วันนี้ (31 สิงหาคม 2566) ที่รัฐสภา ภคมน หนุนอนันต์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการดำเนินงานด้านงบประมาณที่ไม่โปร่งใสของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าเป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณสูงไม่คุ้มค่าต่อภาษีประชาชน และมีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลเดิม
ภคมนเริ่มอภิปรายว่า จากปี 2565 กสทช.ตั้งงบประมาณไว้ที่ 6,765 ล้านบาท และในปี 2566 อยู่ที่ 6,271 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากกว่าหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และถือว่ามีงบประมาณเทียบเท่ากับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีการพิจารณางบประมาณโดยองค์กรที่มาจากประชาชนเลยสักครั้ง ทั้งที่แหล่งรายได้หลักของ กสทช.มาจากการเก็บสัมปทานประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะที่มีประชาชนทั้งประเทศเป็นเจ้าของ
ตามพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) มาตรา 65 เปิดช่องให้ กสทช.นำรายได้ที่จัดเก็บแต่ละปีหักค่าใช้จ่ายก่อนนำส่งเป็นเงินแผ่นดิน ส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกจัดสรรเป็นเงินเดือนของ กสทช.ทั้งหมด 7 คน โดยใช้งบไปถึง 28.6 ล้านบาท
“การบริหารงานของ กสทช.ทำให้ดิฉันคิดว่า นี่คือระบบเจ้าภาษีในอากรที่ถูกยกเลิกไปตั้งแต่สมัย ร.5 ที่มีกลุ่มบุคคลที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย เข้าไปเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากอะไรสักอย่างหนึ่ง หลังจากหักเปอร์เซ็นไว้กับตัว แล้วค่อยส่งต่อให้กับรัฐบาล อำนาจที่เบ็ดเสร็จนำมาซึ่งความฉ้อฉลที่เบ็ดเสร็จ” ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าว
ภคมนอธิบายต่อว่า กรณีที่ประชาชนตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสมากที่สุด คือการไปต่างประเทศของประธาน กสทช.ที่มีข่าวเผยแพร่ว่า ภายใน 1 ปี 3 เดือน มีการเดินทางไปต่างประเทศมากถึง 15 ครั้ง โดยใช้งบประมาณสูงถึง 45.8 ล้านบาท แม้ว่าประธาน กสทช.จะเคยให้เลขาธิการออกมาชี้แจงว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไม่ได้ใช้งบประมาณ 45.8 ล้านบาท ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ แต่เป็น 7.5 ล้านบาทต่างหาก ซึ่งเป็นงบประมาณในส่วนของประธาน ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายของผู้ติดตาม
อีกหนึ่งโครงการที่น่าตั้งคำถาม คือการอนุมัติโครงการพัฒนาทักษะสร้างความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล 5 ภูมิภาค หรือ ‘โครงการจ้างอบรมไอทีคนชายขอบ’ ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 1,796.42 ล้านบาท โครงการนี้จ่ายเงินจ้างบริษัทเอกชนในแต่ละภูมิภาคให้ไปอบรมประชาชนชายขอบ โดยใช้เทคโนโลยีประมูลขายงานตามภูมิภาคต่างๆ สิ่งที่น่าสงสัยคืองบประมาณดังกล่าวถูกใช้ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 5 แสนคน ไม่ได้รับการติดตามผลหลังการอบรม เช่น สามารถใช้เทคโนโลยีเก่งขึ้นหรือหรือเปล่า และกลุ่มคนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนหลังการอบรม นอกจากนี้ ยังมีข้อกล่าวหาจากสื่อมวลชนว่า บริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลโครงการ ล้วนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลเดิมทั้งสิ้น โดยแต่ละรายที่ชนะการประมูลโครงการ ต้องเจียดงบสนับสนุนพิเศษให้กับพรรคการเมืองเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านบาท ผ่านกระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ที่มีผู้บริหารระดับสูงของ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการ
ภคมนกล่าวต่อว่า ส่วนตัวเคยทำงานเป็นสื่อมวลชนมาก่อน จึงมีแหล่งข่าวให้ข้อมูลมาว่า บริษัท ทาลอนเน็ต จำกัด มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับคณะกรรมการบริหารของ กสทช. และรับทำโครงการต่างๆ จาก กสทช. เมื่อสืบค้นข้อมูลพบว่า บริษัทมีตัวตนและมีการประมูลงานจาก กสทช.จริง โดยบริษัทประกอบกิจการซื้อขาย ติดตั้ง บริการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ บริการออกแบบและพัฒนาอีคอมเมิร์ซโซลูชั่น และบริการให้คำปรึกษา มีทุนจดทะเบียนจำนวน 5 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่า บริษัททาลอนเน็ตรับงานจากภาครัฐในปี 2560-2566 ไปกว่า 35 โครงการ มีวงเงินสูงถึง 141 ล้านบาท ซึ่ง 21 จาก 35 โครงการ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างด้วย ‘วิธีเฉพาะเจาะจง’ และรับงานจาก กสทช.ที่เดียว จึงอยากให้มีการชี้แจงว่า กสทช.ใช้งบประมาณของรัฐประมาณปีละ 30-40 ล้านบาท จัดซื้อจัดจ้างในโครงการแบบนี้ได้อย่างไร
ภคมนอภิปรายต่อว่า ข้อมูลความไม่โปร่งใสทั้งหมดที่อภิปรายนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานะองค์กรแบบพิเศษที่นำมาซึ่งอำนาจพิเศษ เพราะ กสทช.ถูกแต่งตั้งโดยสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า งบประมาณการบริหารงานของ กสทช.ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และต้นตอของปัญหานี้ล้วนเกิดจากโครงสร้างอำนาจตามกฎหมาย ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่รัฐราชการที่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษโดยไร้การตรวจสอบ พร้อมเสนอทิ้งท้ายว่า ควร ‘ปฏิรูป กสทช.’ ก่อนการ ‘ปฏิรูปสื่อ’ รวมถึง กสทช.ควรมีกฎหมายใหม่ที่ไม่ให้อำนาจ กสทช.เป็นหน่วยงานที่ลอยเหนือการตรวจสอบ และควรเป็นองค์กรที่มาจากประชาชน
Tags: กสทช., ก้าวไกล