วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2024) การประท้วงในปากีสถานแพร่กระจายทั่วประเทศ หลังพรรคปากีสถานเทห์รีก-อี-อินซาฟ (Pakistan Tehreek-e-Insaf: PTI) ของ อิมราน ข่าน (Imran Khan) อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน อ้างว่า ‘ถูกโกงเลือกตั้ง’ ด้านตำรวจสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและคุมขังผู้ประท้วง ท่ามกลางสภาวะ ‘Deadlock’ ทางการเมือง หลังไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งปากีสถานประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่าผู้สมัครอิสระภายใต้พรรค PTI ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจำนวน 93 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสันนิบาตปากีสถานมุสลิมนาวาซ (Pakistan Muslim League Nawaz: PML-N) ของ นาวาซ ชาริฟ (Navaz Sharif) อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานฝ่ายอนุรักษนิยม ครองตำแหน่งอันดับ 2 ในการเลือกตั้งด้วยคะแนน 75 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People’s Party: PPP) คว้าอันดับ 3 จำนวน 53 ที่นั่ง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่แท้จริงยังคงผันผวนและไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมาก หรือได้รับประมาณ 169 ที่นั่ง จาก 336 ที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือคะแนนเสียงที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 266 ที่นั่ง และคะแนนเสียงที่สงวนไว้สำหรับชนกลุ่มน้อยของสังคม 70 ที่นั่ง โดยแบ่งย่อยออกเป็นที่นั่งสำหรับผู้แทนผู้หญิง 60 ที่นั่ง และกลุ่มที่ไม่ใช่มุสลิมอีก 10 ที่นั่ง
ต่อมา พรรค PTI ประกาศคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แอ็กเคานต์ @ImranKhanPTI ของข่าน อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกคุมขังในเรือนจำ โพสต์คลิปสุนทรพจน์จากเทคโนโลยีเอไอบนแอปพลิเคชัน X และอ้างว่าพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งแบบ ‘แลนด์สไลด์’ มากกว่า 155 ที่นั่ง แต่ PTI ถูก ‘โกงผลการเลือกตั้ง’ ในท้ายที่สุด
ขณะเดียวกัน ชาริฟดับเครื่องชนประกาศจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในภาวะทางตันทางการเมือง ทั้งสองฝ่ายต้องขับเคี่ยวด้วยการใช้ ‘พลังดูด’ ให้ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งในการประชุมรัฐสภาอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่ามกลางการพูดถึงแนวโน้ม ‘การยึดอำนาจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย’ ของกองทัพปากีสถาน หากภาคการเมืองยังคงอยู่สภาวะ Deadlock หรือการที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
นั่นจึงทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนข่านและพรรค PTI จัดการชุมนุมทั่วประเทศ โดยเน้นย้ำว่า ทหารแทรกแซงผลการเลือกตั้ง และจงใจแก้ไขคะแนนบางส่วนเพื่อให้พรรคของชาริฟ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มอำนาจนิยมมากกว่าพรรค PTI ชนะการเลือกตั้ง
“พวกเขาจงใจสร้างผลการเลือกตั้งใหม่” ซัลมาน อักราม ราจา (Salman Akram Raja) นักกฎหมายและหนึ่งในผู้นำของพรรค PTI ระบุ พร้อมอ้างถึงเหตุการณ์แปลกประหลาดในระหว่างการเลือกตั้งอย่าง ‘การตัดสัญญาณโทรศัพท์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต’ ว่าเป็นช่องโหว่สำคัญของกลฉ้อฉล ไม่ใช่เพราะประเด็นด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ เดอะการ์เดียน (The Guardian) ระบุว่า กลุ่มผู้สนับสนุนบางส่วนเดินทางไปที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งปากีสถานในเมืองลาฮอร์ (Lahore) ที่มีรายงานว่าเกิดเหตุการโกงผลการเลือกตั้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปราบปรามและคุมขังประชาชนผู้ประท้วง
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) เผยว่า ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมด้วยการยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนในเมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) ตามมาด้วยการจับกุมประชาชนในการาจี (Karachi) พร้อมข่มขู่ว่า ทางการจะดำเนินการกับการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
ไม่ใช่แค่เรื่องตัดอินเทอร์เน็ต แต่การเลือกตั้งของปากีสถานในปี 2024 ยังเต็มไปด้วยเหตุการณ์แปลกประหลาด โดย จาน บูเลดี (Jan Buledi) อดีตโฆษกรัฐบาลบาโลจิสถาน (Balochistan) อ้างว่า เขาถูกขู่ฆ่าจากนายทหารคนหนึ่ง หลังพยายามเปิดโปงว่า ทหารปลอมแปลงบัตรลงคะแนนเสียง
นอกจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งปากีสถานระงับผลการเลือกตั้ง 10 แห่งอย่างไร้สาเหตุ รวมถึง ‘การประกาศผลการเลือกตั้ง’ ที่ช้าถึง 3 วัน ทำให้สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงความผิดปกติดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานถึงความพยายาม ‘สกัดดาวรุ่ง’ พรรค PTI โดยเฉพาะการที่ผู้แทนของพรรคต้องลงเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งห้ามใช้ ‘ไม้คริกเก็ต’ สัญลักษณ์ของข่านในฐานะอดีตกัปตันทีมชาติคริกเก็ตปากีสถาน ในใบลงคะแนนเสียงสำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก
ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ชาริฟมีแนวโน้มสูงที่จะถูกกองทัพปากีสถาน ‘ทรยศ’ แม้จะมีการตกลงปลงใจ จนนำมาสู่ ‘ดีลลับ’ เพื่อให้เขากลับเข้ามาในประเทศอีกครั้งจากการลี้ภัยทางการเมือง แต่ ทาฮีร์ นาอีม มาลิก (Tahir Naeem Malik) นักวิเคราะห์การเมือง ให้ความเห็นกับเดอะการ์เดียนว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพปากีสถานมากที่สุด
“มันเข้าทางพวกเขาหมดเลย ถ้าสังคมแตกแยกและแบ่งขั้ว พวกเขาสามารถปราบปรามและควบคุมได้ เช่นเดียวกับภาวะสภาแขวนในตอนนี้ พื้นที่ทางการเมืองของทหารยังคงปลอดภัยและไร้ภัยเช่นเดิม” มาลิกแสดงความคิดเห็นทิ้งท้าย โดยชี้ว่า ปัญหาในสังคมคือข้ออ้างสำคัญของกองทัพปากีสถานเพื่อยึดอำนาจ
อ้างอิง
https://www.reuters.com/world/asia-pacific/whats-next-pakistan-election-deadlock-2024-02-11/
https://www.bbc.com/thai/articles/cx7l0wvwnywo