วันนี้ (30 มิถุนายน 2567) ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงความคืบหน้าคดี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิจารณาให้ทั้ง ‘คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ (กกต.) ในฐานะผู้ร้อง และ ‘พรรคก้าวไกล’ ในฐานะผู้ถูกร้อง เสนอบันทึกคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 7 วัน

พิธาทบทวนกระบวนการการยื่นยุบพรรคของ กกต.ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สื่อมวลชนได้ฟังก่อน โดยระบุว่า กกต.กำลังทำให้กระบวนการยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน บางพรรคการเมืองสามารถใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ได้ทันที แต่บางพรรคการเมืองใช้ มาตรา 92 และมาตรา 93 ประกอบกันในการพิจารณา

“หมายความว่า ส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วนขณะที่พรรคอื่นไปทางธรรมดา มันเป็นสองมาตรฐานที่เราต้องตั้งคำถามว่า กกต.ที่เป็นองค์กรอิสระสามารถมีดุลพินิจที่ไม่ต้องถ่วงดุลและไม่ต้องมีส่วนร่วมหรือไม่

“เรายังยืนยันว่าไม่สามารถตีความมาตรา 92 มาตรา 93 อย่างที่ กกต.ตีความได้ เพราะจะทำให้เกิดความสองมาตรฐานขึ้นในกระบวนยุบพรรคทันที”

ขณะที่ข้อมูลในเอกสารอบรมพรรคการเมืองของกกต. เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ระบุไว้ชัดเจนถึงแผนการดำเนินงานว่า เมื่อปรากฏว่า พรรคการเมืองใดกระทำตามมาตรา 92 ว่า ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้องพรรคการเมืองได้รับรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และผู้ถูกร้องมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้นกระบวนการของ กกต.ไม่มีการระบุว่า สามารถส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที

ขณะที่คำบันทึกถ้อยคำของพรรคก้าวไกล พิธานำมาแสดงต่อสื่อมวลชนในวันนี้เช่นเดียวกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำถามทั้งหมด 2 ข้อต่อพรรคก้าวไกล ดังนี้

  1. พรรคก้าวไกลโต้แย้งต่อ กกต.ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต.หรือไม่
  2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลได้ตอบคำถามและส่งกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลไว้ดังต่อไปนี้

ในประเด็นคำถามที่ 1 พิธาระบุว่า พรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งใดๆ ในชั้นการพิจารณาของ กกต. ดังนั้นแล้วจะเป็นไปได้อย่างไร ที่พรรคก้าวไกลจะมีโอกาสในการเรียกร้องให้ กกต.ทำตามกระบวนการ

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการตอบคำถามนี้ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยยกคำร้อง ‘คดียุบพรรคประชาธิปัตย์’ ในคดี 15/2553 มาแล้ว เนื่องจาก กกต.ไม่ทำตามกระบวนการมา ซึ่งความผิดในคดีนั้นมีความรุนแรงน้อยกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ 

“ถ้าผมมีโอกาสได้อธิบายเจตนา ได้มีโอกาสเสนอพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นของ กกต.ตามระเบียบ ผมเชื่อว่ามีโอกาสที่คดีนี้ถูกยกคำร้องตั้งแต่ชั้น กกต. เพราะฉะนั้นมันเป็นโอกาสที่ผมสูญเสียไป เป็นโอกาสที่ไม่สามารถที่จะชดเชยได้” พิธาให้เหตุผล

ส่วนประเด็นคำถามที่ 2 พิธาระบุว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล ‘ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์’ แต่พรรคไม่สามารถตอบคำถามต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละกรณีกับคดี 3/2567 และในเมื่อ กกต.ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรรคก้าวไกล ดังนั้นกระบวนการการพิจาณายุบพรรคก้าวไกลจะต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต.ที่ให้ถูกต้องตามกฏหมายเสียก่อน พรรคก้าวไกลจึงจะได้มีโอกาสเริ่มต้นกระบวนการและตอบข้อโต้แย้งในชั้นพิจารณาของ กกต.



Tags: , , , ,