วันนี้ (25 กรกฎาคม 2567) ในที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศุภโชติ ไชยสัจ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถามกระทู้สดด้วยวาจาต่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในประเด็นค่าเชื้อเพลิงพลังงานที่ประชาชนแบกรับมีราคาสูง เนื่องจากความผิดพลาดในการวางแผนพลังงานชาติ รวมไปถึงการบริหารและใช้งบประมาณของภาครัฐ

ศุภโชติเริ่มถามกระทู้ในประเด็นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงที่ราคาแก๊สโซฮอล์ราคาประมาณลิตรละ 40 บาท และดีเซลประมาณลิตรละ 33 บาท ซึ่งเป็นผลจากมาตรการ 2 ส่วน คือ การตรึงราคาน้ำมันผ่านการใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเป็นส่วนต่างราคา ทำให้สถานภาพปัจจุบันของกองทุนเป็นหนี้สูงกว่า 1.1 แสนล้านบาท และมาตรการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้ 9 เดือนที่ผ่านมาจัดเก็บภาษีพลาดเป้าไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า นอกเหนือจากกลไกทั้งสอง กระทรวงพลังงานมีมาตรการอื่นอย่างไร ที่จะลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

พีระพันธุ์ตอบว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีการแก้ไขเรื่องมาตรการลดภาระค่าครองชีพ หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมันซึ่งต้นทุนมีเพียง 21 บาทเท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือเป็นเงินสำหรับภาษีต่างๆ รวมกว่า 20 บาท ไม่ว่าจะเป็นภาษีสรรพสามิตที่ประเทศไทยจัดเก็บสูงกว่าสิงคโปร์ถึง 10 เท่า ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่ได้มีการตั้งงบรายจ่ายประจำปีสำหรับการอุดหนุนค่าพลังงานเหมือนประเทศมาเลเซีย

อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันบทบาทของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีอำนาจในกำหนดเพดานภาษีแล้ว สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ทำให้เหลือวิธีการลดภาระของประชาชนเพียงแค่การ ‘ใช้เงินอุดหนุน’ จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น

“วันนี้กำลังคิดวิธีการใหม่ เราจะทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีกฎหมาย และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวทำให้กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจ สิ่งที่ผมกำลังทำตอนนี้คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายน้ำมันใหม่ เพื่อให้ปัญหาที่ผมเป็นห่วง มีวิธีการอื่นที่ในการแก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันและดูแลราคาพลังงานใหม่” พีระพันธุ์กล่าว

ส.ส.พรรคก้าวไกลยังถามถึงประเด็น ‘ค่าไฟแพง’ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกประกาศว่าค่าไฟฟ้าอาจพุ่งสูงถึง 4.60-6 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมาตรการตรึงราคาในอดีตผ่านการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟฝ.) และการปิโตรเลียมและประเทศไทย (ปตท.) แบกรับหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท และหากปล่อยเป็นเช่นนี้ในอนาคตอาจจะมีหนี้สินกว่า 1.5-2 แสนล้านบาท เพื่อตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.18 บาท

ทั้งนี้ศุภโชติเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ไว้ว่า ให้นำงบกลางจำนวน 3 หมื่นล้านบาทมาช่วยตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วย อีกทั้งยังสามารถชำระหนี้แก่ กฟฝ.และ ปตท. นอกจากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยังต้องไปเจรจากับนายทุนพลังงาน เพื่อดำเนินการปรับสัญญาโรงไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะปัจจุบันประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ที่แบกรับต้นทุนโรงงานไฟฟ้าส่วนเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ด้านพีระพันธุ์กล่าวถึงปัญหาดังกล่าวว่า มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและอัยการไปดำเนินการเจรจาแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ภาระหนี้สินของ กฟฝ.และ ปตท.ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทั้งสองหน่วยงานรับไหว โดยไม่มีความลำบากในการแบกรับภาระแทนประชาชน

ทั้งนี้ราคาค่าไฟฟ้าที่อยู่หน่วยละ 4.18 บาทต่อหน่วย ตนมองว่าเป็นราคาที่ประชาชนรับได้

ขณะที่แผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ศุภโชติมีความกังวลในการร่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิดพลาด ทั้งการเติบโต GDP ของประเทศที่ระบุว่า จะโต 3.7% แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาระบุ GDP จะโตเพียง 1.9% เท่านั้น

“ค่าไฟฟ้า-ราคาน้ำมัน เป็นผลพวงจากการวางแผนที่ผิดพลาด ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าเกินความจำเป็น ถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ ต้องให้ความสำคัญกับแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ โดยลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติลง และคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตอย่างถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น เพื่อลดการสร้างโรงไฟฟ้าในอนาคต” ศุภโชติกล่าว

พีระพันธุ์ตอบความกังวลดังกล่าวสั้นๆ ว่า แผนที่ออกมายังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังสามารถปรับแก้ไขได้ ถ้าการประมาณการผิดพลาดก็ต้องดำเนินการแก้ไข สำหรับแนวทางการใช้ไฟฟ้าก็ต้องลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานหลักต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เพราะตนก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

Tags: , , , , ,