‘Model Minority’ หรือ ‘ชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง’ เป็นคำที่ชาวอเมริกันใช้เรียกคนเชื้อสายญี่ปุ่นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จุดกำเนิดมาจากชุมชนญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศมานานจนสั่งสมทรัพย์สินเพียงพอที่จะเปิดย่านธุรกิจมากมาย ต่อมาจึงเริ่มขยายไปยังกลุ่มชนอื่น ทั้งชาวยิว ชาวอินเดีย และกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อพยพมาภายหลัง ทั้งยังได้กลายมาเป็นคำที่สื่อถึงชุมชนเอเชียในอเมริกาโดยรวม คำนี้ยังมีนัยเพื่อสื่อถึงความมุ่งมั่นจนประสบความสำเร็จของชุมชนเอเชีย และจะเป็นตัวอย่างของการพัฒนาตนเองให้กับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในประเทศ

ในความเป็นจริง มายาคตินี้กลับทำร้ายชุมชนเอเชียอย่างมหันต์ เพราะมันละเลยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำในชุมชนเอเชีย ไม่เพียงแค่นั้น อิทธิพลของมันยังแพร่หลายไปถึงคนเอเชียนอกสหรัฐอเมริกาอีกด้วย แม้แต่คนไทยจำนวนมากยังพูดถึงความเป็นคนเอเชียอเมริกันในแง่มุมนี้อยู่บ่อยครั้ง

จากการสำรวจ เรากลับพบความจริงว่าคนเอเชียไม่ได้ประสบความสำเร็จกว่าชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แต่อย่างใด ‘ความสำเร็จ’ ที่มักโยงเข้ากับคนเอเชียนั้นกลับกลายเป็นสิ่งบดบังปัญหาและกดทับคนเชื้อสายเอเชียเสียเอง

แม้คนเชื้อสายเอเชียจะมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่าคนอเมริกันทั่วไป สถิตินี้อาจดูเหมือนเป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงความสำเร็จ แต่เมื่อมองสถานการณ์และถิ่นอาศัยของชาวเอเชียแล้ว จะพบว่าพวกเขามีสัดส่วนที่อาศัยในเมืองใหญ่สูงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะนิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก ลอสแองเจลิส ชิคาโก และมหานครอื่นๆ ที่กระจายกันทั่วประเทศ ทำให้คนเชื้อสายเอเชียมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่แน่นอนว่าค่าครองชีพในเมืองเหล่านี้ต้องสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดของครัวเรือนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง จากฐานข้อมูลสำมะโนครัวของสหรัฐอเมริกาในปี 2017 พบว่าขนาดประชากรต่อครัวเรือนของชาวเอเชียคือ 3.04 คน ในขณะที่จำนวนประชากรต่อครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศมีเพียง 2.65 คน ซึ่งอาจมีเหตุผลทั้งเรื่องวัฒนธรรมและภาวะทางเศรษฐกิจที่ทำให้ชุมชนชาวเอเชียมักอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่เพื่อลดค่าใช้จ่าย และนี่อาจอธิบายรายได้ต่อครัวเรือนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ

แต่คลื่นการอพยพระลอกใหม่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค 1970 ก็มีส่วนทำให้รายได้โดยเฉลี่ยของชุมชนเอเชียเพิ่มตัวเลขขึ้น ชาวเอเชียยังเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด

การมาถึงของกลุ่มชนชั้นกลางและครอบครัวนักธุรกิจจากเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่เอเชียใต้ ไม่ว่าจะจีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลี ฮ่องกง อินเดีย สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ดูเหมือนจะตอกย้ำความสำเร็จของคนเชื้อสายเอเชียเข้าไปใหญ่ จากผลการสำรวจภาพรวมสถิติประชากรที่กำเนิดในต่างประเทศในปี 2015 ยังช่วยยืนยันว่าคลื่นการอพยพในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อภาพรวมของรายได้จริง เพราะราว 6 ใน 10 ของประชากรเชื้อสายเอเชียเป็นคนที่เกิดนอกสหรัฐฯ และมีโอกาสสูงที่คนเหล่านี้มีฐานะมากพอจะลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกาได้อย่างไม่ยากเย็น

