วันนี้ (26 กรกฎาคม 2567) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกลอย่าง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ธิษะณา ชุณหะวัณ และเอกกวิน โชคประสพรวย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตราชเทวี พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่บริเวณชุมชนบุญร่มไทร ชุมชนริมทางรถไฟติดกับถนนพญาไท เพื่อสำรวจสภาพและรับฟังปัญหาของพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีแผนการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้ชุมชนดังกล่าวจะต้องรื้อถอนออกไป
ภายหลังที่พิธาและคณะเข้าร่วมรับฟังเสวนากับ เชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทรและชาวบ้าน สะท้อนความคืบหน้าว่า ปัจจุบันเครือข่ายภายในชุมชนสามารถร่วมกันผลักดัน ให้เกิดความร่วมมือระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้สำเร็จ ทำให้ได้รับอนุญาตในการ ‘เช่าพื้นที่’ ของรฟท. กว่า 7 ไร่ บริเวณบึงมักกะสัน เพื่อปลูกสร้างที่พักอาศัยทดแทนเป็นอาคารชุด 315 ยูนิตแทนชุมชนเดิมที่จะถูกรื้อถอนออกไป โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์ชุมชนเพื่อชำระค่าเช่าที่ดินแก่ รฟท.เป็นเวลา 30 ปี
จากความสำเร็จดังกล่าว ประธานชุมชนได้กล่าวว่า ต้องการให้ชุมชนบุญร่มไทรเป็น ‘โมเดล’ ให้กับชุมชนริมทางรถไฟต่างๆ กว่า 300 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้ประชาชนที่เป็นคนรายได้น้อยในเมืองต่างๆ เข้าถึงที่พักอาศัยได้
อย่างไรก็ตามทางชุมชนยังมีความกังวลในเรื่อง การจัดเก็บภาษีรวมแปลงที่สูงเกินกว่าการใช้สอยที่ดินจริง เพราะชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินเฉลี่ย 24 ตารางเมตรเท่านั้น แต่การคิดชำระภาษีกลับนำขนาดที่ดินรวมกว่า 7 ไร่ตามที่สัญญาเช่าระบุ ไปคิดภาษีแปลงรวมทำให้ภาษีที่ต้องจ่ายสูงเกือบเทียบเท่าค่าชำระที่อยู่อาศัย โดยแบ่งเป็นค่าบ้านกว่า 2,500-3000 บาท และภาษีกว่า 2,500 บาท ทำให้รายจ่ายสำหรับที่พักอาศัยในชุมชนใหม่ มีรายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน
นอกจากนั้น มีความกังวลใจในเรื่องของระยะเวลาการเช่าที่ดินที่มีระยะเวลากว่า 30 ปี แต่เหตุใดถึงมีความพยายามจากรัฐบาล ในการปรับแก้ไขกฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ (Leasehold) ให้กับชาวต่างชาตินานถึง 99 ปี
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การพัฒนาเมืองควรมีทิศทางเป็นอย่างไร พิธากล่าวสั้นๆ ว่า จะต้องไม่คำนึงการพัฒนาสำหรับเศรษฐกิจระดับสูงเพียงอย่างเดียว ยังต้องคำนึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้านมากขึ้น
“ปัจจัยในการตั้งธงพัฒนาเมืองจะต้องเอาปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม สภาพสังคม การจราจรเข้ามาร่วมกัน ซึ่งถ้าเราสามารถกระจายอำนาจทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอำนาจการบริหารจัดการน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายและดีมากกว่านี้” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ
ทั้งนี้ทีมข่าว The Momentum ได้เข้าไปสอบถามกับประชาชนในพื้นที่ได้ระบุว่า ณ วันนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะไม่ทราบว่า บ้านที่อยู่เดิมของตนภายในชุมชนจะถูกรื้อถอนเมื่อไร เพราะอีกฝั่งของริมทางรถไฟมีการรื้อถอนออกไปเรียบร้อยแล้ว
Tags: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, พรรคก้าวไกล, ก้าวไกล, ชุมชนบุญร่มไทร, บึงมักกะสัน