นักวิชาการชื่อดังของยูกันดาถูกลงโทษจำคุก 18 เดือน จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์ประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี ทางเฟซบุ๊กมากมาย รวมถึงเรียกเขาว่า “ไอ้ตูด” (a pair of buttocks)

สเตลลา ยานซี อาจารย์มหาวิทยาลัย นักมานุษยวิทยาการแพทย์ และนักสิทธิสตรีถูกรัฐบาลดำเนินคดีข้อหาคุกคามทางไซเบอร์ โดยใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ (Computer Misuse Act 2011) เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง เธอต้องจำคุกอีก 9 เดือน หลังจากถูกฝากขังมาแล้ว 9 เดือน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ยานซีฟังคำตัดสินของศาลผ่านวิดีโอคอลจากในคุก เธอตะโกนคำหยาบ และโชว์หน้าอก ตามด้วยชูนิ้วกลางหลายครั้งระหว่างฟังคำตัดสิน

นี่เป็นครั้งที่ 2 ที่เธอถูกตั้งข้อหา ‘การสื่อสารที่มุ่งโจมตี’  (offensive communication) ตำรวจเข้าจับกุมเธอเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน หลังจากที่เธอบรรยายเกี่ยวกับการจัดให้มีผ้าอนามัยแก่นักเรียนหญิง ซึ่งเป็นประเด็นที่เธอโต้แย้งกับภริยาของประธานาธิบดี ยานซีถูกควบคุมตัวไว้ 18 ชั่วโมง และถูกทำร้ายร่างกาย

ความผิดของเธอมาจากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อเดือนกันยายน 2018 ซึ่งเธอบอกว่า อยากให้มูเซเวนี ประธานาธิบดีวัย 74 ปีถูกหนองที่เป็นกรดกัดตั้งแต่อยู่ในช่องคลอดของแม่ของเขา

ยานซีเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเมเกอเรีย ที่กรุงคัมปาลา การแสดงความเห็นและข้อความที่เธอโพสต์วิจารณ์รัฐบาลถูกนำไปแชร์อย่างกว้างขวาง พนักงานฝ่ายโจทก์บอกว่าข้อความที่เธอโพสต์เป็นการโจมตีที่โหดเหี้ยมต่อประธานาธิบดีและแม่ของเขา

โพสต์ต่างๆ ของยานซีมีถ้อยคำที่หยาบคายเกี่ยวกับประธานาธิบดีและภริยา เช่น บอกว่าภริยาของเขามีสมองขนาดเท่าอวัยวะเพศ เธอบอกว่า การใช้ความหยาบคายแบบสุดโต่งเป็นยุทธวิธีทางการเมืองที่ชาวยูกันดาใช้ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมมาก่อน ยานซีเคยโพสต์ข้อความว่า “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเองเสียบ้าง ก่อนที่จะคิดว่าฉันเป็นคนแรกที่ต่อสู้ด้วยคำพวกนี้”

กฎหมายการใช้คอมพิวเตอร์ในทางที่ผิดถูกนำมาใช้ละเมิด คุกคาม และปราบปรามผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลยูกันดา

ในปี 2017 เธอถูกจับและควบคุมตัวเป็นเวลา 33 วัน จากการบรรยายว่ามูเซเวนีเป็นไอ้ตูด (a pair of buttocks) หลังจากที่เขากลับคำ ไม่ยอมทำตามแคมเปญที่เขารณรงค์ให้จัดหาผ้าอนามัยฟรีแก่นักเรียนหญิง เธอถูกตั้งข้อหาโพสต์ข้อความที่ “ก่อกวนความสงบ หรือความเป็นส่วนตัวของประธานาธิบดี” อัยการสูงสุดของยูกันดายังใช้กฎหมายในยุคอาณานิคมชื่อกฎหมายรักษาอาการทางจิต (Mental Treatment Act of 1938)  ซึ่งอังกฤษใช้จัดการกับชาวแอฟริกันที่ต่อต้านมาใช้กับเธอ ทำให้เธอต้องเข้ารับการประเมินสุขภาพจิต แต่เธอไม่ยอม

นับเป็นครั้งที่ 2 ที่กฎหมายนี้ถูกนำมาใช้กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  คดีแรกเป็นกรณีที่นักศึกษาคนหนึ่งถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวชหลายครั้ง หลังจากโพสต์ข้อความเยาะเย้ยถากถางประธานาธิบดี

ประธานาธิบดีมูเซเวนีครองอำนาจมาแล้ว 31 ปี คุกคามผู้เห็นต่างทางการเมืองและนักข่าวอย่างต่อเนื่อง มีการห้ามถ่ายทอดสดการเดินขบวนประท้วง ปิดกั้นโซเชียลมีเดียระหว่างที่มีการเลือกตั้ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์

ในโพสต์เมื่อไม่นานมานี้ เธอเขียนบทกวีเกี่ยวกับการขึ้นศาล “การดำรงอยู่ของฉันในศาลของพวกคุณในฐานะผู้ต้องสงสัยและนักโทษ เน้นให้เห็นถึงเหลี่ยมมุมของเผด็จการ ฉันเผยให้เห็นการรุกล้ำของระบอบเผด็จการ ฉันปฏิเสธที่จะเป็นผู้ชมในการพยายามต่อต้านเผด็จการที่เลวร้ายที่สุด”

 

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2019/08/03/world/africa/uganda-stella-nyanzi-jail.html

https://www.aljazeera.com/news/2019/08/ugandan-academic-stella-nyanzi-jailed-harassing-museveni-190803141817222.html

https://www.theguardian.com/global-development/2019/aug/02/activist-who-branded-uganda-president-a-dirty-delinquent-dictator-faces-jail-yoweri-museveni-cyber-harassment

ภาพ:  REUTERS/James Akena

Tags: , , ,