หนึ่งในประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในช่วงเวลานี้ คือการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นไปยังอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศไทย ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเขาที่ดีที่สุดในประเทศ และมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนจำนวนมากในช่วงเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวของทุกปี
ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือความเห็นที่ถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยในการสร้างกับฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งทั้งหมดล้วนวางอยู่บนผลประโยชน์ที่ ‘ควรได้’ และ ‘อาจเสียไป’ ของแต่ละฝ่าย หากว่ามีการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นจริง
การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งแรกที่จังหวัดหนองบัวลำภู ช่วงเช้าวันนี้ 4 ธันวาคม 2566 กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานตอนบนมีการเสนอของบประมาณ 750 ล้านบาท เพื่อนำไปพัฒนาในแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยจังหวัดเลยมีแผนจะเสนอให้รัฐบาลปัดฝุ่นศึกษาและสร้างกระเช้าไฟฟ้า รวมถึงงบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้าง ทำให้เกิดการจับตาจากหลายฝ่าย เนื่องจาก ‘การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง’ ก่อให้เกิดข้อถกเถียงมากมายตั้งแต่อดีต
-
มหากาพย์การผลักดันการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ประเด็นเรื่องของการผลักดันเพื่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานหรือย้อนหลังไปไม่กี่ปี แต่เรื่องนี้ต้องย้อนไปไกลถึงจุดเริ่มต้นในปี 2525 ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเสนอกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ พิจารณาสร้างระบบขนส่งขึ้นและลงอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ก่อนมีการจัดทำรายละเอียดโครงการในเวลาต่อมา
ถัดมาในปี 2526 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติเห็นชอบในหลักการดังกล่าว แต่ให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
กระทั่งในปี 2528 คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ได้ข้อสรุปว่า แนวทางที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และสะดวกต่อการควบคุมดูแล คือการเริ่มต้นจากบริเวณใกล้เคียงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและสิ้นสุดที่บริเวณหลังแป โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ การศึกษายังระบุว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความแออัดของนักท่องเที่ยวได้ รวมถึงสามารถขนย้ายนักท่องเที่ยวที่เจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บสู่ด้านล่างได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มองค์กรอนุรักษ์และคนในท้องถิ่น เนื่องจากความกังวลถึงผลประโยชน์ที่อาจเสียไป หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นจริง
มีการศึกษาเรื่องสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงและผลักดันมาตลอดหลังจากนั้น ทั้งจากภาครัฐและเอกชนจังหวัดเลย รวมถึงการกำหนดรูปแบบและวิธีจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม เส้นทาง หรือรูปแบบของกระเช้า สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับความกังวลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กระทั่งในปี 2554 ตัวแทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอให้มีการศึกษา EIA หรือผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เนื่องจากมองว่า ภูกระดึงมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์
กระทั่งรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยมีมติให้ศึกษาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 และทราบผลการศึกษาว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะมีมูลค่า 633 ล้านบาท โดยแบ่งงบประมาณออกเป็น 3 ปี ปีละ 200 ล้านบาท แต่ยังติดเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ในการสร้างกระเช้า
ต่อมา หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีในเวลานั้นระบุว่า จากการรับฟังความคิดเห็น มีถึง 99.99% ที่เห็นด้วยในการสร้าง และมีไม่ถึง 1% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
แต่การศึกษาผลกระทบก็ยังไม่จบ ผ่านมาเกือบ 10 ปี กระเช้าขึ้นภูกระดึงก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต่อไป และยังคงไปไม่ถึงขั้นตอนการอนุมัติก่อสร้างเสียที
-
ผลประโยชน์หรือผลกระทบ
ในปีที่ผ่านมา (2565) มีการเดินทางไปศึกษาระบบการจัดการกระเช้าลอยฟ้าฟานซีปัน เมืองซาปา ประเทศเวียดนาม โดย ณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล ประธานหอการค้าจังหวัดเลย และชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย รวมถึงข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องและกลุ่มพ่อค้าในจังหวัดเลย เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจของเมืองซาปา หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงขึ้นจริง
