วันนี้ (6 กันยายน 2566) เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาตัดสินให้ พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เนื่องจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเนื้อความในเชิงตำหนิว่ารัฐบาล ‘ส้นตีน’ และบริภาษถึงสถาบัน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565

สำหรับคดีความนี้มี พันตำรวจเอก นพฤทธิ์ กันทา ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา โดยได้รับมอบหมายคดีจากคณะทำงานคดีความมั่นคงภูธรจังหวัดเชียงใหม่และตำรวจภูธรภาค 5

ทั้งนี้ พิมชนกถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่กลับถูกนำตัวเดินทางมายังสถานีตำรวจภูธรแม่โจ้ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจเจ้าของคดีในทันที ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยศาลกำหนดให้มารายงานตัวทุกๆ 12 วันในช่วงระยะฝากขัง ก่อนที่อัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดี

ในคดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 และ 27-28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา จากภาพรวมในการสืบพยาน จากที่พิมชนกโพสต์ว่า ‘สถาบันส้นตีน’ ซึ่งเป็นจุดที่ถูกตั้งข้อหาว่าผิด ม.112 เพราะเป็นการด่าทอและดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พิมชนกกล่าวว่า ‘สถาบัน’ ในบริบทที่ว่าคือ ‘สถาบันการศึกษา’ ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่จากผลการตัดสินออกมาว่าเธอมีความผิดตาม ม.112 เพราะมีการพาดพิงเหยียดหยามถึงสถาบันในโพสต์นี้ และก่อนหน้านี้เธอได้โพสต์เฟซบุ๊กและมีการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีพฤติการณ์ที่อาจเป็นไปในทางที่ปองร้ายกับสถาบันกษัตริย์ เช่น การร่วมกิจกรรมยืน หยุด ทรราช เป็นเวลา 112 นาที โดยพิมชนก ถือป้าย ‘ปฏิรูป ≠ ล้มล้าง ยกเลิก ม. 112’ และ ‘คุกไม่ใช่ที่เคาท์ดาวน์’

สำหรับฝั่งจำเลยระบุว่า ในบทบัญญัติของ ม.112 ระบุเพียงว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ได้รวมถึงคำว่า ‘สถาบัน’ แต่อย่างใด

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีได้เขียนหนังสือเชิญให้ ผศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ มาให้ความเห็นในคดีความดังกล่าว โดยพันธุ์ทิพย์กล่าวว่า คำว่า ‘สถาบัน’ มีความหมายได้ 2 ทาง คือเป็นองค์กรและเป็นตัวบุคคล โดยหากพิจารณาข้อความในโพสต์นี้ตีความได้ว่า ‘รัฐบาล’ หมายถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ส่วนคำว่า ‘สถาบัน’ ต้องมีความหมายเหนือกว่าคำว่ารัฐบาล ซึ่อ่านแล้วก็เข้าใจในทันทีว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม ม.112 ผนวกกับพฤติการณ์ในฐานะนักกิจกรรมของพิมพ์ชนกก่อนหน้า ทำให้สามารถตีความได้ในเชิงนั้น อีกทั้งยังกล่าวว่าเหล่านักกิจกรรมมักจะเลี่ยงใช้คำว่า ‘กษัตริย์’ เพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ตำรวจยังได้เชิญ ผศ.ดร.สุนทร คำยอด อาจารย์ประจำและประธานหลักสูตรภาษาไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย ผศ.ดร.สุนทรได้เบิกความตอนหนึ่งว่า หากมีการพูดถึงสถาบันตามหลังคำว่า ‘รัฐบาลส้นตีน’ ย่อมหมายความได้เพียงอย่างเดียวคือสถาบันพระมหากษัตริย์

คดีนี้จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ในการตีความถึงคำว่า ‘สถาบัน’ จะสามารถหมายถึง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ได้อย่างเดียวหรือไม่ และหากตีความออกมาในลักษณะดังนี้ คำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ จะกลายเป็นคำที่ถูกคุ้มครองด้วย ม.112 ที่เป็นบัญญัติคุ้มครองตัวบุคคล ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือไม่ และอาจส่งผลให้การตีความคดี ม.112 ในอนาคตมีการขยายความกว้างขวางมากขึ้นมากน้อยเพียงใด

ในขณะนี้พิมชนกถูกศาลสั่งจำคุกตาม ม.112 แล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอประกันตัว

Tags: , ,