แม้แต่ฮอลลีวูดและสื่ออเมริกันก็ยังหลงระเริงไปกับภาพลักษณ์ของ ‘ชาวเอเชียผู้ประสบความสำเร็จ’ และให้กำเนิดภาพยนตร์ที่ Romanticize หรือวาดภาพชวนเพ้อฝันของครอบครัวมหาเศรษฐีเชื้อสายเอเชียอย่าง Crazy Rich Asians ที่แม้จะอ้างว่าเป็นภาพยนตร์สำหรับคนเอเชีย แสดงโดยคนเอเชีย กำกับโดยคนเชื้อสายเอเชีย แต่กลับยิ่งตอกย้ำมายาคตินี้เข้าไปอีก โดยเลือกที่จะโฟกัสกับมหาเศรษฐีกลุ่มน้อยแทน

อีกปัญหาหนึ่งที่ถูกละเลยมายาวนานคือความเหลื่อมล้ำในสังคมเอเชียอเมริกันเอง ในขณะที่ภาพยนตร์อย่าง Crazy Rich Asians นำเสนอชีวิตอันฟุ้งเฟ้อของเหล่ามหาเศรษฐี และละเลยข้อเท็จจริงไปว่าคนเชื้อสายเอเชียจำนวนมากยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงทางเศรษฐกิจ จนมีนักเขียนและนักกิจกรรมเชื้อสายเอเชียหลายคนยังออกมาวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเป็นการวาดภาพสังคมเอเชียตามอุดมคติความสำเร็จแบบอเมริกัน และยังเป็นเรื่องราวอัน ‘ตื้นเขิน’ ที่ไม่ได้นำเสนอแง่มุมในสังคมเอเชียอย่างถ่องแท้

ปัญหา ‘รวยกระจุกจนกระจาย’ ก็เป็นอีกปัญหาใหญ่ซึ่งมักถูกมองข้ามไป ผลสำรวจข้อมูลประชากรเกี่ยวกับชาวเอเชียอเมริกันและชาวหมู่เกาะแปซิฟิก ปี 2010-2013 พบว่าสังคมเอเชียอเมริกันเป็นกลุ่มชนที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา และช่องว่างทางรายได้ระหว่างชาวเอเชียที่ยากจนกับคนที่ร่ำรวยจะยิ่งทิ้งห่างขึ้นไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์อีก ในขณะที่ชาวเอเชียตะวันออกมีรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่าชนกลุ่มอื่น ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และชาวหมู่เกาะแปซิฟิกกลับมีรายได้ที่ต่ำมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง แถมยังได้รับการศึกษาน้อยกว่าด้วย แต่เรื่องเหล่านี้ถูกกลบไปด้วยภาพลักษณ์ของชาวเอเชียตะวันออก

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุชาวเอเชียจำนวนมากกลับอยู่ในสภาวะน่าวิตก คนชราชาวเอเชียยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ พวกเขากำลังประสบภาวะเกษียณอายุในสภาพการเงินที่ไม่คล่องตัว ยังต้องพึ่งพาเงินที่เก็บมาตลอดชีวิตหรือไม่ก็แรงสนับสนุนจากลูกหลาน และไม่อาจรับมือกับเหตุร้ายฉุกเฉินที่เกิดขึ้นได้ เพราะค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกาขึ้นชื่อว่าแพงที่สุดในโลก แม้จะมีประกันสุขภาพแล้วก็ตาม

สิ่งที่ทำให้ปัญหานี้ยิ่งแย่กว่าเดิมคือการที่ชุมชนเอเชียจำนวนมากกลับสมาทานกับแนวคิด Model Minority โดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นชาวเอเชียอเมริกันหรือคนเอเชียที่ยังไม่มีโอกาสได้ไปอยู่ในสหรัฐฯ และมองว่าแนวคิดนี้เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของชาวเอเชียเอง

