วันนี้ (9 มิถุนายน 2567) ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง และเข้าข่ายลักษณะการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 12 มิถุนายน 2567

พิธากล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในคดียุบพรรคว่า มีทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้

ประเด็นส่วนที่ 1 ว่าด้วย ‘ขอบเขตอำนาจและกระบวนการ’ โดยพรรคก้าวไกลยืนยันการต่อสู้ในเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ไม่มีการระบุถึงอำนาจในการยุบพรรคการเมือง

อีกทั้งยังมองว่า กระบวนการยื่นยุบพรรคของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยพิธาแสดงเอกสารที่ กกต.ใช้อบรมพรรคการเมือง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าด้วยเรื่อง ‘การสิ้นสุดของพรรคการเมือง และการเปรียบเทียบปรับ’ ที่ระบุถึงขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไว้ชัดเจน ว่า ต้องให้ผู้ถูกร้องหรือพรรคการเมืองมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง และแสดงหลักฐาน ก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณาที่ทาง กกต.ตั้งขึ้น

“กระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่เคยมีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงหรือมีโอกาสได้โต้แย้งและนำพยานหลักฐานของพรรคก้าวไกลไปยัง กกต. เพราะฉะนั้นการยื่นคำร้องกรณีนี้ขัดต่อระเบียบวิธีของ กกต.ที่ตราขึ้นเอง และการยื่นคำร้องในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฯ ระบุ

ประเด็นส่วนที่ 2 ว่าด้วย ‘ข้อเท็จจริง’ ที่เกิดขึ้นว่า กกต.ใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ระบุว่า พรรคก้าวไกลใช้สิทธิหรือเสรีภาพเข้าข่ายการกระทำล้มล้างการปกครองจากกรณีการหาเสียงด้วยนโยบายการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีคำสั่งให้ยุติการกระทำทั้งหมด พิธาเห็นว่า คดีทั้งสองนั้น ‘ไม่มี’ ความผูกพันกัน เพราะตามหลักการแล้วคดีจะผูกพันกันได้ก็ต่อเมื่อ

หนึ่ง เป็นข้อหาเดียวกัน (Claim Preclusion) แต่คดีที่เกิดขึ้นนั้นต่างกันที่วัตถุประสงค์ของกฎหมาย โดยคดีวันที่ 31 มกราคม 2567 เป็นคดีภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 แต่คดียุบพรรคอยู่ภายใต้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 ดังนั้น คดีทั้งสองจะไม่สามารถผูกพันกันได้

หรือสอง ระดับโทษต้องใกล้เคียงกัน (Issue Preclusion) จึงจะสามารถเทียบฎีกาได้ แต่คดีวันที่ 31 มกราคม 2567 กับคดียุบพรรค โทษต่างกันอย่างชัดเจน คือคดีก่อนมีโทษคือให้ยุติการกระทำทั้งหมด แต่คดีนี้หวังโทษยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหาร ซึ่งสัดส่วนโทษมีความแตกต่างเป็นอย่างมาก

“เราจึงคิดว่าสองคดีนี้ไม่มีความผูกพันกัน และในคดีล่าสุดจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีใหม่ทั้งหมด ด้วยมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อนเมื่อไม่มีความผูกพันกันและ กกต.ใช้คำพิพากษาคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมกราเป็นหลักฐานเดียวในการยื่นคดีดังกล่าว เพราะฉะนั้นเพื่อความเป็นธรรม เพื่อความเป็นนิติรัฐนิติธรรม และความถูกต้องในการพิจารณาคดีต้องพิจารณาคดีใหม่ทั้งหมดด้วยมาตรฐานการการพิจารณาที่เข้มข้นกว่าครั้งที่ผ่านมา” พิธากล่าว

ประเด็นส่วนที่ 3 ‘ว่าด้วยโทษยุบพรรคการเมือง’ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฯ กล่าวก่อนเริ่มประเด็นนี้ว่า โทษยุบพรรคการเมืองต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่นในการปกป้องประชาธิปไตย ดังนั้นการยุบพรรคต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วยความอดทนอดกลั้น ได้สัดส่วน และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น

แต่ในคดีที่ถูกร้องนั้นพิธาเห็นว่า การยับยั้งการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังมีกระบวนการต่างๆ ที่สามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็น กกต.หรือฝ่ายนิติบัญญัติ

“หนึ่ง สำหรับข้อหาที่เราโดนไม่ว่าจะเป็นเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงที่เราบรรจุในการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นในเรื่องสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการประกันไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรณรงค์กฎหมาย กกต. ยกคำร้องการยุบพรรคของก้าวไกลมาโดยตลอด

“สอง สิ่งที่เป็นข้อกล่าวหานั้น สภาฯ สามารถยับยั้งแก้ไขได้ คือร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ยังไม่ได้รับการบรรจุในสภาฯ หรือหากเข้ากระบวนการพิจารณาแล้ว ก็ต้องผ่านวาระที่หนึ่ง วาระที่สอง และวาระที่สาม รวมไปถึงผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา และศาลรัฐธรรมนูญก็มีสิทธิที่จะวีโต้กฎหมายนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ระบบนิติบัญญัติสามารถระงับได้ด้วยตัวเอง”

พิธายังระบุเพิ่มเติมอีกว่า นับตั้งแต่ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลยุติการกระทำทั้งหมด และนำเอา ‘นโยบายแก้ไข ม.112’ ออกจากเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว

สุดท้ายพิธายกกรณีศึกษาของศาลรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นต้นแบบของประเทศไทยว่า ในปี 2017 พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน (National Democratic Party of Germany: NPD) แสดงออกถึงอุดมการณ์นาซี สร้างความกระอักระอ่วนใจให้กับคนเยอรมันเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงมีคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคดังกล่าว โดยศาลฯ วินิจฉัยว่า การนำสิ่งที่เป็นเรื่องกระทบจิตใจคนในชาติถือเป็นการล้มล้างเสรีภาพประชาธิปไตย แต่โทษนั้นไม่มีการยุบพรรคแต่อย่างใด เพราะไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า แนวคิดของพรรคนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ โดยไม่มีผลถึงขนาดจำเป็นต้องยุบพรรค

“เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการสุดท้ายในการปกป้องประชาธิปไตย เพราะถ้าเกิดใช้แบบนี้คือจะเป็นการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

“ทั้งนี้ การแสดงออกด้วยเจตนาในวันนี้เพื่อต้องการที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการอธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลกำลังจะเผชิญอยู่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะชี้นำสังคมหรือกดดันศาลแต่อย่างใด” พิธากล่าวทิ้งท้าย

Tags: , , , , ,