วันนี้  (15 ธันวาคม 2566) เวลา 11.00 น. ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงผลวิเคราะห์การทำงานของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน หลังครบวาระการดำรงตำแหน่ง 100 วันแรก ผ่าน ‘กรอบ 5 คิดs’ ในสิ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถทำได้ดี ยังต้องแก้ไข หรือทำได้ไม่ชัดเจน พร้อมเสนอแนวคิดที่ควรจะปรับเปลี่ยนในปีถัดไป เริ่มตั้งแต่

 1.คิดดี ทําได้ – คือสิ่งที่รัฐบาลลงมือทำแล้วและสามารถทำได้ดี ตั้งแต่การช่วยเหลือตัวประกันจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส, การจัดหาวัคซีน HPV มะเร็งปากมดลูกกว่า 1 ล้านโดส การจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ รวมไปถึงการจัดการพักหนี้นอกระบบ

สิ่งที่พิธาฝากรัฐบาลทำต่อในหัวข้อนี้ คือการเร่งช่วยเหลือตัวประกันอีก 9 ราย ที่ยังติดอยู่ในสงคราม การเร่งอนุมัติช่วยเหลือเงินเยียวยาแรงงานที่กลับมา ถอดบทเรียนหากเกิดสถานการณ์คล้ายกัน จนถึงการช่วยเหลือแรงงานให้สามารถกลับเข้าไปทำงาน หรือช่วยเหลือแรงงานที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศอิสราเอล

2. คิดไป ทําไป – คือสิ่งที่รัฐบาลลงมือทำแต่ยังมีการปรับเปลี่ยนไปมา เริ่มตั้งแต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ยังไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของเงิน เทคโนโลยีที่จะใช้ในการชำระเงิน และหลักเกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับเงิน ต่อมาคือเรื่องการปรับเงินเดือนข้าราชการ และสุดท้ายคือโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึกสองฝั่งทะเล คือท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร เเละท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง 

แม้เห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ทว่าพิธายังคงห่วงถึงผลกระทบในระบบการคลังจากการใช้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้น พิธาจึงฝากรัฐบาลคิดถึงแผนสองหากนโยบายดังกล่าวดำเนินไม่สำเร็จ หรือถ้ามั่นใจว่าจะดำเนินด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลวอลเล็ต ก็ขอให้ไม่มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดนโยบาย เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายไปมาตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้งจนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 4 ครั้ง 

3. คิดสั้น (ยัง) ไม่คิดยาว – คือสิ่งที่รัฐบาลดำเนินอยู่ โดยการวางแผนระยะสั้น ไม่ว่าจะการลดเพดานค่าไฟลงมาต่ำเหลือหน่วยละ 3.99 บาท ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนธันวาคม เรื่อยมาถึงมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่เรียกเก็บค่าไฟอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เมื่อมติประกาศออกมา นายกฯ กลับไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้มีการปรับเหลือ 4.20 บาทต่อหน่วย ต่อมาคือนโยบายลดค่ารถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงและรถไฟฟ้าสายสีแดง แถบชานเมือง 20 บาทตลอดสาย ซึ่งมีประชาชนได้รับผลประโยชน์ราว 8 หมื่นราย หรือคิดเป็น 4.6% ของผู้ใช้รถไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น

หัวข้อนี้ พิธาวิเคราะห์ว่า สิ่งที่รัฐบาลควรจะแก้ไขในหัวข้อนี้ คือการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถช่วยลดค่าไฟได้ 70 สตางค์ต่อหน่วย, เร่งแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชนเพื่อลดค่าพร้อมจ่าย ซึ่งสามารถช่วยลดค่าไฟได้ 15 สตางค์ต่อหน่วย, ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่มีผู้ใช้จํานวนมากก่อน สุดท้ายคือออกมาตรการที่ครอบคลุมโครงข่ายขนส่งสาธารณะทุกประเภท เช่น พัฒนาระบบค่าโดยสารร่วม

4. คิดใหญ่ ทําเล็ก – คือสิ่งที่รัฐบาลแผนนโยบายที่คาดหวังผลลัพธ์สูง แต่ปัจจุบันภาพรวมการทำงานยังเล็กอยู่ โดยเฉพาะนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่แยกย่อยออกมา คือการตั้งคณะกรรมการดูแลนโยบายซอฟต์พาวเวอร์, การเคาะงบประมาณ 5,164 ล้านบาท สนับสนุน 11 อุตสาหกรรม, เสนอตั้งหน่วยงาน Thailand Creative Content Agency (THACCA), เสนอตั้งศูนย์บ่มเพาะ Upskill – Reskill แก่แรงงาน 20 ล้านคน ภายใน 4 ปี เริ่มปีแรก 1 ล้านคน รวมถึงจัด Winter Festival และเทศกาลสงกรานต์ตลอดเดือนเมษายน

หัวข้อนี้ พิธาเสนอแนะสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพิ่มเติม คือการเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อเพิ่มเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน, เร่งยื่น พ.ร.บ.จัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) เพื่อสร้างความเข้าใจแก่คนวงการสร้างสรรค์ว่า หน่วยงานที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีโครงสร้างและแนวคิดรองรับช่วยเหลือ หรือต่างจากหน่วยงานเดิมอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, OKMD และ TK Park อย่างไร

