“รัฐบาลทหารชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลโดยชอบธรรมของเมียนมา พวกเขาไร้อำนาจ ไร้ความสามารถในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ล้มเหลวทั้งการบริหารประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่พวกเขาจะพยายามเข้ามามีบทบาทในเวทีโลก ด้วยการส่งตัวแทนมายังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ”
คริสโตเฟอร์ ซิโดติ (Christopher Sidoti) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและอดีตสมาชิกของคณะสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีพม่าของสหประชาชาติ ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของเมียนมาที่มาจากการทำรัฐประหาร ไม่สมควรได้ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และศาลก็ไม่ควรมอบความชอบธรรมนี้แก่รัฐบาลทหาร
ย้อนกลับไปยังปี 2019 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) ได้รับเรื่องการยื่นฟ้องของประเทศแกมเบียต่อประเทศเมียนมา ในข้อหาละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติปี 1948 จากการปราบปราม เผาหมู่บ้าน ซ้อมทรมาน ข่มขืน และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยจำนวนมากโดยเฉพาะชาวโรฮีนจา ตั้งแต่ช่วงปี 2017 เป็นต้นมา รัฐบาลเมียนมาทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด หนีออกนอกประเทศเกือบล้านคน ส่วนบุคคลที่ไม่สามารถหนีออกมาได้ ต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยใกล้พรมแดนบังกลาเทศ ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ที่แออัดและไม่ได้มาตรฐานสาธารณสุข
เหตุการณ์การปราบปรามชนกลุ่มน้อยเมียนมา เกิดขึ้นในรัฐบาลของอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi) อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เธอเคยโต้แย้งข้อกล่าวหานี้หลายครั้ง ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการพิจารณาข้อกล่าวหา
อองซานซูจียังเคยเรียกร้องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถอนคำฟ้องร้องของแกมเบีย คดีความนี้ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้นานหลายปี ในขณะที่กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อพิจารณาคดี ในเดือนมกราคม 2020 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ออกคำสั่งชั่วคราว ห้ามรัฐบาลเมียนมาออกกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่และโจมตีชนกลุ่มน้อยอีก ก่อนที่รัฐบาลของอองซานซูจีจะถูกพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หลาย (Min Aung Hlaing) นำกองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021
ท่ามกลางการเมืองภายในที่ปั่นป่วน คดีความเก่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการสังหารหมู่ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกรอบ เมื่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกาศให้เริ่มพิจารณาคดีอีกครั้งในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2022 และจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า ศาลโลกจะนำใครขึ้นศาล ตัวแทนรัฐบาลทหาร หรือตัวแทนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
หลังเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าศาลโลกไม่ควรให้ตัวแทนรัฐบาลทหารเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ในวันเดียวกันกับการพิจารณาคดีวันแรก กระทรวงการต่างประเทศเมียนมาออกแถลงการณ์หนึ่งฉบับ เรียกร้องให้ประชาคมอาเซียนไม่ควรประสานงานกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งความหมายของ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในที่นี้คือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือที่ส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า “รัฐบาลเงา” เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยประชาชนชาวเมียนมา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ลี้ภัยทางการเมือง และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) เนื่องจากสำนักข่าวหลายแห่งระบุว่า มีรัฐบาลชาติอาเซียนบางประเทศต้องการติดต่อกับรัฐบาลเงา