ปัญหาที่ชาวเอเชียอเมริกันจำนวนมากต้องเผชิญจากมายาคตินี้คือ หากคุณไม่เข้า ‘กรอบ’ ของชาวเอเชียที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเรียนเก่ง เล่นดนตรีเป็น ทำงานสาย STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) หรือทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ หากไม่อยู่ในกรอบคุณก็จะถูกมองว่าไม่เอาไหนหรือไม่พยายามเหมือนเด็กเอเชียคนอื่น ไม่ว่าจะจากคนรอบตัวหรือคนในครอบครัวเอง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ศิลปินเชื้อสายเอเชียจำนวนมากถูกคาดคั้นจากคนใกล้ชิดให้เลิกทำให้สิ่งที่ตนเองรัก เพื่อจะได้ไปตอบสนองความต้องการ ‘ภาพลักษณ์’ ของคนในบ้านแทน

พ่อแม่เอเชียต้องอยู่ในสังคมที่คาดหวังไว้ว่าชาวเอเชียจะต้องทำตัวตามกรอบที่วาดไว้ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงจับลูกไปเรียนดนตรี ให้เรียนพิเศษซ้ำซ้อน และเคี่ยวเข็ญเป็นพิเศษให้ลูกหลานได้คะแนนดีๆ จนเกิดเป็นมีมล้อเลียน ‘ความเขี้ยว’ ของพ่อแม่ชาวเอเชียอยู่หลายครั้งบนโลกอินเทอร์เน็ต

วัฒนธรรมเอเชียยังถูกมองแบบผิวเผินว่าเกี่ยวเน้นความสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ทำให้ชาวเอเชียเป็นคนที่เหนียมอาย ไม่ต่อปากต่อคำ ภาพลักษณ์แบบนี้ยังทำให้ชาวเอเชียถูกมองเป็นคนไม่กล้าตอบโต้ จึงตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2019 กระแสความเกลียดชังคนเอเชียถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยมากขึ้นด้วยข้ออ้างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโรคระบาด นักการเมืองและสื่อที่ไม่ระมัดระวังคำพูดก็มีส่วนในการโหมกระพืออคติต่อคนเอเชียขึ้นไปอีก

แม้จะมีความเคลื่อนไหวแต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจ เพราะสังคมมักมองว่าชาวเอเชียมีอภิสิทธิ์กว่าชนกลุ่มอื่น ไม่น่าจะเผชิญปัญหาเหมือนคนผิวสีกลุ่มอื่นๆ กว่าเสียงเรียกร้องของชาวเอเชียจะดังขึ้น ก็เกิดเหตุทำร้ายและสังหารชาวเอเชียที่ผ่านมาหลายเดือนจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายรายทั่วประเทศ

ปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้เมื่อเรารู้จักความเคารพในวัฒนธรรม ความแตกต่าง และเลิกยึดติดกับภาพเหมารวม สังคมเอเชียไม่เคยเป็นผ้าผืนเดียว คนเอเชียทุกคนเป็นปัจเจกที่มีความคิดความฝันต่างกันออกไปเช่นเดียวกับคนทุกกลุ่มบนโลก และไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใดก็ควรคำนึงถึงวัฒนธรรมอื่นๆ รอบตัวเสมอ

 

อ้างอิง

https://www.pewresearch.org/social-trends/2018/07/12/income-inequality-in-the-u-s-is-rising-most-rapidly-among-asians/

https://pacificasiamuseum.usc.edu/exhibitions/online-exhibitions/debunking-the-model-minority-myth/

https://www.americanprogress.org/issues/race/reports/2016/12/20/295359/wealth-inequality-among-asian-americans-greater-than-among-whites/

https://ncrc.org/racial-wealth-snapshot-asian-americans-and-the-racial-wealth-divide/

https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2018/08/asian-americas-great-gatsby-moment/568213/

Tags: , , , , ,