วันนี้ (1 เมษายน 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ติดตามกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของสาเหตุการพังถล่ม ผลการตรวจมาตรฐานเหล็ก ตลอดจนการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติตามธรรมชาติ
โดยแพทองธารสั่งการให้คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงกรณีอาคาร สตง.ถล่ม เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป โดยระบุว่า อาคารถล่มครั้งนี้ต้องหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบให้ได้ มิเช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก
นอกจากนั้น นายกฯ ยังสอบถามรายละเอียดต่างๆ รายกระทรวง เช่น กรณีเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานตามรายงานของ เอกณัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยนายกฯ สั่งการให้ส่งข้อมูลไปให้พนักงานสอบสวนเพื่อทำสำนวนต่อไป
แพทองธารยังสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำหน้าที่ และระดมทุกสรรพกำลังทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันและให้มีมาตรฐานในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหมดกว่า 8 ข้อ ดังนี้
1. ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำแผนและมาตรการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่และขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงาน
ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการส่งข้อความเตือนภัยในระบบ Virtual Cell Broadcast ระหว่างรอระบบ Cell Broadcast ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568
และให้กรมโยธาธิการและการผังเมืองเร่งออกมาตรการ ข้อกำหนดในการตรวจสอบอาคารสูงทุกอาคาร เพื่อให้ได้มาตรฐาน และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกใบรับรองมาตรฐานอาคาร โดยร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และสมาคมที่เกี่ยวข้อง
2. ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ที่มีความพร้อมในระบบเตือนภัย เช่น ประเทศญี่ปุ่นและประเทศในทวีปยุโรป เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทยให้เร็วที่สุด
3. ให้กระทรวงสาธารณสุขวางแผนเตรียมการรับมือทั้งแพทย์ฉุกเฉิน เตียงสนามให้เพียงพอ และจิตแพทย์ที่จะดูแลฟื้นฟูผู้ที่รับผลกระทบ
4. ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสั่งการให้เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับข้อความเตือนภัย และแผนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน
5. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดมนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะในมาตรการรับมือที่ถูกต้อง และป้องกันภัยได้อย่างรัดกุมที่สุด รวมถึงการตรวจระบบอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ และนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากยิ่งขึ้น
6. ให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติมหลักสูตรและแผนการรับมือภัยธรรมชาติในทุกรูปแบบ ให้กับนักเรียนและนักศึกษาทุกระดับ
7. ให้กระทรวงคมนาคมเร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคมทุกมิติให้มีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงตรวจสอบงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน รองรับภัยธรรมชาติ
8. ให้สำนักนายกรัฐมนตรีร่วมมือกับ ปภ.สรุปมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว และให้กรมประชาสัมพันธ์เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้องอย่างทั่วถึง รวมทั้งกระจายไปยังช่องทางต่างๆ ให้ครบถ้วน ทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ LINE รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับเอกชนที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นภาพได้ทันที เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
Tags: แผ่นดินไหว, กทม., นายกรัฐมนตรี, แพทองธาร, ประชุมครม, ตึกถล่ม, ตึกสตง