนว่า จะมีการอบรม 2 วัน 12 ชั่วโมง แต่กลับพบว่ามีการอบรมจริงเพียง 4 ชั่วโมง อาหาร 1 มื้อ มีการแจกให้ประชาชนเพียง 1 มื้อ ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการแจกเอกสาร ทั้งที่มีค่าพิมพ์เอกสารและไม่มีการพักค้างคืน ทั้งที่ในงบประมาณมีส่วนของค่าที่พัก ทั้งนี้ ทราบว่าค่าเช่าที่พัก 3.7 ล้านบาท ไม่มีการจ่ายจริง โดยกลุ่มผู้ทุจริตได้ไปซื้อรีสอร์ตในบริเวณใกล้เคียงเพื่อออกเอกสารรับรองเท็จ อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยการผลิตและไม่มีการจ่ายเงินให้กับผู้เข้าอบรมที่เขียนไว้ว่าต้องจ่าย 7,000 บาท

เลขาธิการพรรคเพื่อไทยระบุว่า รวมแล้วมีการทุจริตถึง 357 ล้านบาท จากวงเงิน 368 ล้านบาท ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเงินดังกล่าวไปเข้ากระเป๋าใคร อีกทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังมีการอ้างสถานการณ์โควิด-19 บังหน้า เพื่อจัดอบรม แต่การอบรมกลับไม่มีอะไรเกี่ยวกับโควิด-19 มีแต่การปลูกเห็ด และไม่ใช่ภารกิจหลักของกระทรวง อว. ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว โดยหากโครงการนี้ดำเนินไปครบโครงการอาจมีการทุจริตโดยรวมมากกว่า 1,600 ล้านบาท ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าเข้ากระเป๋าใคร เป็นการเข้ากระเป๋านักการเมือง คนใกล้ชิด และเครือข่ายทุจริตโดยไม่อายฟ้าดินหรือไม่

ทั้งนี้ มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบถามในคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร แต่ในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการกลับไม่สามารถตอบได้แม้แต่คำถามเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเก็บบัตรประชาชนผู้เข้าร่วมอบรมล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคุ้มค่าของการอบรมเรื่องการปลูกเห็ด ปลูกสมุนไพร หรือคำถามที่ว่าเพราะเหตุใดจึงจัดอาหารให้ผู้อบรมเพียง 1 มื้อ หรือการที่ใส่เรื่องค่าใช้จ่ายอบรมต่อหัว 1 หมื่นบาท แต่ประชาชนได้แค่ 400 บาท กับข้าว 1 มื้อ

ประเสริฐระบุว่า หลังจากนี้จะยื่นเรื่องให้ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตรวจสอบ และจะยื่นเรื่องใปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบด้วย

Tags: , ,