เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แด่ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย นายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุผ่านข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพระราชทานต่อการปฏิบัติ ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ด้วยสํานึกในพระอัจฉริยภาพดังกล่าวข้างต้น สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในคราวประชุมครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Doctor of Phylosophy (Knowledge of the Land for Sustainable Development) แด่ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (Mohammed bin Salman Al Saud) ทั้งนี้ มี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญา และมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าร่วม อาทิ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกศตรศาสตร์
สำหรับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน หรือที่สื่อตะวันตกเรียกชื่อย่อว่า MBS ปัจจุบันมีพระชนมายุ 37 ปี ทรงเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่อายุน้อยที่สุดในโลก ทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด ผู้ครอบครอง ‘เพชรซาอุฯ’ ที่เกรียงไกร เตชะโม่ง ขโมยจากพระราชวังเมื่อปี 2532 จนกระทบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุฯ ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ โดยทรงได้รับการแต่งตั้งจากพระบิดาให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียคนใหม่ หลังมีการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหม่ตามพระราชกระแสรับสั่งจากสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด พระมหากษัตริย์ซาอุดีอาระเบียองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นพระราชบิดาของพระองค์ และว่ากันว่าทรงมีบทบาทเป็นอย่างมากในพระราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา เจ้าชาย บิน ซัลมาน ได้ทรงประกาศวิสัยทัศน์ Saudi Vision 2030 ในการพัฒนาซาอุดีอาระเบียในทุกมิติให้เป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิม และลดการพึ่งพา ‘น้ำมัน’ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มีข่าวที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับพระองค์ว่าอาจเกี่ยวพันกับการสังหาร จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) นักข่าวซาอุฯ ในสถานทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำตุรกี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่งยื่นต่อศาลแขวงสหรัฐประจำกรุงวอชิงตันว่าเจ้าชาย บิน ซัลมาน ได้รับความคุ้มครองและสิทธิคุ้มกันในคดีนี้ เนื่องจากทรงได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนกันยายน และทรงปฏิเสธการมีส่วนในการสังหารคาช็อกกี ซึ่งสื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าเป็นความพยายามในการเข้าหาซาอุดีอาระเบียมากขึ้นของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยเพิ่งได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มขั้นในยุคพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการเดินทางเยือนช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา และล่าสุด เจ้าชาย บิน ซัลมาน ได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษของรัฐบาลไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมเอเปค 2022 โดยมีรายงานว่ารัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้นำคณะเข้ามาในประเทศไทยหลายร้อยคน