วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2567) ที่ทำการพรรคประชาชน พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน แถลงความคืบหน้าการผลักดันกฎหมายสภาผู้แทนราษฎรตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยยืนยันบทบาทการทำงานของพรรคประชาชนว่าเป็น ‘ฝ่ายค้านเชิงรุก’
พริษฐ์กล่าวว่า พรรคประชาชนยังคงการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น เหมือนสมัยเป็นพรรคก้าวไกลผ่านกลไกของสภาฯ ทั้งการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 52 ตรวจสอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี การตั้งกระทู้ถามสด และอาศัยกลไกของคณะกรรมาธิการทั้ง 35 ชุด เพื่อนำเสนอแนวทางที่ควรจะเป็นในการแก้ไขปัญหาของประเทศที่ดีกว่า
ขณะเดียวกันยังระบุถึงบทบาทของพรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกผ่านการนำเสนอกฎหมาย เพื่อพิจารณาต่อสภาฯ เพื่อฉายภาพแนวทางการพัฒนาประเทศฉบับพรรคประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงในสภาฯ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ตาม โดยสาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้น พริษฐ์ให้เหตุผลประกอบไว้ทั้งหมด 3 ข้อ คือ
-
ดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายให้เป็นไปตามนโยบายตั้งแต่การหาเสียงสมัยการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566
-
เป็นการตั้งวาระของสังคม (Agenda Setting) ให้รัฐบาลต้องหาทางออกในประเด็นที่พรรคประชาชนมองว่า เป็นวาระสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายที่พรรคประชาชนยื่นเข้าไปทั้งหมด แต่ทำให้รัฐบาลต้องส่งร่างกฎหมายประกบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
-
เป็นการทำงานเชิงความคิด ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายของพรรคประชาชนจะไม่ผ่านการพิจารณาของสภาฯ แต่การใช้พื้นที่สภาฯ เพื่ออธิบายความสำคัญของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้น
พริษฐ์ยังฉายภาพร่างกฎหมายของพรรคกว่า 84 ฉบับที่ยื่นเข้าสภาฯ โดยแบ่งเป็น 25 ฉบับที่ผ่านการลงมติรับร่างในวาระที่ 1 ขณะที่อีก 59 ฉบับยังไม่ลงมติว่าสภาฯ จะรับร่างในวาระที่ 1 หรือไม่ จากสถิติพริษฐ์ให้ความเห็นว่า เป็นการทลายข้อเท็จจริงที่ว่า พรรคเสนอร่างกฎหมายไปแล้วไม่ได้รับการพิจารณา
โดยได้ตัวอย่างร่างกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ผ่านการพิจารณา เช่น ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือร่างกฎหมายไม่ตีเด็ก ขณะที่ร่างกฎหมายที่อยู่ในชั้นของคณะกรรมาธิการมีกว่า 11 ฉบับ เช่น ร่างอากาศสะอาดและร่างขนส่งทางราง
ขณะร่างกฎหมายที่รอเข้าระเบียบวาระประชุมมีด้วยกัน 41 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม หรือ พ.ร.บ.ล้มละลาย คณะรัฐมนตรีขอไปศึกษาเป็นเวลา 60 วัน
นอกจากนั้นพริษฐ์ระบุว่า พรรคประชาชนจะนำเสนอร่างกฎหมายอีก 21 ฉบับ เพื่อเปิดโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ การเปิดโปงทุจริต ปลดล็อกที่ดิน ปลดล็อกการท่องเที่ยว ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการศึกษา และปกป้องสิ่งแวดล้อม ในวาระการประชุมสภาฯ สมัยถัดไป
“การผลักดันกฎหมายของพรรคประชาชน ถือว่าเป็นกลไกสำคัญในการทำงานในสภาฯ ของพรรคฐานะฝ่ายค้านเชิงรุก ที่ไม่เพียงแต่ตรวจสอบรัฐบาล แต่ยังเสนอแนะรัฐบาลผ่านการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน” โฆษกพรรคประชาชนกล่าว
Tags: พริษฐ์, พรรคประชาชน, กฎหมาย, รัฐสภา, ฝ่ายค้าน