คุณไม่ได้เข้าใจผิด บริษัทโทรคมนาคมนี่ล่ะที่กำลังหันมาสนใจจับธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และมองการณ์ไกลว่าจะพัฒนาไปยาวๆ ด้วยการสร้างระบบเชื่อมต่อและเติมพลังงานที่ครบครัน

นับเป็นก้าวย่างสำคัญของดีแทค (DTAC) ในงาน Mobile Expo 2019 ที่ประกาศเปิดตัวธุรกิจใหม่นั่นคือแพลตฟอร์มการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือ EV Connectivity ที่ร่วมมือกับพันธมิตรอันได้แก่บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด (มหาชน) ตัวกลางประสานงานกับผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และบริษัท

ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เจ้าของตู้บุญเติม ที่จะนำร่องเปลี่ยนตู้บุญเติมแบบเดิมให้เป็นจุดชาร์จรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไฟฟ้าสิบแห่งในกรุงเทพฯ

อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่ และรักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า จากปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM 2.5 สะท้อนว่ากรุงเทพฯ จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง หนึ่งในตัวช่วยคือการให้คนหันมาเดินทางโดยรถพลังงานไฟฟ้าแทน

โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรถมอเตอร์ไซค์มากที่สุดในอาเซียน และอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก มียอดขายเฉลี่ยต่อปีถึง 2 ล้านคัน และอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ มีปัญหาการจราจรมาโดยตลอด การเปลี่ยนมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ดีแทคสนใจเรื่องนี้จึงสร้างแพลตฟอร์ม EV Connectivity ตัวกลางเชื่อมโยงผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า บริษัทประกัน บริษัทเช่าซื้อ และสถาบันการเงินและสินเชื่อ ผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้าหรือเปลี่ยนแบตเตอรี ระบบการผ่อนชำระ และบริการหลังการขาย

“เราเป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรคมนาคม เราผลักดันเรื่อง EV ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้กรุงเทพฯ เป็น สมาร์ตซิตี้ที่ทุกอย่างจะทำผ่านแอปเดียว มันต้องง่าย สะดวก และรวดเร็ว”

ด้านพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART กล่าวว่า บริษัทจะเข้าไปดูแลในส่วนของการให้บริการสถานีชาร์จและการเปลี่ยนแบตเตอรีสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

“เรามีตู้บุญเติมอยู่ 130,000 ทั่วประเทศ ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปลี่ยนเป็นสถานีชาร์จรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า แต่ในเบื้องต้นจะนำร่อง 10 ตู้ในกรุงเทพฯ ก่อน”

ผู้บริหารดีแทคเปิดเผยว่าที่ผ่านมาดีแทคขาย Voice, Data และเครื่องโทรศัพท์ แต่เราอยากขยายไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งการทำ EV Connectivity เปรียบเสมือนการทดลองและก้าวเข้าสู่ยุค 5G ในอนาคตด้วย

สำหรับแพลตฟอร์ม EV Connectivity อยู่ในช่วงพัฒนา โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมเปิดใช้งานได้อย่างครบวงจรในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งในระยะแรกจะมีรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวางขายอยู่ 5 รุ่น ทั้งแบรนด์ยุโรปและจีน ในระดับราคา 40,000 – 100,000 บาท

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ในเรื่องแบตเตอรี เป็นไปได้สองแนวทาง คือ แนวทางแรก ขายรถมอเตอร์ไซค์พร้อมแบตเตอรี และนำไปชาร์จที่ตู้ชาร์จ แต่ปัญหาคือลูกค้าอาจไม่อยากเป็นเจ้าของแบตเตอรี เพราะการเปลี่ยนแบตเตอรีครั้งหนึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง กับแนวทางที่สองคือการ Swop แบตเตอรี โดยมีแบตเตอรีให้ลูกค้าเปลี่ยนตู้ชาร์จเลย ซึ่งทางผู้บริหารดีแทคคาดว่าแนวทางอาจจะเป็นอย่างหลัง

นอกจากนี้ในเรื่องตู้ชาร์จที่เริ่มแรกจะมีอยู่ 10 สถานีคาดว่าจะเป็นเส้นรามคำแหง – บางกะปิ เพราะโดยศักยภาพของพื้นที่ และแต่ละจุดจะอยู่ห่างกันไม่เกิน 5 กิโลเมตร

โดยทางดีแทคจะเปิดให้ลูกค้าดีแทคประเภทรายเดือนสามารถลงชื่อจองออนไลน์ได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ส่วนถ้าไม่ใช่ลูกค้าดีแทคต้องเปิดเบอร์ใหม่ และมีค่าใช้จ่ายบริการรายเดือนขั้นต่ำอยู่ที่ 349 บาท ซึ่งจะเป็นการทำงานที่เชื่อมต่อกับซิมดีแทคไตรเน็ต ที่เมื่อได้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะต้องใส่ซิมเล็กๆ เข้าไปด้วย เพื่อให้ตัวรถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นที่จะดูรายละเอียดของตัวรถ ฟีเจอร์ต่างๆ เช่น เช็คสถานะแบตเตอรี การชำระค่าผ่อนรถ การค้นหาเส้นทาง และสถานีชาร์จ เป็นต้น

Tags: , , , ,