ความขัดแย้งพุ่งสูงขึ้นไปอีกขั้นหลังรัฐบาลทหารออกแถลงการณ์เตือน ฝั่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีใจความสำคัญอย่างการยอมรับอำนาจในการพิจารณาคดีสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และยืนยันว่าจะเตรียมถอนคำคัดค้านเบื้องต้นที่เคยให้ไว้ทั้งหมด เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ก่อนทิ้งท้ายด้วยความเชื่อใจว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะให้ จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลของอองซานซูจีจะยังดำรงตำแหน่งตามเดิม เพื่อให้ได้รับอนุญาตเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารกลับส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดีก่อนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แม้ว่ากองทัพพม่าจะยังไม่มีสถานะที่เป็นทางการที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติก็ตาม โดยตัวแทนรัฐบาลทหารครั้งนี้คือทีมกฎหมาย 8 คน รวมถึง โก โก หล่าย (Ko Ko Hlaing) รัฐมนตรีความร่วมมือระหว่างประเทศ ธิดา อู (Thida Oo) อัยการสูงสุดแห่งสหภาพพม่า ซึ่งทั้งสองคนยังคงอยู่ในรายชื่อบุคคลที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตร
แกมเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ฟ้องร้องกล่าวในชั้นศาลว่า หลายปีมานี้ มีชาวโรฮีนจาจำนวนมากต้องจบชีวิตลง และยังมีชาวโรฮีนจากว่า 8.5 แสนคน อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงใกล้ชายแดนบังกลาเทศ ส่วนอีก 6 แสนคน ต้องใช้ชีวิตอย่างทุกข์ทรมานในรัฐยะไข่เพราะถูกรัฐบาลกับกองทัพคุกคาม
ทีมกฎหมายของรัฐบาลทหารเมียนมาโต้แย้งว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีสิทธิดำเนินคดีดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจ การฟ้องร้องของประเทศแกมเบียเกิดขึ้นจากการเป็นหุ่นเชิดให้กับ องค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of the Islamic Cooperation: OIC) จึงถือเป็นการฟ้องระหว่างองค์กรกับรัฐ ไม่ใช่การฟ้องกันระหว่างรัฐกับรัฐ ผิดระเบียบข้อบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ส่วน โก โก หล่าย กล่าวต่อศาลว่า “รัฐบาลเมียนมากำลังมุ่งมั่นแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ และจะใช้วิธีการเจรจาอย่างสันติเพื่อความปรองดอง”
เมื่อโลกได้เห็นว่าตัวแทนรัฐบาลทหารได้เข้าไปชี้แจงในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยางฮี ลี (Yanghee Lee) อดีตผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกการพิจารณาคคดีครั้งนี้ว่าเป็น “ความอัปยศ” เพราะเขามองว่าศาลโลกควรให้อำนาจแก่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ส่วน ตุน ขิ่น (Tun Khin) ประธาน Burmese Rohingya Organisation UK องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อชาวโรฮีนจา ระบุว่ากองทัพพม่าล้มเหลวในการทำตามคำสั่งศาล เพราะในปีเดียวเกิดการเผาหมู่บ้าน โจมตีทางอากาศ เพื่อสังหารชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาโรฮีนจา กล่าวกับสำนักข่าว The Guardian ว่า การพิจารณาคดีในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นความหวังที่จะทำให้ชาวโรฮีนจาทั้งหมดได้รับความยุติธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังที่จะนำระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศ ท่ามกลางการต่อสู้ของประชาชนชาวเมียนมาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ยอมจำนนกับการปกครองของทหาร และตอนนี้กองทัพพม่าไม่สามารถซ่อนตัวด้วยการหลบอยู่หลังอองซานซูจีได้อีกแล้ว
“ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 มีชาวเมียนมาหลายคนเข้าร่วมการต่อสู้กับกองทัพ ซึ่งเป็นการต่อสู้เดียวกันกับที่พวกเราเผชิญมานานหลายปี”
เวลานี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าศาลโลกจะตัดสินให้รัฐบาลพม่าและกองทัพพม่ามีความผิดฐานสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาหรือไม่ และหากตัดสินว่าผิด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ รัฐบาลของนางอองซานซูจีที่หมดอำนาจไปแล้ว หรือรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามในช่วงปี 2017 ซึ่งตอนนี้กลายเป็นรัฐบาลที่กำลังพยายามหาจุดยืนในประชาคมโลก ไม่ว่าจุดยืนนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือไม่
ที่มา
– https://www.aljazeera.com/news/2022/2/21/myanmar-rohingya-genocide-case
Tags: The Momentum, Global Affairs, พม่า, เมียนมา, ข่าวต่างประเทศ, Report