การตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง (Female Genital Mutilation: FGM) กลับมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจในโลกออนไลน์อีกครั้ง หลังเมื่อวานนี้ (20 พฤษภาคม 2025) ไซนับ จามา (Zainab Jama) ผู้เข้าประกวด Miss World ครั้งที่ 72 จากประเทศโซมาเลียวัย 23 ปี ต้องขึ้นนำเสนอโครงการช่วยเหลือสังคมในรอบการแข่งขัน Head-to-Head Challenge ที่ผู้เข้าประกวดมักหยิบยกประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการเมืองขึ้นมาอภิปรายอย่างเปิดเผย และต่อยอดให้ความช่วยเหลือในโครงการที่นำเสนอ สอดคล้องกับสโลแกนของการประกวดอย่าง Beauty With a Purpose (งามอย่างมีคุณค่า)
ไซนับเริ่มต้นเล่าว่า เธอเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Female Initiative Foundation หรือโครงการต่อต้านการตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง ซึ่งมีที่มาจากประสบการณ์อันขมขื่นในวัยเด็กของตัวเอง โดยวันนี้เธอยืนอยู่บนเวทีแห่งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนเปราะบาง แต่เป็นตัวแทนของเหยื่อจากการตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง
เหตุการณ์เลวร้ายข้างต้นเกิดขึ้นในวัย 7 ปีของไซนับ ตอนนั้นเธอกำลังเล่นกับเพื่อนๆ อย่างสนุกสนาน แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น จู่ๆ เธอถูกผู้ใหญ่ลากตัวเข้าไปในห้องหนึ่งที่มีผู้หญิง 3 คนกำลังนั่งรออยู่ ในนั้นมีอุปกรณ์อย่างใบมีด กรรไกร และของมีคมเก่าๆ เธอโดยพวกเขาถอดเสื้อผ้าและลงมือตัดอวัยวะเพศของเธอ ได้แก่ ส่วนคริสตอริส (Clitoris) แคมเล็ก และแคมใหญ่ โดยที่คนที่ทำการผ่าตัดไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างถูกต้อง แต่ลงมือทำตามความเชื่อเท่านั้น
“ฉันจำได้ว่า ฉันกรีดร้องด้วยความเจ็บปวด เพราะตลอดกระบวนการผ่าตัด ไม่มีการฉีด ‘ยาชา’ ไม่มีแม้แต่คำปลอบโยน มีแค่เลือดและความเงียบที่ดังที่สุด ฉันจำได้ว่า ฉันได้แต่ร้องขอทั้งน้ำตาให้ผู้หญิงเหล่านั้นหยุด แต่พวกเขาบอกให้ฉันเงียบ เข้มแข็ง และภาคภูมิใจ เพราะนี่คือวัฒนธรรมของพวกเรา” Miss World โซมาเลียเล่า ขณะที่วิธีการทำแผลผ่าตัดคือ การเย็บแผลด้วยด้ายบางๆ โดยปล่อยให้มีบาดแผลมีช่องเล็กๆ สำหรับปล่อยให้เลือดไหลและปัสสาวะ
หลังจากการผ่าตัดเสร็จสิ้น ไซนับถูกขังให้อยู่ในห้องมืดเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม โดยที่ขาของเธอถูกมัดไว้ เธอจำได้ว่า บาดแผลมีเลือดออกเป็นเวลาหลายวัน ไม่มีของเล่นหรืออะไรปลอบใจทั้งสิ้น ทำได้เพียงหยิบถ่านมาวาดรูปความฝันของเธอบนฝาผนังเพื่อระบายเจ็บปวด
“เหตุการณ์นั้นเปลี่ยนชีวิตของฉันตลอดไป วัยเยาว์ของฉันได้สิ้นสุด ถึงฉันจะมีชีวิตรอด แต่เด็กผู้หญิงหลายคนไม่” ไซนับเสริมว่า เด็กผู้หญิงในประเทศโซมาเลีย 98% ต้องผ่านการตัดอวัยวะเพศหญิง ส่วนอีก 2% เป็นเด็กแบเบาะที่ยังอายุไม่ถึงเกณฑ์ โดยย้ำว่า เธอจะต่อสู้เพื่อเด็กๆ ในประเทศของเธอ รวมถึงทั้งภูมิภาค หลังได้รับข้อความจากเด็กผู้หญิงหลายคนว่า พวกเธอจะต้องพิธีกรรมดังกล่าวเช่นเดียวกัน ขณะที่ จูเลีย มอร์ลีย์ (Julia Morey) เจ้าของการประกวด Miss World คนปัจจุบัน เดินขึ้นมาให้กำลังใจ จับมือและกอด หลังไซนับเริ่มร้องไห้ระหว่างการเล่า