ในเวลานั้น ณัฐพลระบุว่า การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงไม่ได้เป็นแค่การกระตุ้นเศรษฐกิจเลย แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งภาคอีสาน เนื่องจากจะมีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และมองว่าในยุคนี้สามารถบริหารจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยาก จากความก้าวหน้าทางวิศวกรรมจึงอยากให้ภาครัฐผลักดันโครงการดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
ขณะที่ย้อนไปในปี 2562 ศศิน เฉลิมลาภ เขียนบทความในเว็บไซต์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า แม้การสร้างกระเช้าภูกระดึงจะมีสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ก็ยังมี ‘โจทย์ที่ต้องคำนึงถึง’ 3 ระดับ โดยสรุปได้ดังนี้
-
ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาที่เป็น Trekking Trail ที่ดีที่สุดของประเทศ มีระยะทางการเดินที่ไม่ไกลมาก มีที่สวยๆ ให้เดินเที่ยวมากมาย ได้ซึมซับความงามจากธรรมชาติและมิตรภาพระหว่างทาง เมื่อมีกระเช้าอาจเป็นการทำลายความท้าทายดังกล่าว และทำให้คนเลือกทางสบายในการขึ้นกระเช้าแทน
-
ผลจากการศึกษาและการออกแบบระบบกระเช้า คาดว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย แต่ผลที่ตามมาหลังจากมีกระเช้า ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่ม เช่น อาคาร ถนนหนทาง รวมถึงการจำกัดคนค้างแรม การจัดการขยะ ต่างๆ
-
คำถามที่ว่า หากมีคนขึ้นไปจำนวนมาก จะพร้อมเปลี่ยนพื้นที่อนุรักษ์ที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ ให้กลายเป็นการรองรับการบริการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบในอนาคตหรือไม่
-
ปัดฝุ่นรื้อสร้างโครงการ
การผลักดันโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงกลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง หลังจาก พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า จะมีการขออนุมัติงบประมาณ 28 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี ในการออกแบบโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ในการประชุม ครม.สัญจรนัดแรก (4 ธันวาคม 2566)
ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ระบุว่า นี่เป็นเพียงการของบประมาณเพื่อสำรวจและออกแบบก่อสร้าง เพื่อประกอบการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ต้องมีการแนบแบบก่อสร้าง ไม่ใช่การเสนอเพื่อขออนุมัติก่อสร้าง โดยจะมีการเก็บข้อมูลและความเป็นไปได้ในการสร้างกระเช้าไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566-กันยายน 2568
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ พวงเพ็ชรซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นอดีต ส.ส.เลย เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ยืนยันว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะเป็นการสร้างความเจริญของจังหวัดเลย
“เมื่อก่อนการศึกษาจะมีทางขึ้นสองทาง ทางหนึ่งยังเป็นทางเดินอยู่ อีกทางหนึ่งด้านหลังเป็นกระเช้า ซึ่งเป็นคนละทางกัน ใครยังอยากได้ฟีลลิ่งการเดินก็เดินขึ้นไป คนเฒ่าคนแก่ที่อยากเห็นยอดภูเรือหรืออยากเห็นเมืองเลยก็ไปขึ้นด้านกระเช้า ดิฉันคิดว่า ถ้าเป็นความเจริญของจังหวัดเลย ทุกคนคงเห็นชอบ เพราะจะมีรายได้เข้าจังหวัดมากมาย และต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ”
ทางด้าน ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลภาพรวมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุเรื่องการขออนุมัติงบประมาณว่า ยังมีเสียงต่อต้านจากกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์ในพื้นที่ จึงต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจ
“คงต้องหารือหลายฝ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความคล่องตัว การอำนวยความสะดวกของการท่องเที่ยว และเป็นการทำให้การท่องเที่ยวสามารถเดินได้ ทำให้การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ก็จะมีเรื่องของกลุ่มอนุรักษ์ ซึ่งมีความคิดความเห็นอยู่ ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องระดมความคิด เสนอ พิจารณาร่วมกัน”
ขณะที่รายงานล่าสุด นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังไม่มีการพิจารณาเรื่องการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงแต่อย่างใด ทำให้มหากาพย์การสร้างกระเช้าภูกระดึงยังคงไม่ได้บทสรุปที่ชัดเจน
และยังคงอยู่ในขั้นตอน ‘ศึกษาแต่ยังไม่อนุมัติ’ เหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
อ้างอิง:
– https://www.matichon.co.th/politics/news_51664
– https://www.nationtv.tv/news/region/378885356
– https://www.dailynews.co.th/news/2961653/
– https://www.thaipbs.or.th/news/content/334561
– https://www.thaipbs.or.th/news/content/334569
– https://mgronline.com/politics/detail/9590000020210
Tags: ภูกระดึง, จังหวัดเลย, Report, กระเช้าภูกระดึง