“เราจะบริหารประเทศปากีสถานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย” อินรอน ข่าน กล่าวสุนทรพจน์เอาไว้

ปากีสถาน ประเทศซึ่งกองทัพทหารยึดครองอำนาจติตต่อกันยาวนานกว่า 70 ปี กำลังจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ ‘อิมรอน ข่าน’ (Imran Khan) หัวหน้าพรรค Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) เพิ่งคว้าที่นั่งในสภา 119 ที่นั่ง จากทั้งหมด 272 ที่นั่ง จะเข้าพิธีสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 14 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ผลการเลือกตั้งที่ออกมา อาจจะดูเหมือนเป็นชัยชนะของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่นักวิเคราะห์ไม่คิดเช่นนั้น เพราะข่านได้รับการสนับสนุนจากทหารที่มีอำนาจปกครองประเทศมายาวนาน ซึ่งปากีสถานก็เป็นอีกหนึ่งในประเทศ ‘รัฐพันลึก’ (deep state) ที่ทหารควบคุมและกดขี่ประชาชน แฝงตัวอยู่ในระบบราชการ และมีอำนาจเหนือรัฐปกติได้ โดยที่ผ่านมา การเมืองในปากีสถานคือการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างทหารกลุ่มต่างๆ

อิมรอน ข่าน วัย 65 ปี คือนักการเมืองปากีสถานที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2018 เขาเป็นอดีตนักกีฬาคริกเก็ต เติบโตมาจากครอบครัวร่ำรวย เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนชั้นนำของปากีสถาน แล้วศึกษาต่อที่คณะปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ข่านยังเพิ่งค้นพบว่าครอบครัวของเขามาจากอัฟกานิสถานและชนเผ่าปาทาน

ตลอดเวลาที่เรียนอยู่ในอังกฤษ ข่านเล่นคริกเก็ตเป็นประจำ เมื่อกลับบ้านเกิดในปี 1976 เขาก็กลายเป็นนักกีฬาคริกเก็ตทีมชาติ จนได้เป็นกัปตันทีมในปี 1982

จุดสูงสุดในชีวิตนักกีฬาของเขาเกิดขึ้น หลังจากที่ข่านผันตัวเองเป็นโค้ชคริกเก็ตทีมชาติจนทำให้ทีมคว้าชัยชนะในการแข่งขันคริกเก็ตโลกเมื่อปี 1992

ข่านยังถูกมองว่าเป็นเพลย์บอยและชอบใช้ชีวิตกลางคืนตามบาร์ในลอนดอน มีข่าวคราวปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ของอังกฤษอยู่เป็นประจำ ข่านยังเป็นเพื่อนกับเจ้าหญิงไดอาน่าด้วย ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า ได้รับการขอร้องจากเจ้าหญิงไดอาน่าให้เป็นพ่อสื่อระหว่างเธอกับแพทย์ผ่าตัดหัวใจคนหนึ่ง ในสามเดือนก่อนที่จะเสียชีวิต

เขาแต่งงานมาแล้วสามครั้ง ภรรยาคนแรกของข่านเป็นนักข่าวและโปรดิวเซอร์ชาวอังกฤษ ชื่อ เจไมมา โกลด์สมิธ (Jemima Goldsmith) น้องสาวของแซก โกลด์สมิธ  (Zac Goldsmith) อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงลอนดอนและส.ส.พรรคอนุรักษนิยม ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 2 คน แต่ 9 ปีหลังใช้ชีวิตร่วมกัน ทั้งคู่ก็หย่ากันในปี 2004 ต่อมา ข่านแต่งงานกับเรแฮม ข่าน (Reham Khan) ภรรยาคนที่ 2 ซึ่งเป็นลูกครึ่งอังกฤษ-ปากีสถาน มีอาชีพเป็นนักข่าว ใช้ชีวิตคู่กันเป็นเวลา 10 เดือนในปี 2015 ปัจจุบัน ข่านแต่งงานกับบุชรา มานิกา (Bushra Manika) ที่ปรึกษาทางจิตวิญญาณ

ข่านเริ่มหันมาทำงานด้านสังคมสังเคราะห์ ก่อนทำงานการเมืองเต็มตัว โดยในปี 1996 เขาก่อตั้งพรรค Pakistan Tehreek-e-Insaf (PTI) ที่แปลว่า การเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้รับความนิยมนัก การเลือกตั้งปี 1997 พรรคของเขาไม่ได้รับเลือกตั้งแม้แต่ที่นั่งเดียว

แต่ข่านก็ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ในปี 1999 เขาสนับสนุนการรัฐประหารของนายพลเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ แต่ก็หันมาต่อต้านเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2007 ทำให้ข่านถูกขังอยู่ในบ้าน อย่างไรก็ตาม ฐานผู้สนับสนุนของเขาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2013 เขากลายเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งคนสำคัญ ปีนั้น พรรค PTI  คว้าที่นั่งในสภามาได้ 30 ที่นั่งเป็นอันดับ 2 รองจากพรรค Pakistan Muslim League จนกลายเเป็นผู้นำฝ่ายค้าน

ในการเลือกตั้งปี 2018 พรรค PTI หาเสียงว่าจะปราบปรามการทุจริตที่มีมายาวนานของปากีสถาน มีแผนที่จะลดความยากจน และก่อตั้ง “รัฐสวัสดิการอิสลาม” (Islamic welfare state) เพื่อสร้างงานให้กับประชาชน 10 ล้านคน และก่อสร้างบ้าน 5 ล้านหลังให้คนจน

“ผมเริ่มความยากลำบากนี้เมื่อ 22 ปีที่แล้ว และวันนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้สิ่งที่ผมฝันถึงประเทศนี้เป็นจริง” ข่านกล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ “เราจะบริหารประเทศปากีสถานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย”

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นอาจจะมาจากจุดยืนทางศาสนาและท่าทีต่อต้านสหรัฐอเมริกาของข่าน เขามีหัวอนุรักษนิยมทางศาสนา ชอบกฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์ และสนับสนุนกฎหมายต่อต้านการดูหมิ่นทางศาสนา ข่านเคยวิจารณ์การโจมตีโดยเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐอเมริกาจนทำให้เขาได้ฉายาว่า “ตาลีบัน ข่าน”

ข่านต่อต้านการศึกษาแบบตะวันตก แม้ว่าเขาจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดก็ตาม ที่ผ่านมา ข่านเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลักดันการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ เขาโจมตีนักข่าวและหนังสือพิมพ์ต่างๆ เขาไม่เคยต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ ถ้าสื่อไม่ได้เข้าข้างเขา

ฮุสเซน ฮัคคานี (Husain Haqqani) นักข่าวและอดีตทูตปากีสถานในสหรัฐอเมริกาบอกว่า “ชาวปากีสถานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คนที่ได้ประโยชน์จากการปกครองโดยทหาร และคนที่ไม่ได้ คนกลุ่มแรกเป็นผู้สนับสนุนข่าน พวกเขาได้ประโยชน์จากทหาร ไม่ต้องการจะแบ่งอำนาจนี้กับใคร” ในสายตาของฮัคคานี ข่านเป็นนักประชานิยมฝ่ายที่ยกย่องผู้มีอำนาจเดิม (pro-establishment) ไม่ใช่นักประชานิยมที่ต่อต้านอำนาจ (anti-establishment)

 

ที่มา:

ที่มาภาพ: Farooq Naeem/AFP

Tags: , ,