วันนี้ (29 กันยายน 2566) ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง แถลงแนวทางการทำงานต่อในฐานะรองประธานสภาฯ หลังจากที่พรรคก้าวไกลมีมติให้ปดิพัทธ์พ้นสมาชิกภาพของพรรคเมื่อวานนี้ (28 กันยายน 2566)

สืบเนื่องตั้งแต่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศลาออกเพื่อเปิดทางให้ที่ประชุมวิสามัญของพรรค เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่เพื่อเป็น ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวนี้ หากปดิพัทธ์ยังคงเป็นสมาชิกพรรคจะต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือในขณะเดียวกัน หากปดิพัทธ์ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ พรรคก้าวไกลก็จะไม่สามารถเป็นฝ่ายค้านเต็มรูปแบบได้

“จากการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ผมคิดว่าถ้าผมลาออก จะส่งผลกระทบต่อวาระที่ผมให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชนและสภาฯ ผมต้องการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาคนที่หนึ่งต่อ ซึ่งทำให้ผมไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลต่อไปได้” ปดิพัทธ์กล่าว

รองประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า เหตุผลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมี 3 ส่วน ได้แก่

1. ต้องการใช้วาระที่เหลือของสภาฯ ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อยกระดับให้สภาฯ โปร่งใส มีประสิทธิภาพสูง และเป็นของประชาชน ตามที่ได้แถลงเอาไว้ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง

‘สภาฯ โปร่งใส’ หมายถึง สภาฯ ที่มีการจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสภาฯ ทุกอย่างต่อสาธารณชน เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนสามารถนำไปวิเคราะห์ได้ เช่น สถานะร่างกฎหมาย ผลการลงมติ รายงานประชุม งบประมาณของสภาฯ ฯลฯ
รวมถึงในปีหน้า เมื่อสภาฯ มีความพร้อมมากขึ้น จะเพิ่มระบบตรวจจับใบหน้า (Face Detection) เพื่อป้องกันการเสียบบัตรแทนกันในสภาฯ

ต่อมา ‘สภาฯ ประสิทธิภาพสูง’ หมายถึง การประยุกต์เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อประหยัดต้นทุนงานธุรการ และเพิ่มความปลอดภัยในการเก็บเอกสาร รวมถึงส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาดในอาคารรัฐสภา

และสุดท้าย ‘สภาฯ ของประชาชน’ จะขับเคลื่อนให้สภาฯ ยึดโยงกับประชาชน พร้อมฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้ จะมีการเปิดใช้พื้นที่รองรับกิจกรรมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่ม เช่น ลานประชาชน ที่จะเปิดใช้วันที่ 10 ธันวาคม 2566

รวมถึงจัดทำโครงการ ‘สภาฯ สัญจร’ เพื่อนำพากลไกของสภาฯ ไปใกล้ชิดกับประชาชนทุกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนชายขอบ ซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศไทย รวมถึงจะเดินหน้าตรวจรับรัฐสภาให้ไม่มีการทุจริต ให้มีความรับผิดชอบต่อความล่าช้า และจะทำให้ประชาชนรู้ว่า งบประมาณจากภาษีของประชาชนเป็นประโยชน์ของใคร

2. ต้องการปฏิบัติหน้าที่ของการเป็นรองประธานสภาฯ อย่าง ‘เป็นกลาง’ ต่อทุกพรรคการเมืองในสภาฯ และต่อประชาชนทุกกลุ่มความคิด ไม่ว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคใดก็ตาม ยืนยันว่า การเปลี่ยนสังกัดพรรคจะไม่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่และแผนงาน ในฐานะรองประธานสภาฯ อย่างแน่นอน

3. เชื่อว่าพรรคก้าวไกลมีบุคลากรและความพร้อม ในการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพิษณุโลก เขต 1 เช่นเดิม ซึ่งแน่นอนว่า ตนยังเป็น ส.ส.ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวพิษณุโลก และการตัดสินใจครั้งนี้สอบถามกับพี่น้องประชาชน ทั้งในพิษณุโลกและทั่วประเทศอย่างคร่าวๆ แล้ว ถึงจะไม่ได้ทำงานต่อในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกล แต่ยังเชื่อมั่นว่า พรรคก้าวไกลยังมีบุคลากรที่มีคุณภาพและทำงานต่อในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องกังวล

“ดังนั้น ผมขอน้อมรับมติของพรรคก้าวไกลที่ต้องการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสมบูรณ์แบบ จากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าผมจะสังกัดพรรคใด ก็จะทำงานอย่างเต็มที่ในฐานะรองประธานสภาฯ ที่เป็นกลาง

“ผมคิดว่าตรงนี้เราชี้แจงได้ เราไม่ได้มีเงื่อนงำแต่อย่างใด ทุกอย่างที่เราพูดตรงไปตรงมาว่า เราทำด้วยเหตุผลอะไรบ้าง และเหตุผลดังกล่าวต่อไปนี้ ผลการทำงานทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตจะเป็นบทพิสูจน์ว่า ผมทำตามที่ได้ให้สัญญากับประชาชนหรือไม่”

ปดิพัทธ์ย้ำว่า การตัดสินของพรรคก้าวไกลเมื่อวานนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสินใจระยะสั้น เป็นการตัดสินใจที่ลำบากและรอบคอบ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเป็นการตัดสินใจของตนเอง โดยยืนยันว่า ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคที่อุดมการณ์ต่างกันอย่างข้ามขั้วได้ และตอนนี้มีเวลา 30 วัน ในการตัดสินใจว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคใด

Tags: