วันนี้ (10 ตุลาคม 2565) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงในศูนย์เด็กเล็ก ตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ว่า สิ่งที่กระทรวงฯ ทำเป็นอย่างแรกหลังจากทราบข่าว คือพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก และสิ่งที่กระทรวงฯ จะทำต่อไป คือการรักษาเยียวยาร่างกายและจิตใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว
“ภารกิจหลักคือการเร่งดูแลผู้เคราะห์ร้ายให้หายจากอาการเจ็บป่วยให้เร็วที่สุด รวมทั้งดูแลสภาพจิตใจของญาติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ กระทรวงสาธารณสุขจะอยู่ทำงานในพื้นที่จนกว่าประชาชนจะมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น หากต้องอยู่เป็นเดือนก็ต้องอยู่”
อนุทินกล่าวต่อว่า คืนวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้ต้อนรับคณะองคมนตรี ซึ่งได้อัญเชิญพระราชกระแสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาพระราชทานแก่ทีมแพทย์และพยาบาล ความว่า “ให้รักษาคนไข้อย่างเต็มที่ ทุกคนจะถูกรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ค่าใช้จ่ายทุกอย่างของทั้งครอบครัวผู้ที่เดือดร้อน ผู้ที่ถูกทำร้าย และครอบครัวผู้เสียชีวิต ในหลวงจะทรงเป็นผู้ดูแลทั้งหมด และกระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมน้อมรับพระบรมราโชบายดังกล่าว”
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หลายคนยังไม่เคยไปจังหวัดหนองบัวลำภู เพราะค่อนข้างห่างไกล การที่จะดำเนินการขนย้ายร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 37 ราย ไปโรงพยาบาลใกล้เคียงที่มีอุปกรณ์ครบครันคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากท่านรองนายกฯ
“ท่านรองนายกฯ มีความกรุณามาก ทุกครั้งที่เดินผ่านกลุ่มกู้ภัย ซึ่งเดินทางมาจากทั้งภาคอีสาน ท่านจะถามเสมอว่า หาข้าวกินกันหรือยัง ท่านเป็นขวัญกำลังใจที่ดี”
นายแพทย์โอภาสระบุต่อว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 37 ราย และผู้บาดเจ็บอีก 12 ราย โดย 4 รายมีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย 3 รายกลับบ้านได้แล้ว และ 5 รายกำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดหนองบัวลำภู โดยรายละเอียดของผู้บาดเจ็บบางส่วนมีดังนี้
– รายที่ 1 เป็นเด็กชายอายุ 3 ปี ได้รับบาดเจ็บที่สมอง ทางทีมแพทย์ได้ผ่าตัดนำก้อนเลือดออกจากสมองเรียบร้อยแล้ว รายนี้สามารถหายใจได้เอง แต่ยังต้องติดตามอาการในห้อง ICU (Intensive Care Unit) อย่างใกล้ชิด
– รายที่ 2 เป็นเด็กชายอายุ 4 ปี สมองได้รับการกระทบกระเทือนค่อนข้างมาก หมอศัลยกรรมระบบประสาทได้ผ่าตัดเรียบร้อย แต่เกิดภาวะสมองบวมตามมา จึงต้องผ่าตัดครั้งที่ 2 ขณะนี้อาการสมองบวมดีขึ้น อาการโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี
– รายที่ 3 เป็นหญิงอายุ 56 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ แพทย์ได้ผ่าตัดนำก้อนเลือดออกจากสมองแล้ว ขณะนี้สามารถหายใจได้เองบ้าง แต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
– รายที่ 4 เป็นหญิงอายุ 42 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง โดยลำไส้เล็กได้รับบาดเจ็บจากกระสุน จนต้องผ่าตัดซ่อมแซม ขณะนี้อาการดีขึ้น
– รายที่ 5 เป็นเด็กผู้หญิงอายุ 12 ปี ลูกของผู้บาดเจ็บรายที่ 4 ตอนนี้อาการดีขึ้น
– รายที่ 6 เป็นเด็กชายอายุ 3 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ แพทย์ได้ผ่าตัดนำก้อนเลือกออกจากสมอง ปัจจุบันสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง และสามารถสื่อสารกับญาติได้
– รายที่ 7 เป็นชายอายุ 21 ปี ถูกยิงที่บริเวณต้นคอ แพทย์ได้ผ่าตัดนำกระสุนออก แต่ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกายต่อไป
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ทางกรมสุขภาพจิตมีขั้นตอนการดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 3 ระยะ ประกอบด้วย
ระยะแรกที่ผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องเข้าไปดูแลสุขภาพจิตของผู้ที่เกี่ยวข้องทันทีภายในช่วง 3 วันแรก ต่อมาเป็นช่วงการดูแลและติดตามความโศกเศร้าที่จะเกิดตามมาในช่วง 2-3 สัปดาห์ให้หลัง และท้ายที่สุดคือการให้ความรู้ชุมชนในการร่วมกันดูแลและเป็นกำลังใจกันและกันต่อไปในอนาคต ซึ่งกลุ่มผู้เปราะบางที่กรมสุขภาพจิตต้องดูแลมี 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงญาติผู้ใกล้ชิด ในกลุ่มนี้มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 60 คน
2. กลุ่มที่ไม่ใช่ญาติผู้เสียชีวิตโดยตรง แต่อาศัยอยู่ในอำเภอนากลาง มีประมาณ 6,500 คน รวมทั้งเด็กในโรงเรียนที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุอีกราว 129 คน
3. ประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภูและประชาชนทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการรับรู้ข่าวสาร
Tags: Report, สุขภาพจิต, กระทรวงสาธารณสุข, หนองบัวลำภู