5. คิดอย่าง ทําอย่าง – ประเด็นใหญ่ของหัวนี้คือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เดิมที่ทั้งพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีแนวคิดส่วนใหญ่ที่ใกล้เคียงกว่า 90% ทั้งที่มาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จนถึงการทำประชามติ ทว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับขั้วตรงข้ามที่ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งการปฏิรูปก็ตาม นั่นทำให้การดำเนินงานที่ออกมาในส่วนนี้ไม่ชัดเจน

จากการศึกษาในรัฐสภาครั้งก่อนและการดีเบตหาเสียงกับประชาชน พิธาเสนอสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำในประเด็นนี้ คือการทำประชามติ โดยมี 2 ใน 3 คำถามต่อไปนี้อยู่ ได้แก่ 

1. ควรแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย สสร.หรือไม่ 

2. สสร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ 

3.สสร.ควรมีอํานาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่

ช่วงท้าย พิธาระบุว่า ในปี 2567 รัฐบาลควรมี Strategic Roadmap ที่ชัดเจน แบ่งเป็น 4 ข้อหลัก ได้แก่

1. มีแผนชัดเจนในการทํางาน – เริ่มจากการแถลงงบประมาณต่อสภาฯ ชี้แจงว่าในอีก 1 ปีข้างหน้ามีแผนจะทําอะไรบ้าง พร้อมกับตัวชี้วัดที่ฝ่ายค้านจะสามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน

2.รัฐบาลต้องมีกระบวนการทํางานที่เป็นมืออาชีพมากกว่านี้ – การสั่งการต้องไม่สับสน ก่อนจะประกาศอะไรต้องคิดถึงวิธีที่จะนําไปสู่การปฏิบัติเสียก่อน นั่นคือนอกจาก ‘Know What’ ต้องมี ‘Know How’ ไม่ใช่คิดไปทําไป ให้ข้าราชการเสนอมา พอไม่ถูกใจก็ให้ไปแก้ใหม่ โดยที่ไม่มีภาพชัดเจนเลยว่าต้องการอะไรกันแน่

3.รัฐบาลผสมต้องทํางานให้เป็นเอกภาพกว่านี้ – ต้องพูดคุยกันจนตกผลึกถึงนโยบายหรือโครงการเรือธง ไม่ใช่ขัดแย้งกันในขั้นดําเนินการ และนายกฯ ต้องมีอํานาจนําเหนือคณะรัฐมนตรีอย่างแท้จริง

4.ทําการศึกษาโครงการอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป – ในปีหน้า หากรัฐบาลจะมีโครงการที่เป็น Mega Project อีก เช่น แลนด์บริดจ์ ก็ขอให้ทําการศึกษาอย่างละเอียดก่อนประกาศออกไป หรือในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่มีความเสี่ยงเกิดการคอร์รัปชันสูง

ทั้งนี้ พิธาเน้นย้ำว่า การแถลงครั้งนี้เป็นการ ‘วิเคราะห์’ การทำงานของรัฐบาลช่วง 100 วัน เพราะไม่สามารถตัดเกรดได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเองรัฐบาลยังไม่มีแผนการทำงานที่ชัดเจน เห็นได้จากคำตอบของนายกฯ หรือนโยบายที่มีการเปลี่ยนไปมาบ่อยครั้ง

“ตอนแรกคนที่ทำสไลด์มาเขาเขียนว่าเป็นการ ‘ประเมิน’ แต่ผมก็บอกกลับไปว่า เราประเมินไม่ได้ ต้องเป็นวิเคราะห์ เพราะเมื่อคุณไม่มีโรดแมปที่ชัดเจนออกมาให้ดู เราก็ไม่รู้ว่าคุณตั้งใจที่จะทำอะไร และไม่สามารถประเมินออกมาเป็นเกรดได้ ขณะเดียวกัน การวิเคราะห์นี้เป็นการวิเคราะห์ในแบบฝ่ายค้านเชิงรุก วิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ก็มีในสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ดี เช่น การช่วยเหลือตัวประกัน หรือการจัดหาวัคซีน HPV แต่ที่เหลือก็มีความจำเป็นต้องปรับปรุง”  

สุดท้ายนี้ พิธาตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงประเด็นการนัดสืบพยานคดีถือหุ้น ITV ในวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยระบุชัดเจนว่า พร้อมที่จะให้ข้อมูลแท้จริงกับศาลอย่างตรงไปตรงมา และมั่นใจว่าจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองแน่นอน

“ผมเตรียมดูถ้อยแถลงสุดท้ายที่จะออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร และก็พร้อมที่จะขึ้นให้การไต่สวนพยาน ทั้งในเรื่องของหลักฐานส่วนตัวที่เป็นผู้จัดการมรดก หรือหลักฐานที่ระบุว่า ช่อง ITV ไม่ได้เป็นสื่ออีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าจะมองในเรื่องของรายได้ หรือใบขออนุมัติการทำสื่อที่ต้องขอจากทาง กสทช. ซึ่งตรงนี้ กสทช.ตอบกลับมาชัดเจนว่า ไม่มีใบขออนุมัติการทำสื่อจากทาง ITV ก็มั่นใจครับ ว่าจะไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 100% ถ้าเทียบกับฎีกาการวินิจฉัยในช่วงอดีต”

Tags: , , ,