วันนี้ (5 มกราคม 2566) พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัทฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการร่วมเดินทางไปญี่ปุ่นกับคณะ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อโรดโชว์ชักชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่นๆ โดยได้เห็นวิธีการทำงานของรัฐบาล ที่ชัดเจน โปร่งใส ตรงไปตรงมากับนักธุรกิจญี่ปุ่น โดยขอให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่เตรียมแผนลงทุนในไทยไว้แล้ว ขยับแผนการลงทุนให้เร็วขึ้น และผลิตจำนวนเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ มีวงเงินลงทุนเบื้องต้น 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต่างก็รับเรื่องนี้ไปพิจารณาเพื่อปรับแผนลงทุน เพราะเห็นแนวทางการปฏิบัติของรัฐบาลที่มีความชัดเจน
นอกจากนี้ ท่าทีของรัฐบาลยังสร้างความประทับใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมมาตอบคำถามทั้งมาตรการภาษีส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) สิทธิประโยชน์การลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อีกทั้งยังพร้อมขจัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของการลงทุนให้โดยเร็วที่สุด ซึ่งสิ่งใดทำให้ได้ รัฐบาลจะทำให้ก่อน และอะไรที่ติดขัด จะเร่งแก้ไขให้โดยเร็ว เนื่องจากรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์สันดาป เนื่องจากไม่ใช่ทุกประเทศในโลก ที่จะมีความพร้อมเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า เช่น ในทวีปแอฟริกา ไทยยังต้องส่งออกรถยนต์สันดาปไปจำหน่ายได้ โดยรัฐบาลมีทีท่าพร้อมสนับสนุน อีกทั้งทรัพยากรบุคคลของประเทศก็มีความสามารถ และมีความพร้อมที่จะเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนการค้นคว้า วิจัย ต่อยอดได้ด้วย
ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นถือว่าเป็นนักลงทุนที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศไทยยาวนานกว่า 30-40 ปี โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกที่มาลงทุนในไทยและลงทุนมากที่สุด รวมถึงไม่เคยขายกิจการใด นอกจากขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นล้วนเป็นความสัมพันธ์ที่ดี
พรวุฒิยังกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ให้เติบโตเป็นอย่างมาก และยังช่วยให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่เข้มแข็ง สามารถรับจ้างผลิตได้ทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้งเป็นผู้ช่วยออกแบบชิ้นส่วนร่วมกับค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศหลักในการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย
สำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น ที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในครั้งนั้น ประกอบด้วย
- โตโยต้า
- ฮอนด้า
- อีซูซุ
- มิตซูบิชิ
- ซูซุกิ
- มิตซุย
- นิสสัน
- คูโบต้า