ทั้งนี้การแข่งขัน Miss World ครั้งที่ 72 จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2025 ณ เมืองไฮเดอราบัด รัฐเตลังคานา ประเทศอินเดีย โดยมีตัวแทนไทยเข้าร่วมคือ โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี Miss World Thailand 2025 และ Miss Universe Thailand 2024 ซึ่งวันนี้เธอจะได้ขึ้นเวทีนำเสนอโครงการ Opal For HER ที่เน้นย้ำการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม ในการแข่งขัน Head-to-Head Challenge รอบภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย
FGM หรือการตัดอวัยวะเพศหญิงคืออะไร
สำหรับการทำ FGM องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ให้นิยามไว้ว่า เป็นขั้นตอนการกำจัดอวัยวะเพศหญิงบางส่วนหรือทั้งหมด โดยปราศจากเหตุผลเพื่อการแพทย์ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของผู้หญิงและเด็กสาว เช่น การมีเลือดออกจำนวนมาก ภาวะปัสสาวะขัด การติดเชื้อ การเป็นซีสต์ ภาวะมีบุตรยากและแท้ง หรือบางครั้งอาจทำให้ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดถึงแก่ความตาย
ปัจจุบันการตัดอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงในทางการแพทย์ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับแต่อย่างใด และยังถือว่าเป็นการละเมิดจรรยาบรรณแพทย์ เพราะไม่ได้ช่วยรักษาอาการใดๆ หรือส่งผลดีต่อผู้เข้ารับการผ่าตัด จึงถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติทางเพศในด้านความมั่นคงทางสุขภาพ การเจริญพันธุ์ และสิทธิการมีชีวิต
ที่มาและความเชื่อ: ทำไมต้องตัดอวัยวะสืบพันธุ์
1. ความเชื่อดั้งเดิม-บางพื้นที่เชื่อว่า การตัดอวัยวะเพศหญิงเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแต่งงานและการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะว่าด้วยความสามารถในการควบคุม ‘ความต้องการทางเพศ’ เพื่อรักษาพรหมจรรย์และความบริสุทธิ์
2. ความเชื่อทางศาสนา เช่น กรณีของบูร์กินาฟาโซ การตัดอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนเป็นความเชื่อตามศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิม หรือการเข้า ‘พิธีขลิบ’ เชื่อว่า จะทำให้อวัยวะเพศสะอาดมากขึ้น และเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
3. แรงกดดันในท้องถิ่น ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนผสมทั้งความเชื่อทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม แม้ในบางครอบครัวไม่ได้ยึดถือความเชื่อดังกล่าว แต่วิถีประชาบังคับให้ปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้คนมีความกลัวที่ว่า ตนเองจะถูกเลือกปฏิบัติและกีดกันออกจากสังคมหรือชุมชน
ปัจจุบันกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) เผยรายงานประจำปี 2024 ว่า จำนวนของเด็กสาวและผู้หญิงที่ต้องถูกตัดอวัยวะสืบพันธุ์ พุ่งสูงถึง 230 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านคนจากปี 2016 หรือภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ทศวรรษ
อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=fKUZZcmln3o&ab_channel=PureVibes
https://www.missworld.com/news/head-to-head-challenge-meet-the-5-winners
Tags: โซมาเลีย, FGM, Miss World, Female Genital Mutilation